xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯฟุ้งสินเชื่อรายใหญ่ทะลุเป้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ในปี 54 นี้ ธนาคารมั่นใจว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจรายใหญ่(corporate) ได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 6% แม้ว่าในไตรมาสแรกยอดสินเชื่อจะไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากมีบางดีลไม่สามารถจบได้ รวมทั้งการแข่งขันปล่อยสินเชื่อมีความรุนแรง แต่ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีดีลที่อยู่ในกระบวนการ จำนวน 104 ดีล เป็นมูลค่า 484,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในธุรกิจพลังงาน จึงมั่นใจว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ถึง 70% และวางเป้าหมายมีรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยปีนี้ที่ 3,200 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนงานของกลุ่มธนาคารมีดีลควบรวม/ซื้อกิจการ (M&A)อยู่ 10 ดีล เป็นมูลค่าโครงการรวมกว่า 2 แสนล้านบาท โดยดีลใหญ่ที่สุดคือการควบรวมกิจการของ บมจ.ปตท.อโรเมติกส์ (PTTAR) กับ บมจ.ปตท.ปิโตรเคมีคัล (PTTCH) มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ที่จะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีดีลเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก 4-5 โครงการ ซึ่งเป็นทั้งพลังงานลม โซลาร์ รวมถึงดีล M&A ของบริษัทจดทะเบียน 3 ราย
ส่วนความคืบหน้าในการปล่อยสินเชื่อในโครงการไซยะบุรีนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการเซ็นสัญญาปล่อยสินเชื่อในรูปแบบปล่อยกู้ร่วม โดยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาข้อมูลโครงการ ซึ่ง บมจ.ช.การช่าง (CK) ได้พยายามปฎิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งธนาคารอยู่ในขั้นตอนการติดตามว่าบริษัทสามารถปฎิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วนหรือไม่
ด้านนายวรวัจน์ สุวคนธ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ในปี 54 บริษัทตั้งเป้าหมายมีรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจ (IB)ที่ 240 ล้านบาท จากปี 53 ที่มีรายได้ 70 ล้านบาท โดยขณะนี้มีดีล IPO 3 ราย มูลค่าระดมทุน 2,700-3,000 ล้านบาท โดยภายในเดือนนี้มี บมจ.น้ำตาลครบุรี กระจายหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นมูลค่าระดมทุน 1,200-1,500 ล้านบาท โดยสัปดาห์หน้าจะกำหนดราคาขาย IPO
ส่วนในไตรมาส 2 จะนำบริษัทในกลุ่มธุรกิจยานยนต์กระจายหุ้น IPO เข้าจดทะเบียนในตลาด mai เป็นมูลค่า 500-600 ล้านบาท แต่อาจต้องชะลอจากแผนเดิม เนื่องจากญี่ปุ่นประสบปัญหาภัยพิบัติ ส่วนอีกรายเป็นธุรกิจก่อสร้างจะกระจายหุ้น IPO ในปลายปี 54 เป็นมูลค่าระดมทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีงานที่ปรึกษาการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (PO) และ ขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวน 3 ราย และดีล M&A 10 ราย
"ขณะนี้อุตสาหกรรมต่างๆมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะหลังการเกิดเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน (AEC) จึงทำให้ธุรกิจขนาดกลางเริ่มหันมาสำรวจตัวเอง เพราะการแข่งขันไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศแต่ต้องแข่งขันจาก่างประเทศ ทำให้หันมามองการซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการมากขึ้น โดยในปี 53 ที่ผ่านมาพบว่ามีขนาดการควบรวมกิจการ 605,000 ล้านบาท และตั้งแต่ต้นปี 54 ถึงขณะนี้ มีดีลควบรวมกิจการขนาด 940,000 ล้านบาท"
ทั้งนี้ กิจการที่มีแนวโน้มควบรวมกิจการกันมากขึ้น เช่น ธุรกิจประกันภัย หลังจากที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎการสำรองเงินทุนเป็น risk base capital ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันภัยขนาดเล็กที่มีความสามารถการแข่งขันน้อย ต้องเพิ่มทุนและนำไปสู่การควบรวมกิจการ นอกจากนี้ยังมี ธุรกิจโรงพยาบาล เฮลท์แคร์ โรงแรม เกษตร ขนส่ง และพลังงานทางเลือก
กำลังโหลดความคิดเห็น