ASTVผู้จัดการรายวัน - ธอส.ฟุ้ง "บ้านหลังแรก"วิ่งฉิวยอดยื่นกู้เต็ม 25,000 ล้านบาท คาดยอดผู้กู้ไม่ผ่านกว่า5,000ล้านบาท เตรียมเปิดรับผู้ยื่นกู้อีกรอบ "ศูนย์ข้อมูลฯ" ชี้ลุ้นผลเลือกตั้งทำอสังหาฯชะลอตัว 20% ผู้บริโภครอแคมเปญจากรัฐบาลใหม่หวังซื้อบ้านราคาถูก ดอกเบี้ยต่ำ ด้าน 3 สมาคมแนะรัฐบาลใหม่สานต่อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดภาษีซ้ำซ้อนหนุนตลาดบ้านมือสอง
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงกระแสตอบรับโครงการบ้านหลังแรกอัตราดอกเบี้ย 0% 2 ปี เป็นไปตามคาด ขณะนี้วงเงิน 25,000 ล้านบาท หมดภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน ซึ่งจากการพิจารณาเบื้องต้นของลูกค้าที่ยื่นขอสินเชื่อในโครงการดังกล่าวฯ คาดว่าอาจจะไม่ผ่านเกณฑ์ความสามารถที่ธนาคารกำหนดประมาณ 10 - 20% ซึ่งจะทำให้มีวงเงินเหลือจากวงเงินที่ยื่นกู้มา3,000 - 5,000 ล้านบาท ซึ่งประชาชนยังสามารถยื่นขอสินเชื่อ จาก ธอส.ได้อีกจนกว่าวงเงินอนุมัติและทำนิติกรรมครบ 25,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากการพิจารณาข้อมูลการยื่นกู้ของลูกค้าโครงการบ้านหลังแรกทั่วประเทศ พบว่าภายใต้กรอบวงเงิน 25,000 ล้านบาท มีลูกค้ายื่นกู้ทั้งสิ้น 18,583 ราย วงเงินเฉลี่ยรายละ 1.35 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสัดส่วนลูกค้า เขตกรุงเทพและปริมณฑล 45% ที่เหลือเป็นลูกค้าในส่วนภูมิภาค อีก 55% ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่ต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนี้ยังสามารถกระจายเม็ดเงินสินเชื่อบ้านสู่ลูกค้ารายย่อยในภูมิภาคได้เช่นกัน สำหรับยอดอนุมัติสินเชื่อบ้านหลังแรก ณ วันที่ 14 มิ.ย.54 อนุมัติแล้ววงเงิน 6,000 ล้านบาท ในส่วนที่เหลือธนาคารจะเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
ด้านนายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ส่งผลให้ประชาชนชะลอการซื้อบ้าน โดยพบว่า 5 เดือนแรกตลาดชะลอตัวลง 20% เนื่องจากประชาชนต้องการรอดูว่าพรรคการเมืองจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคการเมืองหลายพรรคเสนอมาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ คงที่ระยะยาว, มาตรการลดภาษี และการลดภาระค่าใช้จ่ายต่าง โดยเฉพาะภาษีที่จะเอื้อให้ประชาชนซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น และราคาถูกขึ้น ประกอบกับช่วงปีก่อนที่มีมาตรการทางภาษีทำให้ยอดขายและยอดจดทะเบียนสูง
“หากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศยังจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย แต่ควรจะเน้นเป็นกลุ่มที่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มบ้านหลังแรกไม่ควรออกมาตรการแบบหว่านแหไปถึงกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มเก็งกำไร เพราะจะทำให้การเติบโตอสังหาริมทรัพย์ไม่เป็นตามกลไกตลาด ส่วนมาตรการที่ช่วยเหลือควรจะเป็นมาตรการเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำหรือมาตรการภาษี และจะต้องจำกัดกลุ่มให้ชัดเจน”
หลังเลือกตั้ง "สถานการณ์ดีขึ้น 50%"
ทั้งนี้ จากการผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่เข้าชมเวปต์ไซน์ของศูนย์ข้อมูลฯ ภายใต้หัวข้อ "สถานการณ์หลังเลือกตั้ง" พบว่า ปรับตัวดีขึ้น 50% , ไม่เปลี่ยนแปลง 40% และ แย่ลง 10 % โดยยังมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอยู่
ด้านนายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่ห่วงว่าพรรคการเมืองใดจะขึ้นมาบริหารประเทศ แต่อยากให้มีมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ชัดเจน โดยเฉพาะมาตรการให้ประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านเข้าถึงแหล่งสินเชื่อง่ายขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพราะมองว่าแนวโน้มความต้องการบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ในครึ่งปีหลังยังมีอยู่ ขณะที่ราคาบ้านคงไม่ได้ปรับสูงมากนัก แม้ว่าราคาวัสดุก่อสร้างจะปรับสูงขึ้น 5-10% เพราะการแข่งขันในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีหลังยังมีสูงมาก ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับไปถึงระดับ 3.75 % แต่ยังมองว่าเป็นระดับที่เหมาะสมอยู่ในการควบคุมเงินเฟ้อ และเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์คงไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงมากนักจึงไม่น่าจะเพิ่มภาระแก่ผู้ซื้อบ้าน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการซื้อบ้านในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะชะลอจากปีก่อนที่มียอดโอนสูงที่สุดในรอบ 14 ปี แต่ยังถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2552 ถึงเดือนมิถุนายน 2553 รัฐบาลออกมาตรการภาษีทำให้ยอดโอนบ้านปีที่แล้วสูงถึง 170,000 หน่วย และมองว่าปีนี้จะมียอดโอนบ้านประมาณ 140,000 หน่วย
คลอดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซะที!
ด้านนายกิตติพล ปราโมทย์ ณ อยุธยา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลใหม่ช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด คือ การสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อพัฒนาตนเองให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีในปี 2558 นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถซื้อบ้านเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น สานต่อการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่ดีมาก และที่สำคัญรัฐบาลควรพิจารณายกเลิกภาษีที่มีการจัดเก็บซ้ำซ้อน ลดการจัดเก็บภาษีซื้อ-ขายเปลี่ยนมือ เพราะปัจจุบันประชาชนที่ซื้อ-ขายบ้านมือสองต้องจ่ายภาษีสูงถึง 5-6% หากลดการจัดเก็บภาษีดังกล่าวลง ด้วยการเก็บภาษีตามรายการ แทนการจัดเก็บตามมูลค่า ก็จะช่วยให้ตลาดบ้านมือสองเติบโตขึ้น ซึ่งจะเป็นหัวจักรขับเคลื่อนให้เกิดการซื้อ-ขายบ้านมือ 1 และขับเคลื่อนธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัยอีกจำนวนมาก
ครึ่งหลังทาวน์เฮาส์-บ้านเดี่ยวแพงขึ้น
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ฯ ได้ยังสำรวจราคาบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑลในครึ่งหลังของปี 54 พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นแต่ยังไม่สูงเท่ากับราคาคอนโดมิเนียมที่สูงขึ้นถึง 7 % โดยราคาบ้านเดี่ยวจะสูงขึ้นเฉลี่ย 1.8 % และราคาทาวน์เฮาส์เฉลี่ยจะสูงขึ้น 3.55-3.6 % เนื่องจากราคาวัสดุก่อสร้างและราคาน้ำมันสูงขึ้น ส่วนในครึ่งปีแรกราคาบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์มีค่าดัชนีเท่ากับ 103.82 ปรับสูงขึ้น 1.03 % และในช่วงปีหลังของปีนี้ราคาบ้านเดี่ยวจะสูงเฉลี่ยขึ้นอีก 1.8% ส่วนราคาทาวน์เฮาส์ในช่วงครึ่งปีแรก มีค่าดัชนีเท่ากับ 106.90 ปรับเพิ่มขึ้น 0.98 %
ด้านนายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ดัชนีราคาห้องชุดปรับขึ้นสูงสุดนับจากครึ่งปีหลัง 2552 จนถึงปัจจุบันห้องชุดทุกระดับราคาปรับขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7% โดยห้องชุดราคาต่ำกว่า 50,000 บาท/ตร.ม.ปรับขึ้นสูงสุดถึง11.5% โดยสาเหตุหลักมาจากค่าแรงเพราะมีการก่อสร้างทั้งกลางวันและกลางคืนผู้ประกอบการต้องจ่ายสูงกว่าปกติถึงสองเท่า เช่น การก่อสร้างทั่วไปจ่ายวันละ 300 บาท หากมาก่อสร้างคอนโดฯจ่ายวันละ 600 บาท นอกจากนี้ยังมีต้นทุนที่ดินที่ปรับขึ้นไปสูงมาก และหายากทำให้ต้องไปซื้อตึกแถวมาทุบทิ้งและก่อสร้างคอนโดฯแทน อย่างไรก็ตามดัชนีราคาบ้านทุกประเภทที่ปรับขึ้นยังถือว่าปรับขึ้นไม่เท่ากับดัชนีต้นทุนค่าก่อสร้าง เนื่องจากการแข่งขันที่เกิดขึ้นในตลาด ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้มากนัก.
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงกระแสตอบรับโครงการบ้านหลังแรกอัตราดอกเบี้ย 0% 2 ปี เป็นไปตามคาด ขณะนี้วงเงิน 25,000 ล้านบาท หมดภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน ซึ่งจากการพิจารณาเบื้องต้นของลูกค้าที่ยื่นขอสินเชื่อในโครงการดังกล่าวฯ คาดว่าอาจจะไม่ผ่านเกณฑ์ความสามารถที่ธนาคารกำหนดประมาณ 10 - 20% ซึ่งจะทำให้มีวงเงินเหลือจากวงเงินที่ยื่นกู้มา3,000 - 5,000 ล้านบาท ซึ่งประชาชนยังสามารถยื่นขอสินเชื่อ จาก ธอส.ได้อีกจนกว่าวงเงินอนุมัติและทำนิติกรรมครบ 25,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากการพิจารณาข้อมูลการยื่นกู้ของลูกค้าโครงการบ้านหลังแรกทั่วประเทศ พบว่าภายใต้กรอบวงเงิน 25,000 ล้านบาท มีลูกค้ายื่นกู้ทั้งสิ้น 18,583 ราย วงเงินเฉลี่ยรายละ 1.35 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสัดส่วนลูกค้า เขตกรุงเทพและปริมณฑล 45% ที่เหลือเป็นลูกค้าในส่วนภูมิภาค อีก 55% ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่ต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนี้ยังสามารถกระจายเม็ดเงินสินเชื่อบ้านสู่ลูกค้ารายย่อยในภูมิภาคได้เช่นกัน สำหรับยอดอนุมัติสินเชื่อบ้านหลังแรก ณ วันที่ 14 มิ.ย.54 อนุมัติแล้ววงเงิน 6,000 ล้านบาท ในส่วนที่เหลือธนาคารจะเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
ด้านนายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ส่งผลให้ประชาชนชะลอการซื้อบ้าน โดยพบว่า 5 เดือนแรกตลาดชะลอตัวลง 20% เนื่องจากประชาชนต้องการรอดูว่าพรรคการเมืองจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคการเมืองหลายพรรคเสนอมาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ คงที่ระยะยาว, มาตรการลดภาษี และการลดภาระค่าใช้จ่ายต่าง โดยเฉพาะภาษีที่จะเอื้อให้ประชาชนซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น และราคาถูกขึ้น ประกอบกับช่วงปีก่อนที่มีมาตรการทางภาษีทำให้ยอดขายและยอดจดทะเบียนสูง
“หากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศยังจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย แต่ควรจะเน้นเป็นกลุ่มที่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มบ้านหลังแรกไม่ควรออกมาตรการแบบหว่านแหไปถึงกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มเก็งกำไร เพราะจะทำให้การเติบโตอสังหาริมทรัพย์ไม่เป็นตามกลไกตลาด ส่วนมาตรการที่ช่วยเหลือควรจะเป็นมาตรการเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำหรือมาตรการภาษี และจะต้องจำกัดกลุ่มให้ชัดเจน”
หลังเลือกตั้ง "สถานการณ์ดีขึ้น 50%"
ทั้งนี้ จากการผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่เข้าชมเวปต์ไซน์ของศูนย์ข้อมูลฯ ภายใต้หัวข้อ "สถานการณ์หลังเลือกตั้ง" พบว่า ปรับตัวดีขึ้น 50% , ไม่เปลี่ยนแปลง 40% และ แย่ลง 10 % โดยยังมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอยู่
ด้านนายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่ห่วงว่าพรรคการเมืองใดจะขึ้นมาบริหารประเทศ แต่อยากให้มีมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ชัดเจน โดยเฉพาะมาตรการให้ประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านเข้าถึงแหล่งสินเชื่อง่ายขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพราะมองว่าแนวโน้มความต้องการบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ในครึ่งปีหลังยังมีอยู่ ขณะที่ราคาบ้านคงไม่ได้ปรับสูงมากนัก แม้ว่าราคาวัสดุก่อสร้างจะปรับสูงขึ้น 5-10% เพราะการแข่งขันในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีหลังยังมีสูงมาก ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับไปถึงระดับ 3.75 % แต่ยังมองว่าเป็นระดับที่เหมาะสมอยู่ในการควบคุมเงินเฟ้อ และเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์คงไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงมากนักจึงไม่น่าจะเพิ่มภาระแก่ผู้ซื้อบ้าน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการซื้อบ้านในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะชะลอจากปีก่อนที่มียอดโอนสูงที่สุดในรอบ 14 ปี แต่ยังถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2552 ถึงเดือนมิถุนายน 2553 รัฐบาลออกมาตรการภาษีทำให้ยอดโอนบ้านปีที่แล้วสูงถึง 170,000 หน่วย และมองว่าปีนี้จะมียอดโอนบ้านประมาณ 140,000 หน่วย
คลอดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซะที!
ด้านนายกิตติพล ปราโมทย์ ณ อยุธยา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลใหม่ช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด คือ การสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อพัฒนาตนเองให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีในปี 2558 นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถซื้อบ้านเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น สานต่อการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่ดีมาก และที่สำคัญรัฐบาลควรพิจารณายกเลิกภาษีที่มีการจัดเก็บซ้ำซ้อน ลดการจัดเก็บภาษีซื้อ-ขายเปลี่ยนมือ เพราะปัจจุบันประชาชนที่ซื้อ-ขายบ้านมือสองต้องจ่ายภาษีสูงถึง 5-6% หากลดการจัดเก็บภาษีดังกล่าวลง ด้วยการเก็บภาษีตามรายการ แทนการจัดเก็บตามมูลค่า ก็จะช่วยให้ตลาดบ้านมือสองเติบโตขึ้น ซึ่งจะเป็นหัวจักรขับเคลื่อนให้เกิดการซื้อ-ขายบ้านมือ 1 และขับเคลื่อนธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัยอีกจำนวนมาก
ครึ่งหลังทาวน์เฮาส์-บ้านเดี่ยวแพงขึ้น
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ฯ ได้ยังสำรวจราคาบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑลในครึ่งหลังของปี 54 พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นแต่ยังไม่สูงเท่ากับราคาคอนโดมิเนียมที่สูงขึ้นถึง 7 % โดยราคาบ้านเดี่ยวจะสูงขึ้นเฉลี่ย 1.8 % และราคาทาวน์เฮาส์เฉลี่ยจะสูงขึ้น 3.55-3.6 % เนื่องจากราคาวัสดุก่อสร้างและราคาน้ำมันสูงขึ้น ส่วนในครึ่งปีแรกราคาบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์มีค่าดัชนีเท่ากับ 103.82 ปรับสูงขึ้น 1.03 % และในช่วงปีหลังของปีนี้ราคาบ้านเดี่ยวจะสูงเฉลี่ยขึ้นอีก 1.8% ส่วนราคาทาวน์เฮาส์ในช่วงครึ่งปีแรก มีค่าดัชนีเท่ากับ 106.90 ปรับเพิ่มขึ้น 0.98 %
ด้านนายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ดัชนีราคาห้องชุดปรับขึ้นสูงสุดนับจากครึ่งปีหลัง 2552 จนถึงปัจจุบันห้องชุดทุกระดับราคาปรับขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7% โดยห้องชุดราคาต่ำกว่า 50,000 บาท/ตร.ม.ปรับขึ้นสูงสุดถึง11.5% โดยสาเหตุหลักมาจากค่าแรงเพราะมีการก่อสร้างทั้งกลางวันและกลางคืนผู้ประกอบการต้องจ่ายสูงกว่าปกติถึงสองเท่า เช่น การก่อสร้างทั่วไปจ่ายวันละ 300 บาท หากมาก่อสร้างคอนโดฯจ่ายวันละ 600 บาท นอกจากนี้ยังมีต้นทุนที่ดินที่ปรับขึ้นไปสูงมาก และหายากทำให้ต้องไปซื้อตึกแถวมาทุบทิ้งและก่อสร้างคอนโดฯแทน อย่างไรก็ตามดัชนีราคาบ้านทุกประเภทที่ปรับขึ้นยังถือว่าปรับขึ้นไม่เท่ากับดัชนีต้นทุนค่าก่อสร้าง เนื่องจากการแข่งขันที่เกิดขึ้นในตลาด ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้มากนัก.