xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ราคาน้ำมัน-โภคภัณฑ์ยังพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)(KBANK) เปิดเผยว่า ในครึ่งปีหลังนี้ ธนาคารอาจจะมีการทบทวนเป้าหมายสินเชื่อรายใหญ่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 4-6% เนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา สินเชื่อรายใหญ่เติบโตได้ดีในทุกกลุ่ม โดยในกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคเติบโต 19% ปิโตรเคมีผลิตภัณฑ์ 18% ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ 5.2% และอุตสาหกรรมอื่นๆ 5.7%
"เชื่อว่าสินเชือรายใหญ่ปีนี้น่าจะโตเกิน 6%จากพอร์ตสินเชื่อโดยรวม 320,000 ล้าน แต่จะทบทวนเป็นเท่าไหร่ หรือไม่ คงต้องดูเศรษฐกิจครึ่งปีอีกครั้งหนึ่ง"
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังดีลซื้อกิจการ ควบรวมกิจการ และออกหุ้นกู้ ยังมีอยู่ต่อเนื่อง โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้กลุ่ม KBANK มีดีลใหญ่เข้ามามาก ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันปิดดีลได้ 33 ดีล มูลค่ารวม 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารเป็นผู้จัดหาแหล่งทุน 7.2 หมื่นล้านบาท และปล่อยสินเชื่อเอง 4.5 หมื่นล้านบาท และในตลาดขณะนี้ยังมีดีลในลักษณะดังกล่าวอีก 31 ดีล มูลค่า 1.9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มี 5 ดีลเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มูลค่ารวม 1.5 แสนล้านบาท ในกลุ่มปิโตรเคมีและสาธารณูปโภค คาดว่าจะรู้ผลปลายไตรมาส 3/54 -ไตรมาส 4/54 ในจำนวนนี้กลุ่ม ธนาคารต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมประมาณ 1 แสนล้านบาท คิดเป็นเงินให้สินเชื่อราว 7 หมื่นล้านบาท
**ชี้ศก.ยังเสี่ยง-น้ำมันพุ่ง**
นายวศินกล่าวอีกว่า ภาวะเศรษฐกิจในช่วงต่อไปนั้น จะยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่โดยเฉพาะในด้านราคาน้ำมัน-พลังงานยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงงาน ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนั้น ทำให้เงินเฟ้อยังอยู่ในขาขึ้น และค่าครองชีพของประชาชน-ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนนี้นโยบายประชานิยมที่แต่พรรคออกมาก็อาจจะช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง แต่นโยบายในลักษณะดังกล่าวก็ทำได้อย่างจำกัด เนื่องจากอาจส่งผลต่อฐานะการคลังและหนี้สาธารณะของรัฐ
"นโยบายประชานิยม ประชาภิวัฒน์ หรืออะไรก็ตามที่เป็นลักษณะเดียวกันนั้น ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ถ้ามีการบริหารจัดการที่ถูกต้อง ใช้อย่างเหมาะสม เพราะจะกระทบถึงฐานะการคลัง และหนี้สาธารณะที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าไม่ควรเกิน 40%กว่าๆของจีดีพี"
นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆออกมาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตของผู้ประกอบการ รวมถึงรองรับปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน-พลังงาน-สินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น แต่โครงการในลักษณะดังกล่าวต้องการวงเงินลงทุนในระดับที่สูง ขณะที่การจัดการด้านงบประมาณของรัฐบาลในช่วงต่อไปอาจจะข้อจำกัด ที่จะต้องเร่งจัดทำงบประมาณสมดุล และการกู้ยืมก็มีข้อจำกัดที่สัดส่วนหนี้สาธารณะที่แตะ 40%ของจีดีพี
**แนะเปิดโอกาสเอกชนลงทุนร่วม
ดังนั้น รัฐบาลจึงควรทำโครงการ Public-Private Partnership (PPP) หรือโครงการร่วมกับเอกชน เพื่อลดภาระด้านงบประมาณหรือหนี้สินภาครัฐ ซึ่งแนวทางก็สามารถดำเนินการได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการให้เอกชนออกแบบ รับเหมา แต่รัฐเป็นผู้จัดหาเงินทุนและบริหารจัดการก็ได้ หรือให้เอกชนเป็นผู้ออกแบบ รับเหมา จัดหาเงินทุน บริหาร และขายผลผลิตให้รัฐ จนครบสัญญาแล้วโอนกิจการเป็นของรัฐ เป็นต้น
"โครงการในรูปแบบเหล่านี้ก็มีอยู่บ้าง แต่ยังค่อนข้างน้อย และนอกจากรัฐจะได้ผ่อนคลายเรื่องเงินลงทุนแล้ว ก็จะได้มีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีในบางจุดที่ภาครัฐไม่มีความเชี่ยวชาญด้วย แต่เอกชนเองก็ต้องมีปรับตัวเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยต้องมีการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน การมองหาตลาดใหม่ และการบริหารต้นทุนที่ดีด้วย"
กำลังโหลดความคิดเห็น