ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การที่ “นายจตุพร พรหมพันธุ์” ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 8 ของพรรคเพื่อไทยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลอาญาเพื่อออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 3 ก.ค.นั้น ถือเป็นสัญญาณที่อันตรายยิ่งต่อตัวนายจตุพร
เนื่องจากการได้รับสิทธิออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีส่วนสำคัญต่อชะตาชีวิตในอนาคตของ “เดอะคางคก” เป็นอย่างมาก เพราะเมื่อไม่ได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนในวันที่ 3 ก.ค.ก็ต้องถือว่า ขาดคุณสมบัติในการเป็น ส.ส.ทันที ซึ่งนั่นหมายความว่า การที่ นช.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยอุตส่าห์ส่งเขาลงสมัครปาร์ตี้ลิสต์ในลำดับที่ 8 มิได้ช่วยนายจตุพรเลยแม้แต่น้อย
ทั้งนี้ การได้เป็นหรือไม่ได้เป็น ส.ส.ของนายจตุพรมีผลโดยตรงประการแรกคือ ช่วยทำให้นายจตุพรได้รับเอกสิทธิคุ้มครองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและได้รับการประกันตัวโดยไม่ต้องกินข้าวแดงและนอนมุ้งสายบัวอยู่ใน “คุก” อีกต่อไป
ขณะเดียวกันการไม่ได้เป็น ส.ส.ก็ย่อมทำให้ “ความฝัน” ของนายจตุพรที่จะก้าวขึ้นไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองพลอยมลายหายวับไปในชั่วข้ามคืนอีกด้วย
ดังเช่นที่ “นางสดศรี สัตยธรรม” กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวเอาไว้ว่า “หากนายจตุพร พรมพันธุ์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.นี้ นายจตุพรมีปัญหาแน่นอน เพราะถือว่าขัดต่อกฎหมาย ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า กกต.จะต้องพิจารณาไม่ประกาศรับรองให้นายจตุพร เป็น ส.ส. เพราะหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติก็เป็นหน้าที่ของ กกต. การที่นายจตุพรไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็ถือว่าขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ทันทีเช่นกัน”
และแน่นอนว่า ตัวนายจตุพรก็ย่อมรับรู้ถึงผลที่จะตามมาจากการไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นอย่างดี มิฉะนั้นแล้วคงไม่ส่งทนายความไปยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาให้ประกันตัวและขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวหลายครั้งหลายคราด้วยกัน
แถมเมื่อศาลอาญามีคำสั่งไม่ปล่อยตัว นายจตุพรยังให้ทนายทำหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งถึงสาเหตุที่ตนเองไม่สามารถไปใช้สิทธิได้อีกต่างหาก โดยอ้างว่า เพื่อป้องกันการกระทบสิทธิรับสมัคร ส.ส.ในภายหลังของนายจตุพร
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่นายจตุพรต้องยอมรับก็คือ ไม่ว่าจะอ้างอย่างไรนายจตุพรก็ไม่สามารถออกจากเรือนจำมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 100 วรรค 3 ที่ระบุถึงบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งเอาไว้ชัดเจนว่า “ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย”
ตราบใดที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือให้ประกันตัว นายจตุพรก็ไม่สามารถออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้
นอกจากนี้ ในความเป็นจริงแล้ว คำสั่งศาลครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ก็มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า เหตุที่ไม่อนุญาตเป็นเพราะอะไร โดยศาลระบุเอาไว้ว่า “ก่อนหน้านี้ ทั้งศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว และกรณีตามคำร้องก็เป็นเพียงความเห็น จึงยังไม่เป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง”
และเหตุผลในการไม่ให้ประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราว ศาลอุทธรณ์ก็มีคำอธิบายเอาไว้เรียบร้อยแล้วในการยกคำร้องขอประกันตัวที่ทนายของนายจตุพรและนายนิสิต สินธุไพรเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ว่า “ความผิดที่ถูกกล่าวหามีโทษสถานหนัก พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง มีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสอง จำเลยอาจก่อให้เกิดอันตรายกระทบต่อความสงบเรียบร้อย จึงยังไม่มีเหตุสมควรปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง”
ขณะที่มาตรา 26 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง กำหนดว่าผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องเสียสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งทำให้นายจตุพรจำต้องขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครไปโดยปริยายและไม่สามารถเป็น ส.ส.ได้
ดังนั้น ขณะที่เพื่อนแกนนำแดงคนอื่นๆ เสวยสุขได้รับตำแหน่งแห่งที่กันอย่างเอิกเกริกภายหลังการเลือกตั้ง 3 ก.ค. นายจตุพรก็คงต้องนอนและนั่งตบยุงอยู่ในเรือนจำต่อไปอย่างเดียวดาย