xs
xsm
sm
md
lg

เหตุตามกฎหมายที่จะทำให้ต้องเลื่อนหรือไม่มีการเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: ประพันธ์ คูณมี

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นการเลือกตั้งโดยทั่วไป ภายหลังจากรัฐบาล โดยนายกรัฐมาตรีได้กราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ทรงมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการทั่วไปครั้งนี้ เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่มีอำนาจหน้าที่จัดให้มีการเลือกตั้ง ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 6 มาตรา 7

การดำเนินการจัดการเลือกตั้ง และการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมือง และนักการเมืองทั้งหลาย กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นมาถึงช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนในนามของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ก็เคลื่อนไหวรณรงค์อย่างหนัก เพื่อเชิญชวนประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ลงคะแนนกาในช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” หรือ “Vote Nน” นั่นเอง

การรณรงค์ดังกล่าวได้ขับเคี่ยว และตีคู่ขนานกันไปอย่างคึกคักเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองและการเลือกตั้งของไทย ที่ประชาชนจำนวนมากส่วนหนึ่ง เห็นว่า ไม่มีพรรคการเมืองที่รัก ไม่มีนักการเมืองที่ชอบ หรือไว้วางใจได้ ประกอบกับความเบื่อหน่ายต่อระบอบการเมืองและนักการเมืองที่เห็นและเป็นอยู่ จึงทำให้เกิดกระแส Vote No เพื่อปฏิเสธระบอบการเมือง และลงโทษนักการเมือง โดยเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ก็จะถึงวันที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้หย่อนบัตรลงคะแนนแล้ว แต่สถานการณ์การเมือง ผู้คนทั้งหลายทั้งในประเทศ และนักวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในต่างประเทศก็ยังวิตกกังวลต่อสถานการณ์การเมืองการเลือกตั้งในประเทศไทย ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือไม่ หรือภายหลังการเลือกตั้ง โฉมหน้าการเมืองของประเทศไทยจะเป็นเช่นไร ความสงบสุข และปัญหาทางการเมืองของประเทศไทยจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น หรือจะนำไปสู่วิกฤตที่หนักหน่วงรุนแรงยิ่งกว่าเดิม

ยิ่งในช่วงเวลานี้ (23 มิ.ย. 54) พรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจทิ้งไพ่ใบสุดท้าย เปิดปราศรัยใหญ่ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ อันเป็นสมรภูมิเลือดในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 อันเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการเมืองที่เผชิญหน้ากันอย่างแตกหัก ส่อแนวโน้มที่อาจจะเกิดเหตุรุนแรงได้ เรียกว่า เป็นการหาเรื่องมากกว่าหาเสียง โดยเฉพาะประเด็นการชุมนุมที่เผาบ้านเผาเมือง และใช้อาวุธร้ายแรง จนนำมาสู่การสลายการชุมนุมด้วยกำลังทหารที่มีผู้บาดเจ็บล้มตายถึง 91 ศพ บาดเจ็บอีกจำนวนมาก เป็นเรื่องที่มีการอภิปรายในสภาฯ และนอกสภาฯ กันมาแล้วหลายครั้งที่ต่างฝ่ายต่างก็โยนความผิดให้แก่กันและกัน ทั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย หาคนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ไม่ได้

แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายก็ยังหยิบยกมาเป็นประเด็นปราศรัยหาเสียง “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น” โดยผู้รับเคราะห์ก็คือประชาชนผู้บริสุทธิ์ และผู้ประกอบการธุรกิจที่ค้าขายโดยสุจริต ต่างได้รับเคราะห์กรรมจากการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบของพวกเขาทั้งสองฝ่าย ขณะเขียนต้นฉบับนี้ ยังไม่ทราบสถานการณ์การปราศรัยหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์จะเกิดเหตุการณ์อย่างไร

การเลือกตั้งจะดำเนินการไปโดยเรียบร้อยหรือไม่ จะมีเหตุตามกฎหมายอย่างไร อันนำไปสู่สาเหตุที่ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนหรือหยุดลง เป็นเหตุปัจจัยที่น่าสนใจ ผู้เขียนจึงอยากจะนำมูลเหตุทางกฎหมายมาให้ผู้อ่านได้พิจารณาและรับทราบว่า หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วใครจะเป็นผู้ต้องรับผิด ซึ่งกรณีที่จะทำให้การเลือกตั้งต้องสะดุดหรือระงับลงตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ 2550 ได้บัญญัติเหตุที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินการไปได้ดังนี้

1. กรณีเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น ที่เกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง ทำให้การลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้ประกาศงดลงคะแนน และกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ (มาตรา 78)

2. กรณีมีเหตุตามมาตรา 78 และมีผลทำให้การนับคะแนนไม่มีความปลอดภัย หรือไม่สามารถนับคะแนนได้เสร็จสิ้น หรือพบว่าบัตรเลือกตั้งชำรุดหรือสูญหาย อาจเป็นเหตุต้องจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ (มาตรา 85)

3. กรณีตามมาตรา 88, 89 คือผู้ชนะเลือกตั้งแบบแบ่งเขตได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือได้คะแนนน้อยกว่าผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน แม้จะได้คะแนนมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ ก็ตาม กรณีดังกล่าว ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้นๆ

4. กรณีที่การเลือกตั้งมีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครนั้นได้ ทั้งขอให้ยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ (มาตรา 103)

5. กรณีที่มีการคัดค้านผลการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง เชื่อโดยผลการสอบสวนว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็มีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นได้ (มาตรา 114, 115, 116)

จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เหตุที่จะทำให้การเลือกตั้งมิอาจดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย หรือต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมายในหลายกรณี นอกจากนี้ ยังมีเหตุที่กฎหมายเลือกตั้งมิได้บัญญัติไว้ แต่เป็นอำนาจที่คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจใช้ดุลพินิจเลื่อน หรืองดการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ เช่น กรณีเกิดสงครามระหว่างประเทศ หรือเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารบุคคลสำคัญ อันนำไปสู่การเลือกตั้งที่นองเลือด จนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยเรียบร้อยได้ สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้แม้จะใกล้ถึงวันลงคะแนนหย่อนบัตรเลือกตั้งก็ตาม แต่เค้าลางของเหตุรุนแรง อันจะทำให้การเลือกตั้งไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ก็ยังดำรงอยู่ตลอดเวลา

คำถามว่า จะมีเลือกตั้งหรือไม่? และเลือกตั้งแล้ว บ้านเมืองจะสงบ วิกฤตคลี่คลายจริงหรือ? จึงดังกระหึ่มพอๆ กับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเป็นไปได้หรือไม่? คำตอบอยู่ที่ฟ้าและดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น