xs
xsm
sm
md
lg

12 ปีรวมตัวเลขความเสียหายที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 2 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์

ประเทศไทยเข้าโครงการไอเอ็มเอฟมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในช่วงปี 2524, 2525 และ 2528 กู้เงินไอเอ็มเอฟมาเป็นทุนสำรอง 982 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้คืนหมดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533

ทางการได้ตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในปี 2528 มีเจตนารมณ์เพื่อดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือในทางการเงิน เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤตการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงิน ภายใต้กรอบนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาล รวมถึงการให้ประกันความเสียหาย และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามสมควรแก่กรณีสำหรับผู้ฝากเงินของสถาบันการเงิน”

ประเทศไทยได้นำระบบ Maintenance margin & Force sell มาใช้ในเดือนตุลาคม 2536 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย (1) มีการส่งเสริมให้นักลงทุนเปิดบัญชีการซื้อขายหุ้นด้วยวิธีการกู้เงินมาซื้อขายหุ้นและให้มีการบังคับขายหุ้นได้เพิ่ม ทำให้ SET ขึ้นไปที่ 1,750 จุด จากนั้นตลาดหุ้นก็พังทลายลงรุนแรง มีการบังคับขายหุ้นนักลงทุนท้องถิ่นอย่างทารุณ ทำให้สภาพคล่องของระบบเสียหายรุนแรง ต้องลอยค่าเงินบาท เงินเฟ้อสูง ภาคการเงินและภาคการผลิตจริงได้ล้มมากเป็นประวัติการณ์ คนตกงานมาก หนี้เสียท่วมประเทศ

ผล ประเทศไทยต้องเข้าโครงการไอเอ็มเอฟครั้งที่ 2 ในเดือนกรกฎาคม 2540 กู้เงินไอเอ็มเอฟมาเป็นทุนสำรอง 12,269 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้หนี้งวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2546

ปลายปี 2540 บริษัทเงินทุนและเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกปิดกิจการทั้งสิ้น 56 บริษัท กองทุนฟื้นฟูฯ ได้อัดฉีดเงินช่วยเหลือไปกว่า 700,000 ล้านบาท” ฯลฯ ความเสียหายยังคงเกิดขึ้นกับระบบมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มไฟแนนซ์เท่านั้นที่เกิดความเสียหาย แต่ความเสียหายลามมาถึงธนาคารทั้งระบบ หนี้สินที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปแก้ไขปัญหาทางการเงินสรุปไว้ที่ปี 2541 เท่ากับ 1.4 ล้านล้านบาท

มีข้อตกลงระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับกระทรวงการคลัง ที่เกี่ยวข้องกับหนี้ก้อนนี้ คือ ธปท.จะเป็นฝ่ายชำระเงินต้น กระทรวงการคลังจะเป็นฝ่ายชำระดอกเบี้ย

ผ่านมา 12 ปี จากปี 2541 ถึงปี 2553 หนี้เงินต้นลดลง 249,898 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้จัดสรรงบประมาณ ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนเพื่อการชำระดอกเบี้ยไปแล้ว 604,473 ล้านบาท จึงยังมีหนี้เหลืออยู่ 1.14 ล้านล้านบาท กองทุนเพื่อการฟื้นฟูมีสินทรัพย์เหลืออยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท สมมติว่า มีการใช้สินทรัพย์ทั้งหมดชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู กองทุนเพื่อการฟื้นฟูก็จะมีหนี้คงเหลืออยู่ 9.4 แสนล้านบาท หากดูจากลักษณะการชำระหนี้ที่ผ่านมา ชำระหนี้เงินต้นเฉลี่ยปีละ 20,825 ล้านบาท ชำระดอกเบี้ยเฉลี่ยปีละ 50,373 ล้านบาท จะต้องใช้เวลาอีกกว่า 45 ปี จึงจะใช้หนี้นี้ได้หมด

12 ปีที่ผ่านมา รวมหนี้เงินต้นและการชำระดอกเบี้ย เรามีความเสียหายเกี่ยวกับเรื่องนี้ 2 ล้านล้านบาท (ไม่รวมความเสียหายจากภาคการผลิตจริง) เรายังคงต้องชำระดอกเบี้ยหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูต่อไปอีก 45 ปี

ผู้เกี่ยวข้องระบุว่า ต้นเหตุความเสียหาย มาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ธปท.นำ 90 เปอร์เซ็นต์ ทุนสำรองเข้าปกป้องค่าเงินบาท เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เงินอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูเข้าให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาความไม่มั่นคง 1.4 ล้านล้านบาท แต่ทางการไม่ได้ทราบหรือไม่ได้บอกว่าต้นเหตุวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เกิดจากอะไร แบบไหน อย่างไร และเมื่อใด ผู้สนใจหาอ่านรายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่http://bit.ly/izpcpc

ความเสียหายของประเทศมาจากวิกฤตเศรษฐกิจมหภาค ในการเลือกตั้งผู้แทนมาบริหารประเทศรอบนี้ ไม่มีพรรคใดกล่าวถึงว่าจะแก้ปัญหาความเสียหายจากวิกฤตเศรษฐกิจมหภาคอย่างไร ยังคงเน้นถลุงงบประมาณกับโครงการมหภาคต่างๆ อย่างฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ และแจกแหลกประชานิยม

ดูการเลือกตั้ง ไม่ต่างไปจากกบเลือกนาย กบเลือกนายได้ “กระสา” คนไทยเลือกนายได้ “กระสือ”

              indexthai@yahoo.com
              http://twitter.com/indexthai
กำลังโหลดความคิดเห็น