xs
xsm
sm
md
lg

“นโยบายพลังงาน” กับ “ดอกส้มสีทอง” ในกระแส “Vote No”

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

หลังจากเขียน “โลกที่ซับซ้อน” มาได้ 20 กว่าชิ้น ผมเริ่มกังวลกับยอดจำนวนคนอ่าน พบว่าในสัปดาห์แรกคนอ่านในผู้จัดการออนไลน์ประมาณหนึ่งพันคนเท่านั้นเอง แล้วค่อยๆ มีคนเอาไปลิงก์เพื่อขยายต่อในเว็บอื่นๆ ในเวลาต่อมา แต่รวมแล้วก็ต้องถือว่ายังน้อยมาก

แม้ผมจะเชื่อและยึดมั่นมาตลอดว่า "การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ของโลก ล้วนเกิดมาจากคนหยิบมือเดียวเท่านั้น” ก็ตาม แต่ผมก็ยังหวั่นไหวและต้องพยายามอย่างเต็มที่

เรื่องที่ผมเขียนยังคงเน้นหนักไปที่ “นโยบายพลังงาน” และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลกและระดับประเทศ นอกจากนี้ผมยังให้ความสนใจกับ “การแพร่ของข้อมูลข่าวสาร” เป็นพิเศษ บทความนี้ก็ยังคงอยู่ที่สองเรื่องหลักนี้ครับ

ที่ผมต้องเขียนเรื่องในแนวนี้ก็เพราะ 3 เหตุผลคือ (1) เป็นเรื่องสำคัญระดับความเป็นความตายของประเทศ และ (2) เพราะคนเขียนเรื่องในแนวนี้มีจำนวนน้อยราย (3) ถึงคนอ่านจะน้อยเพียงใดก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญหลัก เพราะเชื่อในกฎของคนหยิบมือเดียว

แต่ด้วยความอยากรู้ว่า “สังคมออนไลน์” เขาสนใจอะไรกันบ้าง ผมจึงใช้ google ภาคภาษาไทยค้นพบว่า คำว่า “ดอกส้มสีทอง” ซึ่งเป็นชื่อละครยอดนิยมที่จบไปแล้วมีอยู่จำนวน 9.9 ล้านรายการ แต่คำว่า “นโยบายพลังงาน” ที่ผมสนใจและเป็นเรื่องสำคัญมากของประเทศมีอยู่เพียง 0.49 ล้านรายการเท่านั้น ไม่ถึง 1 ใน 20 ของละครน้ำเน่า!

เมื่อผมอยากทราบถึงอีกสองคำในกระแสการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของชาติเช่นกัน คือ “Vote No” กับ “โหวตโน” พบว่ามีจำนวนถึง 9.0 และ 1.4 ล้านรายการ ตามลำดับ นั่นคือมีผู้สนใจในระดับสูสีกับกรณีดอกส้มสีทอง มากอยู่นะ!

กลับมาที่นโยบายพลังงานที่ผมได้เรียนว่าเป็นเรื่องความเป็นความตายของประเทศ ทำไมผมจึงกล้ากล่าวเช่นนั้น คำตอบเพราะเราเป็นประเทศที่ใช้พลังงานมาก แต่รายได้น้อย โดยที่แนวโน้มกำลังย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ พรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่ได้สนใจเรื่องนี้ ในขณะที่ภาคประชาชนก็มัวแต่สนใจ “ดอกส้มสีทอง”

ในปี 2539 เราใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่า 11.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) พูดง่ายๆ ก็คือ ทุกๆ หนึ่งร้อยบาทที่เราหาเงินได้ เราใช้ไปกับค่าพลังงานถึง 11.5 บาท แต่หลังจากที่เราเพลิดเพลินกับการพัฒนาประเทศพบว่าอีก 10 กว่าปีต่อมา คือ ปี 2551, 2552 และ 2553 ค่าใช้จ่ายด้านนี้กลับเพิ่มเป็นร้อยละ 18.4, 17.4 และ 17.7 ตามลำดับ หรือคร่าวๆ ว่า 18%

นั่นแปลว่าค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ของเรากลับลดลง แล้วมันจะลดลงไปถึงไหนกันละ? พรรคการเมืองใดถึงเรื่องนี้บ้าง และหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร ประชาชนผู้ต้องไปเลือกตั้งได้รับทราบกันดีมากน้อยแค่ไหน?

จากประสบการณ์ตรงของผม ผู้จบปริญญาตรีเมื่อปี 2516 ถ้ารับราชการจะได้รับเงินเดือน 1,340 บาท เงินจำนวนนี้สามารถซื้อน้ำมันได้ 700 ลิตร หรือซื้อทองคำได้ 3 บาท ปัจจุบันเงินเดือนระดับเดียวกันประมาณ 8 พันบาท แต่สามารถซื้อน้ำมันได้เพียงไม่ถึง 200 ลิตร หรือซื้อทองคำได้ไม่ถึงสองสลึง

เราอาจจะภูมิใจว่าประเทศไทยส่งข้าวออกได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก (อาจจะยางพาราด้วย) แต่ในปี 2553 มูลค่าส่งออกของข้าวและยางพารารวมกันทั้งปี สามารถซื้อพลังงานได้เพียง 85 วันเท่านั้น (ข้าว 8.9 ล้านตัน มูลค่า 168,193 ล้านบาท ยางพารา 2.7 ล้านตัน มูลค่า 249,262 ล้านบาท แต่ใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่าถึง 1.79 ล้านล้านบาท)

นี่โชคดีนะครับ ที่ในช่วงปีกว่าๆ มานี้ราคายางพาราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็นกิโลกรัมละ 90 บาท ถ้าเป็นปี 2551 ขายข้าวและยางพาราสองตัวทั้งปีสามารถซื้อพลังงานได้เพียง 70 วันเท่านั้น

ปัญหาพลังงานที่กล่าวมาแล้ว คือต้นทุนพลังงานเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ โดยมีสาเหตุมาจากสองปัจจัยคือ (1) มาจากการผูกขาดและเก็งกำไรของพ่อค้าพลังงานระดับโลก และ (2) มีการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

วันนี้ขอพูดถึงเฉพาะปัจจัยที่สองซึ่งมีรายละเอียดเยอะทีเดียวครับ

เรื่องต้นทุนในการขนส่ง ในสหรัฐอเมริกามีการสำรวจพบว่า อาหารที่คนอเมริกันบริโภคโดยเฉลี่ยแล้วมีการขนส่งมาไกลถึง 1,500 ไมล์หรือประมาณ 2,300 กิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็นต้นทุนค่าพลังงานเสียเท่าไหร่? คำถามคือ เราสามารถลดระยะทางลงได้ไหม และทำอย่างไร?

ประเทศไทยเราเองก็ใช่ย่อยเสียเมื่อไหร่ ผักที่คนภาคใต้บริโภคส่วนมากมาจากตลาดหัวอิฐ ในเมืองนครศรีธรรมราช แล้วกระจายต่อไปแทบทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่ในเขต 3 จังหวัด และเมื่อสาวลึกลงไป ผักเหล่านั้นก็ไม่ได้ปลูกในแถบนั้น แต่ขนมาจากภาคกลาง

ผมเคยนั่งนับรถขนเศษไม้ยางพาราจากพัทลุงไปขายหาดใหญ่เพื่อเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำ ระยะทาง 90 กิโลเมตร พบว่ามีถึง 17 คันรถพ่วง ทำไมไม่นำมาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตไฟฟ้าในเขตอำเภอนั้นๆ นอกจากไม่ต้องเสียค่าขนส่ง ไม่ทำให้โลกร้อนแล้ว ยังสามารถกระจายรายได้ให้คนท้องถิ่นด้วย

ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยเคมี (ซึ่งเป็นเหตุของปัญหาโลกร้อน) ปีละ 7 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดต้องนำไปรวมศูนย์อยู่ที่โรงงานในภาคกลาง จากนั้นก็กระจายตัวไปทั่วประเทศ ค่าขนส่งเท่าไหร่ เป็นค่าพลังงานทั้งนั้น ที่สำคัญประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำหนักปุ๋ยเคมีคือทรายและดิน นั่นแปลว่า เรากำลังขนทรายและดินที่เป็นตัวยึดปุ๋ยในแถบภาคกลาง ไปทิ้งทั่วประเทศด้วยราคาน้ำมันที่แพงกว่าทรายอย่างลิบลิ่ว

บ้าไหมประเทศไทย!

ปี 2553 คนไทยใช้ไฟฟ้าคิดเป็นเงิน 4.73 แสนล้านบาท ถ้าเรามีเจตจำนงที่จะลดการใช้ไฟฟ้าลงสัก 10% หรือปีละประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ท่านผู้อ่านคิดว่า เราสามารถทำได้ไหม

รัฐแคลิฟอร์เนียที่มีดารา “คนเหล็ก” เป็นผู้ว่าการรัฐทำสำเร็จเรียบร้อยโรงเรียนคนเหล็กมาแล้วครับ ผมจำตัวเลขไม่ชัดเจนนัก แต่จำได้คร่าวๆ ว่า เขาลงทุนจ้างคนด้วยเงินจำนวน 65 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อประหยัดพลังงานได้ 75 ล้านเหรียญ แค่นี้ก็คุ้ม นอกจากจะเป็นการประหยัดพลังงานและลดปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังมีการจ้างงานได้จำนวนมากอีกด้วย

ขณะเขียนบทความนี้ ผมได้นั่งคุยกับนักธุรกิจคนหนึ่งในหาดใหญ่ เขาบอกว่าทุกเรื่องที่ผมยกมาแล้ว มีนักการเมืองได้ประโยชน์ทั้งนั้น โดยเฉพาะเรื่องปุ๋ย เรื่องการไม่ทำรถไฟรางคู่ (เพื่อขายรถยนต์) แต่เขาก็ยังไม่เห็นด้วยกับการโหวตโน

สำหรับผม ขอยืนยันอีกทีครับว่า โหวตโนแน่นอน เพราะยังเชื่อใน “กฎของคนหยิบมือเดียว” อย่างไม่เสื่อมคลาย ผลจากการโหวตโนครั้งนี้คงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดสิ่งใหม่ๆ ซึ่งผมเองก็ได้นั่งคิด นั่งถกเถียงกับเพื่อนๆ ไว้บ้างแล้ว

ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ สิ่งดีๆ ต่างก็เกิดจากคนหยิบมือเดียวทั้งสิ้น ความคิดดีๆ ของโลกมักจะเกิดหลังเที่ยงคืน มีคนบอกผมว่าพระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้หลังเที่ยงคืนครับ สรุป อย่ากลัว อย่าท้อถอยนะครับ แม้จะเป็นคนส่วนน้อยก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น