xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชะงักออกตั๋วบีอี ห่วงสับสนคุ้มครองเงินฝาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ธปท.เผยเริ่มเห็นสัญญาณการออกตั๋วบีอีของแบงก์ลดลง เหตุเป็นธุรกรรมที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากสถาบันประกันเงินฝาก ยันการห้ามออกเงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝงเป็นแนวทางเดียวกับประเทศอื่นในเอเชีย เหตุเกรงผู้ฝากจะเข้าใจผิดกรณีการคุ้มครองเงินฝาก

นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า เหตุผลสำคัญที่ธปท.ออกประกาศห้ามธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมในรูปเงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝงว่า ธปท.ไม่ต้องการให้ผู้ฝากเงินเกิดความสับสนเรื่องการคุ้มครองเงินฝาก เพราะธุรกรรมนี้ไม่ได้รับการคุ้มครอง อีกทั้งในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ยังไม่ได้ออกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบดังกล่าวมากนัก จึงได้ตัดปัญหาด้วยการออกประกาศดังกล่าว

"ธนาคารพาณิชย์ในระบบส่วนใหญ่มีเงินฝาก 90%ของสินทรัพย์ทั้งหมด และมีสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินฝาก อาทิ ตั๋วแลกเงิน(บี/อี) ไม่ถึง 10% ซึ่งสินทรัพย์ประเภทนี้ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการค้ำประกันเงินฝากและเริ่มเห็นสัญญาณเริ่มลดลง เฉพาะเดือนพ.ค.เท่านั้น เพราะธนาคารส่วนใหญ่ยังไม่ออกเพราะเกรงว่าประชาชนจะตกใจว่าไม่ได้รับการคุ้มครอง แต่ในอนาคตจะลดลงต่อเนื่องหรือไม่ยังตอบไม่ได้ต้องติดตามดูต่อไป"

ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์หันมาระดมทุนด้วยการออกตั๋วแลกเงิน(ตั๋วบี/อี) ค่อนข้างมาก เนื่องจากธนาคารไม่ต้องจ่ายเงินนำส่ง 0.4%ของเงินฝากให้แก่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยเงินนำส่งนี้กลับมาจ่ายผลตอบแทนจูงใจให้ผู้ลงทุนแทน ซึ่งเมื่อเทียบเงินนำส่งกับอัตราดอกเบี้ยประมาณ 2% ส่งผลให้ลูกค้าได้รับผลตอบแทนจากตั๋วบี/อีเพิ่มขึ้นถึง 20%

นอกจากธุรกรรมเงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝงไม่ได้รับการคุ้มครองแล้ว ในส่วนของเงินฝากในรูปเงินตราต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน แต่ธปท.เชื่อว่าธุรกรรมนี้จะไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่เกิดเฉพาะบริษัทที่มีการใช้จ่ายหรือรับเป็นรูปเงินตราต่างประเทศเท่านั้น และการห้ามธนาคารทำธุรกรรมเงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝงต้นแบบมาจากในเอเชีย และไทยมีดำเนินการเรื่องนี้เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อาทิ สิงคโปร์และมาเลเซีย เป็นต้น

"ธปท.มองว่าขณะนี้หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้กำกับดูแลสถาบันการเงินค่อนข้างนิ่งแล้ว ซึ่งธปท.จะพยายามปรับให้เป็นไปตามสถานการณ์ล่วงหน้าแล้ว ฉะนั้นธปท.ไม่ได้ตั้งหลักเกณฑ์ไว้ว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่ แต่จะดูความเหมาะสมไม่ให้อะไรมากเกินไปหรือน้อยไปมากกว่า"

อย่างไรก็ตาม ในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารว่าส่วนไหนได้รับการคุ้มครองหรือไม่ ธปท. กระทรวงการคลัง และสถาบันคุ้มครองเงินฝากต่างมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. ดูแลให้ระบบเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและมีเสถียรภาพ 2.สถาบันการเงินมีเสถียรภาพเช่นกัน และ3.สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน

โดยก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ออกประกาศปรับปรุงขอบเขตการทำธุรกรรมที่มีอนุพันธ์แฝง โดยห้ามไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมในรูปเงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝง เพราะธุรกรรมดังกล่าวและตั๋วแลกเงินทุกประเภทที่ออกโดยสถาบันการเงินจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่ธปท.ยังคงอนุญาตให้ธนาคารทำธุรกรรมในรูปเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงและอนุพันธ์ด้านเงินเฟ้อแฝงได้ พร้อมทั้งเพิ่มตัวดัชนี SET50 เป็นตัวแปรที่ใช้อ้างอิงในธุรกรรมนี้ได้ด้วย

ทั้งนี้ ธุรกรรมเงินกู้ที่มีการชำระคืนเงินต้นหรือจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับอัตราเงินเฟ้อที่มีโครงสร้างธุรกรรมที่ไม่ซับซ้อนหรือพันธบัตรกระทรวงการคลังที่อ้างอิงกับเงินเฟ้อที่คลังกำลังจะออกในเดือนก.ค.นี้ไม่นับรวมกับธุรกรรมเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ด้านอัตราเงินเฟ้อแฝง เนื่องจากพันธบัตรที่อ้างอิงเงินเฟ้อของคลังไม่ได้มีโครงสร้างที่ซับซ้อน ขณะเดียวกันผู้ออกหรือคลังเองก็มีความน่าเชื่อถือ ทำให้มีความเสี่ยงน้อย จึงไม่ได้นับรวมกับธุรกรรมดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น