xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ลุ้นสินเชื่อแบงก์โต10% เศรษฐกิจหนุน-หนี้เน่าทรงตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ธปท.เผยเศรษฐกิจช่วงขาขึ้นดันยอดสินเชื่อแบงก์ครึ่งปีแรกมีโอกาสขยายตัวถึง 10% แต่ยังไม่ฟันธงทั้งปีโตได้ตามที่แบงก์หวังไว้ 8-9%หรือไม่ รอท่าทีปัจจัยการเมือง ขณะที่เอ็นพีแอลมีแนวโน้มทรงตัว-ลดลงจากปัจจุบันที่ 3.2%

นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยธปท.คาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อัตราการขยายตัวสินเชื่อโดยรวมน่าจะถึง 10% ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ทยอยลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้นมีผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆมีรายได้กลับมามากขึ้น

"ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าตลอดทั้งปีนี้สินเชื่อจะขยายตัวได้ 8-9% ตามเป้าหมายที่นายแบงก์ประเมินไว้หรือไม่ เพราะยังมีหลายปัจจัยที่อาจมีผลต่อการขยายตัวสินเชื่อ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยทางด้านการเมืองที่ต้องคอยติดตามดูต่อไป"รองผู้ว่าการธปท.กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมาล่าสุดสินเชื่อขยายตัวได้ดี โดยไตรมาสแรกก็ขยายตัวถึง 13-14% และไตรมาส 4 ของปี 53 ก็ขยายตัว 13% โดยคาดว่าในระยะต่อไปสินเชื่อจะขยายตัวได้ดีในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ รวมถึงธุรกิจบัตรเครดิต ขณะที่สินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)รวมไปถึงสินเชื่อให้แก่บริษัทขนาดใหญ่ก็เริ่มขยายตัวดีขึ้น จากเดิมที่ไม่ค่อยขยายตัวมากนัก

รองผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า สถานการณ์เอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ในอนาคตเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก แต่มองว่าหนี้เอ็นพีแอลเหมือนกับเนื้องอกที่ไม่ค่อยเติบโตแล้ว จึงอาจจะเริ่มฝ่อด้วยตัวมันเองจนมีขนาดเล็กหรือไม่ก็ทรงๆ ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดไตรมาสแรกเอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.2% และมีสัดส่วนเอ็นพีแอลสุทธิประมาณ 2% อีกทั้งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ในระบบมีการกันสำรองค่อนข้างสูงถึง 90%ของยอดสินเชื่อที่ปล่อยไป จากในอดีตมีสัดส่วนกันสำรองประมาณ 40%

ส่วนประเด็นโครงการบ้านหลังแรกของธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ซึ่งหลายฝ่ายมีความเป็นห่วงว่าจะมีอาจก่อปัญหาภาระหนี้ในอนาคตได้นั้น นายเกริก กล่าวว่า ธปท.ไม่ได้ห่วงเรื่องนี้ เพราะส่วนใหญ่ประชาชนที่ขอกู้สินเชื่อ เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเป็นบ้านหลังแรกจะไม่ค่อยทิ้งกัน จึงมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาหนี้เสียในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น