xs
xsm
sm
md
lg

ละครมหาดไทย : สิ่งที่วงศ์ศักดิ์ควรทำเพื่อสั่งลามหาดไทย

เผยแพร่:   โดย: รมย์ ธรรมวัฒนารมณ์

อธิบดีกรมการปกครองเป็นตำแหน่งสำคัญยิ่งในบรรดาอธิบดีกรมต่างๆ ของมหาดไทย เพราะเป็นผู้มีอำนาจปกครองบังคับบัญชา แต่งตั้งโยกย้ายปลัดจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอทั่วประเทศรวมถึงการกำกับดูแลกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ดูแลทุกข์สุขของตำบล หมู่บ้านใน 77 จังหวัด

โดยธรรมเนียมการปกครองที่ผ่านมา จะตั้งอธิบดีและรองอธิบดีกรมการปกครองจากผู้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมาก่อน นอกจากจะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถแล้ว ยังต้องเป็นผู้อาวุโสเป็นที่ยอมรับจากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดซึ่งมีตำแหน่งระดับ 10 เท่าเทียมกันอีกด้วย เพราะเส้นทางอธิบดีกรมการปกครองต่อไปคือการก้าวไปสู่ตำแหน่งสูงสุดคือปลัดกระทรวงมหาดไทย

อธิบดีกรมการปกครองจึงมีอำนาจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ผบ.ทบ.

เพราะความสง่างาม การขึ้นสู่ตำแหน่งและการวางตัวของอธิบดีกรมการปกครองที่ผ่านมาในอดีตเป็นที่ยอมรับของสังคมและแวดวงมหาดไทย รัฐบาลในสมัยก่อนๆ จึงไม่มีปัญหาและไม่เข้าไปก้าวก่ายการบริหารงานของอธิบดีกรมการปกครองแต่อย่างใด

หลังการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ยุคการเมืองเรืองอำนาจ คือ อำนาจทางการเมืองสำคัญกว่าระบบคุณธรรม จึงมองข้ามความเป็นตัวตนของอธิบดีกรมการปกครอง เมื่อได้เป็นรัฐบาลจึงมักใช้อำนาจโยกย้ายแต่งตั้ง สับเปลี่ยนอธิบดีกรมการปกครองใหม่ เพื่อเอาคนของตนมาดำรงตำแหน่งแทน

อธิบดีฯ วงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ คือตัวอย่างเรื่องนี้

ครั้งหนึ่ง เมื่อ 9 ต.ค. 2551 ครม.มีมติแต่งตั้งย้ายนายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ผู้ว่าฯราชบุรีเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง แทนนายวิชัย ศรีขวัญ ที่ถูกดันขึ้นหิ้งรองปลัดกระทรวงฯ

ครั้งนั้นวิพากษ์การย้ายว่า นายวงศ์ศักดิ์ ผู้ไม่เคยเป็นนายอำเภอ ปลัดจังหวัดมาก่อน แต่ได้รับการผลักดันจากนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นการจัดทัพของพรรคพลังประชาชนเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส.

เมื่อรัฐบาลมีการเปลี่ยนขั้วจากพลังประชาชน เป็นประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ปลายปี 2551

อีกครั้งหนึ่ง เมื่อ 27 เม.ย. 2553 ครม.มีมติแต่งตั้งย้ายนายมงคล สุระสัจจะ จากกรมการพัฒนาชุมชนเป็นอธิบดีกรมการปกครองแทน แล้วโยกนายวงศ์ศักดิ์ไปเป็นผู้ตรวจกระทรวงฯ แทน

ครั้งนั้นวิพากษ์การย้ายว่า นายมงคลเป็นคนสนิทตระกูลชิดชอบ ส่วนนายวงศ์ศักดิ์ไม่สนองตอบนักการเมืองผู้มีอำนาจในกระทรวง มีการร้องเรียน ก.พ.ค.ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกการเมืองกลั่นแกล้ง

เมื่อ ก.พ.ค.วินิจฉัยคำร้องเรียนโดยให้นายวงศ์ศักดิ์กลับมานั่งเก้าอี้เดิม และ ครม.มีมติเมื่อ 14 มิ.ย. 54 คืนตำแหน่งนายวงศ์ศักดิ์ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง

ความจริงวันนี้คือ นายวงศ์ศักดิ์จะต้องเกษียณอายุใน 30 กันยายน 2554 แม้จะมีข่าวความพยายามจะโยกนายวงศ์ศักดิ์ให้พ้นจากตำแหน่งอธิบดีฯ ไปเป็นผู้ว่าฯ ต่อไปอีกก็ตาม

จึงเป็น 3 เดือนที่มีค่ายิ่งของอธิบดีวงศ์ศักดิ์ หากตั้งใจกอบกู้ศักดิ์ศรีคนมหาดไทย ล้างความเป็นทาสนักการเมือง ควรมองแนวทางในเรื่องที่สามารถแก้ไขระยะสั้นๆ ดังนี้ คือ

เรื่องที่หนึ่งคือ การวางหลักการบริหารบุคคลของกรมการปกครองให้เป็นกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ปัญหาปัจจุบันคือ การแต่งตั้งข้ามหัวผู้อาวุโส ระบบการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม การสอบคัดเลือกนายอำเภอที่มีช่องให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซง ฯลฯ อันเป็นจุดอ่อนของระบบราชการที่อยู่ใต้อิทธิพลทางการเมือง

ในเมื่อกรมการปกครองมีหลักสูตรอบรมต่างๆ ให้แก่ข้าราชการของกรมฯ ไม่ว่าจะเป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอ นักปกครองระดับสูง ฯลฯ ใครจบก่อน จบหลัง ต้องนำมาพิจารณาควบคู่กับระยะเวลารับราชการ การครองตำแหน่งต่างๆ ผลการปฏิบัติงานที่ได้รับรางวัลต่างๆ เป็นต้น จะทำให้สามารถจัดเรียงลำดับความอาวุโสและความสามารถของข้าราชการได้ แล้วประกาศให้ทราบโดยทั่วกันเป็นประจำทุกปี เมื่อมีการเลื่อนหรือแต่งตั้งเมื่อใดสามารถนำบัญชีนี้มาใช้ได้เลย ระบบราชการก็จะเกิดคุณธรรมสร้างขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการ ที่สำคัญคือนักการเมือง หรือตัวข้าราชการเองย่อมรู้สถานะตน ไม่จำเป็นหรือไม่ต้องไปแสวงหาอำนาจอิทธิพลอื่นเข้ามาแทรกแซง

รีบไปศึกษาระบบการการบริหารบุคคลของศาล หรืออัยการดูมาปรับใช้ได้

เรื่องที่สอง คือ การเรียกวิญญาณนายอำเภอกลับคืนร่าง ปัญหาปัจจุบันคือนายอำเภอขาดความรู้ความเข้าใจงานในหน้าที่ ขาดจิตวิญญาณความเป็นนักปกครอง วิ่งหานักการเมืองเพื่อให้อยู่ที่ดีๆ ทำอย่างไรจะก้าวหน้าเร็ว ถึงขั้นซื้อตำแหน่ง ที่เลวร้ายคือทอดทิ้งประชาชน วันหยุดไม่อยู่ในพื้นที่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งประชาชนได้

จะทำอย่างไรให้นายอำเภอกลับมาเป็นนายอำเภอของประชาชนทุกจังหวัด ทุกอำเภอให้ได้

สิ่งแรกคือ นโยบายต้องให้นายอำเภอใกล้ชิดประชาชนอย่างแท้จริง ต้องสั่งการให้นายอำเภอหมั่นประชุมเยี่ยมเยียนราษฎร เพื่อรับทราบปัญหาและเข้าแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยตนเองทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลอย่างสม่ำเสมอ เมื่อนายอำเภอพบปะราษฎรได้ทั่วถึงมากเท่าใด ความศรัทธาเชื่อมั่นในนายอำเภอจะกลับมา และความห่างเหินกับราษฎรจะลดลง

สิ่งที่สอง คือนโยบายให้นายอำเภอเป็นที่พึ่งของประชาชน ถึงเวลาที่นายอำเภอต้องกลับมาเป็นความหวังของประชาชนเหมือนในอดีต "แหล่งน้ำต้องพัฒนา ป่าต้องมีไม้ ไร่ต้องมีพืชผล ผู้คนต้องขยัน” คือ 4 ปัญหาสำคัญของทุกหมู่บ้านในขณะนี้ เป็นการบ้านที่ต้องสั่งการให้นายอำเภอทุกคน ใช้ความรู้ความสามารถว่าจะทำอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร จะวางแผนการพัฒนาอย่างไร จะร่วมมือกับราษฎรหน่วยงานต่างๆ อย่างไร ให้พื้นที่ทุกหมู่บ้านได้มีแหล่งน้ำที่ดี มีป่าไม้ที่สมบูรณ์ มีเกษตรกรรมยั่งยืน และมีราษฎรที่ขยันขันแข็งปราศจากอบายมุข แล้วนายอำเภอจะกลับมาเป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้อีกครั้งหนึ่งแน่นอน

เพียง 2 เรื่อง 2 แนวทาง ถ้าตั้งใจจริง 3 เดือนของท่านอธิบดีวงศ์ศักดิ์ ยังไม่ช้าเกินไป

หากแต่เป็นคุณประโยชน์ที่ผู้คนรุ่นหลังๆ จะไม่ลืมท่าน
กำลังโหลดความคิดเห็น