xs
xsm
sm
md
lg

เรยายังโลดแล่น! 4 หญิงเก่งร่วมส่งท้ายดอกส้มสีทอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By Lady Manager

แม้ ดอกส้มสีทอง อวสานแแล้ว แต่ตัวละครชีวิตจริงดั่ง เรยา ยังคงโลดแล่นอยู่ในสังคมไทยเมียน้อยเมียหลวงต่อ จริงหรือไม่

Rakluke Women ร่วมกับ สถาบันรักลูก จัดเสวนา “ส่งท้ายดอกส้มสีทอง สะท้อนมุมมองผู้หญิงไทย” แลกเปลี่ยนทัศนคติจากมุมมองร่วมสมัยในกิจกรรม Rakluke Women Forum

เรื่องราวน่าสนใจใคร่รู้ขนาดนี้ เราจึงขอเก็บตกงานเสวนาครั้งนี้อย่างจุใจ โดยจะได้พบกับผู้ที่จะมาสะท้อนมุมมองต่อผู้หญิงและสังคมไทยในความคิดของตนเอง เช่น คุณหน่อง-อรุโณชา ภาณุพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบรอดคาซท์ไทย เทเลวิชั่น จำกัด กับมุมมองที่กล้าเลือกบทประพันธ์ชิ้นเยี่ยมมาผลิตเป็นละคร อะไรคือเป้าหมายของการนำเสนอ, คุณโจ-มณฑานี ตันติสุข นักเขียนนักคิดผู้เชี่ยวชาญเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ชายหญิง แจ่มชัดจากประสบการณ์ตรง, พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ในมุมมองของจิตแพทย์ และ ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา

แล้วแต่ละคนจะมีมุมมองต่อตัวละครเรยาอย่างไรกันบ้าง ไปดูกันเลยค้า

ผัวมากเมียไร้สุขดั่งไฟกองใหญ่สุมใจ!

คุณหน่อง ผู้จัดละคร ชี้กุญแจดอกสำคัญของเรื่องคือ การมีเมียเยอะไม่ได้ทำให้ฝ่ายใดสุขได้เลย

“หัวใจแก่นของเรื่องคือ การที่สามีเมียน้อยอยู่ด้วยกันเหมือนดั่งไฟคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งเจ้าสัวเองก็ไม่เคยรู้สึกดีด้วยเลย ผู้หญิงกินน้ำใต้ศอกชีวิตไม่เคยมีความสุข นี่คือคีย์เวิร์ดของละครเรื่องนี้เลย วัยเด็กเขาเป็นอย่างไรโตขึ้นมาจึงเป็นแบบนี้มันมีเหตุผล

สร้างปรากฏการณ์เรยานิวมีเดีย เฟซบุก (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) ทุกประโยคในละครโพสขึ้นกันเบรกต่อเบรกในเฟซบุก-ทวิตเตอร์ เช่น ค้นหาดอกส้มสีทองใน 24 ล้านครั้ง เด่นจันทร์ 12.5 ล้านครั้ง เกิดกระแสฮอตอย่างมาก พอเริ่มฉายกลางเรื่องฟีดแบ็ก (feedback) เริ่มเยอะขึ้น เนื้อหาต่อเรื่องถ้าเราชมฉากใดฉากหนึ่งจะไม่เข้าใจจุดนี้ และจะรู้เลยว่าทำไมเรยาถึงเกลียดแม่ เพราะเป็นแบบนี้ ต้องชมตั้งแต่ต้นเรื่อง

มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาขอบคุณบอกว่า สิ่งที่เรยาทำ ดิฉันทำเกือบหมดแล้ว สังคมไทยมีตัวละครแบบนี้จริงๆ”

ผู้เป็นแม่อย่าปล่อยให้ความรู้สึก “ด้อย” เกาะกินใจลูก จนเกิด “ปม”

ด้านคุณหมอพรรณมิพลกล่าวว่า เหตุที่ละครดังเปรี้ยง เพราะแก่นเรื่องชัด ตีแผ่สภาพสังคมไทยแจ่มชัด

“ตัวละครเรยาใกล้เคียงเรื่องราวในสังคมไทย แก่นเรื่องชัดเจนจริงๆ เป็นการเชื่อมต่อจากมงกุฏดอกส้ม ถามว่าแรงไหม ก็มีความแรงอยู่ในระดับหนึ่งเช่นกัน แต่ตอนที่มงกุฏดอกส้มไม่ถูกพูดถึงมากนัก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า มันเป็นการพูดถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้ว มันมีประเด็นเรื่องนี้อยู่ ครั้งหนึ่งอดีตกาลมันเคยมีปรากฏการณ์แบบนี้ แล้วก็เรื่องบางเรื่องมันถูกก้าวข้าม เช่น การที่มีภรรยาหลายคน จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป

แต่พอมาถึงตัวดอกส้มสีทองมันเป็นรอยเชื่อมที่เชื่อมเข้าสู่ใกล้ความเป็นปัจจุบันของผู้คนมากขึ้น และในบทเรื่องนี้มันมีความน่าสนใจว่า มันเป็นคู่ละครที่อยู่คู่กับสังคมที่มันอยู่คู่กันตลอด คู่แม่ลูก แม่กับลูกสาว ลองสังเกตดู คู่แม่กับลูกสาวเป็นประเด็นน่าสนใจสำหรับแก่นเรื่อง เพราะว่าเปิดฉากมาคู่แม่กับลูกสาวก็เป็นประเด็นทันที

คู่ที่สองคือ คู่แม่สามีกับลูกสะใภ้ อันนี้คือคู่คลาสสิกมากๆ เลย คู่ที่สามก็น่าสนใจอีกคือ คู่เมียหลวง คือ บทประพันธ์เดิมไม่ตั้งใจจะพูดเรื่องนี้มากนัก ตั้งใจจะพูดถึงตัวหลักคือตัวเรยา ชีวิตของผู้หญิงที่เกิดมาคนหนึ่ง ปูมหลัง การเดินทางจนถึงจบ คู่เมียหลวงจะเป็นคู่ที่ท็อปฮิต บทคุณเด่นจันทร์ กับคุณหลี เด่นอย่างน่าสนใจ อย่างบทของเด่นจันทร์ถูกพูดขึ้นเยอะมาก มันจะเป็นค่านิยมที่เราไม่ยอมรับเมียน้อย แต่ปรากฏการณ์ทางสังคมจริงๆ เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงไม่จบ

ส่วนคู่สุดท้าย มีคนพูดถึงน้อยมาก คู่สามีภรรยา คือ คู่คุณใหญ่กับคุณหลี และความเป็นมาของคุณใหญ่ แต่อาจได้รับความสนใจน้อยกว่า 3 คู่แรก มันโดนใจเพราะเข้าไปที่คู่ความสัมพันธ์ที่เป็นคู่ที่อยู่ในสังคมไทย ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย คำพูดบางประเด็นที่ต่างไปจากมุมมองที่เราอยากจะเห็นของแต่ละคู่ จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ถกเถียงกันว่าแต่ละคนเห็นอย่างไร แต่ละคู่ความสัมพันธ์เป็นอย่างไร

เรื่องของแม่ ต้องทุ่มแทเสียสละทำทุกอย่างให้ลูกได้ดี แต่ในเรื่องนี้ความเป็นแม่ของตัวละครเขาจะเห็นว่าทำไมดูแลลูกแบบนั้น เขาสองคนผ่านชีวิตมาใกล้เคียงกัน เพราะต้องการเติมแต่งให้สิ่งที่มากกว่ากับเรยา แต่สิ่งที่ไม่ได้เติมที่อยู่ในจิตใจจริงๆ ความรู้สึกไม่สำเร็จของแม่เรยาทำให้มีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจ พยายามเลี้ยงลูกให้ดีที่สุดเพื่อก้าวข้ามความขาดที่ตัวเองเคยเจอ ชดเชยความขาด ความไม่สมหวังในชีวิต จึงทำให้เลี้ยงลูกแบบตามใจมาก ในเรื่องจะเห็นว่าไม่เคยคุยกัน แม่ต้องสอนให้ลูกรู้ว่าไม่ต้องเจ็บปวด ไม่ต้องอาย ที่เกิดมาในสถานภาพแม่เป็นคนใช้แบบนี้ อย่าปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านี้เกาะกินใจลูก ควรปรับทุกข์ปัญหาพูดคุยกันให้เกิดความเข้าใจจะได้ไม่เป็นปมในชีวิต”

รับผิดชอบลูกเมียแต่เมียน้อยบาน คือ ผัวเพอร์เฟ็กต์!

ด้านคุณโจ ชี้ผู้ชายที่ดี และแมน ต้องปกป้องครอบครัวตนเองสุดชีวิต และควรปลดระวางค่านิยมอันแสนผิด คือ สามีคนไหนรับผิดชอบลูกเมียไม่ขาดตกบกพร่องแต่ทะลึ่งมีเมียน้อย เลิกคิดเสียทีว่าเป็นผู้ชายที่ดี

“โจสงสารผู้หญิงด้วยกัน ทำไมทุกครั้งที่เกิดเรื่องอย่างนี้ฝ่ายผู้หญิงต้องมาเป็นฝ่ายนั่งคร่ำครวญ ทำไมต้องมานั่งปรับทุกข์ และมีอยู่คำหนึ่งในละครมันโดนสุดๆ ว่าทำไมผู้ชายต้องเป็นฝ่ายเสียใจที่มีเมียน้อย โจจะไม่ลงโทษผู้ชาย 100% ว่าผู้ชายเป็นฝ่ายเลว ผิด มนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่มีศักดิ์ศรี มีเกียรติของตนเอง ทุกคนสามารถทำเรื่องผิดพลาดได้

แต่ประโยคผู้ประพันธ์เขียนว่า ทำไมผู้ชายถึงเป็นฝ่ายเสียใจ เสียใจมากๆ เวลาจะมีเมียน้อย ถ้าเราสามารถเปลี่ยนทัศนคติอันนี้ได้ มันจะเปลี่ยนมิติและความเชื่อของผู้ชายโดยสิ้นเชิง ว่าให้นึกถึงเสมอเลย ก่อนที่จะทำอะไร ว่าคนที่เป็นผู้ถูกกระทำเจ็บปวดแค่ไหน

แต่ส่วนใหญ่อันนี้เป็นเรื่องน่าเศร้า เด็กผู้ชายบ้านเราถูกเลี้ยงดูมากับแม่ โจเจอบ่อยมากๆ เลย โจจะรู้สึกแย่ทุกครั้งเลยที่ได้ยินคุณแม่เล่าเรื่องผู้ชายอันแสนหล่อของตัวเอง ว่ามีบรรดาชะนีทั้งหลายจีบลูกชาย คือ น้ำเสียงและสีหน้า เราจะรู้เลยว่าแม่ปลื้ม แต่แม่ลืมไปหรือเปล่าว่า ลูกสาวที่มาจีบลูกชายตัวเอง เขาก็มีพ่อแม่เหมือนกัน อันนั้นเป็นการแสดงออกชัดเจนเลยว่าในฐานะแม่ เราไม่ได้สอนให้ผู้ชายรักผู้หญิงคนอื่นนอกจากเรา พอเรากลายมาเป็นแม่สามี บรรดาแม่สามีกับลูกสะใภ้มันเป็นปัญหาระดับชาติ และระดับโลกมาหลายรุ่นแล้ว

โจเคยไปอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของการเป็นแม่สามีของญี่ปุ่น เกาหลี จีน และไทย แม่สามี 4 ชาติเหล่านี้ คิดเหมือนกันหมด ว่าเมื่อชั้นถูกกดขี่มาชั้นก็ต้องกดขี่ลูกสะใภ้ต่อ ทีนี้ไอ้ที่พูดมาทั้งหมดนี้ มันสะท้อนให้เห็นถึงอะไร เพราะผู้ชายโดนยกเว้นตลอด ผู้ชายได้รับการปฏิบัติที่เหนือกว่า จากผู้หญิงด้วยกันเองในฐานะแม่ เราสอนลูกชายมาให้เขาทำร้ายใครก็ได้ แต่ขอให้รักแม่คนเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้ชายเหล่านี้จึงไม่ถูกสอนให้รักผู้หญิง ไม่สอนให้เห็นอกเห็นใจเพศหญิง เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ชายเหล่านี้โตขึ้นจึงรู้สึกว่าการมีผู้หญิงคนอื่นเป็นเรื่องปกติและธรรมดา ตราบใดที่เรายังส่งเสียเลี้ยงดูลูกเมียไม่ขาดตกบกพร่อง ผู้ชายคิดว่าตนเองได้ทำหน้าที่ที่ดีที่สุดแล้ว แต่จริงๆ ไม่ใช่

ลูกผู้ชายที่เข้มแข็งและเป็นลูกผู้ชายที่แท้จริงคือ คนที่ปกป้องครอบครัวตัวเอง ไม่ว่าคุณจะยากดีมีจน ชีวิตคุณจะต่ำ หรือสุขสบาย สิ่งนี้คือ จิตวิญญาณของผู้ชายทุกคน เพราะฉะนั้นผู้ชายในแบบที่สังคมไทยได้รับการยกเว้นตลอดเวลาว่า ชั้นมีเมียน้อย ชั้นมีหลายบ้าน ตราบใดที่ยังส่งเงินให้ลูกเมียไม่ขาดตกบกพร่องชั้นคือ สามีที่ดี ไม่ใช่อีกแล้ว สามีที่ดีไม่ใช่แบบนั้น คนที่เป็นสามี เป็นพ่อที่ดีคือ คนทีปกป้องครอบครัวตัวเองสุดชีวิต ไม่ให้ใครมาทำร้ายครอบครัวตัวเองได้

ประเด็นที่ 2 คือ เรยาเกลียดแม่ อันนี้โจพูดอย่างซื่อตรง จริงใจ วิธีการที่ดีที่สุดที่เราจะพูดให้คนเชื่อได้ คือ เราต้องจริงใจอย่างที่สุดในการบอก โจโตมาจากการที่เกลียดแม่มากๆ โจจะมีปัญหากับแม่ และรักพ่อสุดๆ โจสังเกตว่าผู้หญิงที่โตมากับการโหยหาพ่อ ไม่ว่าเขาอาจจะขาดพ่อ และเรามีพ่อในจินตนาการ เหมือนคนมีฝัน แล้วมีปัญหากับแม่มักจะไม่มีความยับยั้งชั่งใจที่จะเป็นมือที่ 3 เพราะผู้หญิงเหล่านี้เกลียดเพศเดียวกันอยู่้แล้ว จะไม่รักไม่สงสารเห็นใจผู้หญิง แต่จะเห็นใจผู้ชายมากกว่า อะไรผู้ชายก็ถูก อะไรผู้ชายก็ดี เพราะฉะนั้นลึกๆ เมื่อผู้หญิงเหล่านี้โตมาเป็นลูกสาวที่ไม่ถูกกับแม่เลย อาจจะถูกกดขี่ อาจจะไม่มีสิทธิ์มีเสียงในบ้าน เขาจะมีความรู้สึกว่าตัวเขาจะแย่งชิงความรักจากผู้ชายคนนั้น แล้วคนที่เป็นผู้หญิงที่มาก่อน ชั้นต่างหากเป็นคนที่ดีพอสำหรับเขา ถามว่าผู้หญิงเหล่านี้เป็นแบบนี้ได้อย่างไร ให้ไปลองย้อนดูอดีต ทุกอย่างมาจากวัยเด็กทั้งนั้น”

จุดประเด็นผัวนอกใจเมีย คุยวงกว้างมากขึ้น

ปิดท้ายกับ ดร.สุธาดา ชี้ละครทำให้จุดประเด็นสถานภาพของผู้หญิงมากขึ้น

“ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานวัฒนธรรม ทัศนคติ ของหญิงชายในสังคม ความจริงแล้วเรามีการจัดกลุ่มคุยเรื่องนี้เยอะมาก ภาพสะท้อนหญิงไทย ตัวเรยา สะท้อนสังคม ในประเด็นของเรยา เริ่มต้นมาจากกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องจากเครือข่ายผู้ปกครองกลัวว่าจะเกิดการเลียนแบบ จึงอยากให้มีการเลื่อนฉายออกไปให้ดึกหน่อย ขณะเดียวกันเราต้องดูเรื่องการคัดกรองเยาวชน เรื่องของภาพสะท้อนสังคมผ่านตัวละครเรยา

เรามองว่าละครเรื่องนี้อย่างน้อยที่สุดก็ได้จุดประเด็นสถานภาพของผู้หญิง ละครเรื่องนี้สะท้อนลักษณะที่เป็นด้านลบ 3 ลักษณะ ในสังคมไทย ลักษณะนี้ทำให้ด้อยกว่าผู้ชายในสังคมไทย ลักษณะที่ 1 ละครหรือวรรณกรรมก็ดี เวลาดูละครเรื่องนี้เราเห็นอะไรในนั้น ประการแรกเราเห็นภาพทวิลักษณ์ของผู้หญิง ภาพ 2 ภาพ ของตัวครที่ละครต้องการอยากจะสื่อ เราเห็นภาพของผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ดี และไม่ดี ขาวกับดำ ควรปรับสมดุลของตัวคะครให้สมเหตุสมผลเราจะเห็นตัวเลวมากเลย ในขณะเดียวกันเรยาก็มีแม่ที่ดีมากที่รักลูกสุดๆ และมีความสัมพันธ์กับนายจ้างที่ดี อยู่ในกรอบอันดี

เรายังเคยนั่งคุยกันว่า เรยาไม่เอาอะไรดีๆ จากแม่มาบ้างเลยเหรอทำเลวได้สุดๆ แม่ก็ดีๆ ได้สุดๆ อันนี้อาจจะเป็นลักษณะคนในสังคม น่าจะให้ความสมจริงของตัวละครมากกว่านี้ อีกอย่างสังคมไทยมักมองอะไรขาวดำ ถ้ามองว่าเรยาเลวก็เลวได้สุดๆ ฝั่งหนึ่งอาจจะต่อต้าน อีกฝ่ายหนึ่งอาจจะชอบนิสัยแบบเรยาก็ได้

เราเห็นสังคมที่บูชาบุรุษเพศ ไม่ว่าชายจะทำอะไรในเรื่องนี้จะได้รับการให้อภัย ไม่ผิด หรือมีเหตุผลเสมอ อันที่ 3 ลักษณะที่ควบคุมพฤติกรรมตัวละครผู้หญิงมากเกินไป พยายามใส่บทให้เลวมากขนาดนั้นในควาามเป็นจริง ความรุนแรงในจิตใจมากเกินไป

แต่เราได้ประโยชน์จากละครเรื่องนี้คือ ได้พยายามฉายภาพที่มีมิติว่าสังคมไทยเป็นลักษณะที่ผู้ชายให้คุณค่าต่อควาามเป็นแม่ แต่กับภรรยาก็นอกใจสุด ทำให้เกิดการคุยกันมากขึ้นในสังคม เป็นปรากฏการณ์ อาจทำให้เกิดค่านิยมบางอย่างเกิดขึ้นได้”
*เก็บตกบรรยากาศงาน*

 


>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
 
กำลังโหลดความคิดเห็น