xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“นิพิฏฐ์”ตอบ ม.112 ท้ารบ“ปราบดา หยุ่น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราบดา หยุ่น
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นเรื่องยาวจนได้ หลังจาก “ASTVผู้จัดการรายวัน” เปิดเรื่องนี้ติดต่อกันมา 2 สัปดาห์ ในประเด็นที่ร้อนแรงกับความเคลื่อนไหวของ "กลุ่มนักเขียน" และ"คอลัมนิสต์" ที่ร่วมกันลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก ชื่อว่า “ขอเชิญร่วมลงชื่อในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงออก และแสดงความคิดเห็นทางการเมือง”

หลายคนอาจแปลกใจ หลายคนอาจคาดไม่ถึงกับทุกรายชื่อที่ปรากฏ ตลอด 2 สัปาดห์มีการยกเรื่องนี้ขึ้นสอบถามทั้งในเว็บไซต์ คอลัมน์ บล็อกเกอร์ ทวิตเตอร์ หรือแม้แต่ในเฟซบุ๊ค ที่มีการสาดโคลนสอบถาม “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้ตอบคำถาม

หลายคนที่ยืนอยู่บนความถูกต้อง ก็สอบถามกลับไปยังกลุ่ม “กลุ่มนักเขียน” และ “คอลัมนิสต์” ด้วยว่าเหตุใด พวกเขาถึงคิดแก้ข้อความในมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา ที่ระบุเอาไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2554 หลังรัฐบาลยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่มาหลายวัน “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” คงเพิ่งว่างที่จะตอบ “คุณวาด รวี และ คุณปราบดา หยุ่น” 2 นักเขียนที่ร่วมกันลงชื่อในจดหมายข้างต้น เราจึงขออนุญาตคุณนิพิฏฐ์ในที่นี้ นำมาให้ผู้อ่านร่วมพิเคราะห์พิจารณากันให้ถ้วนหน้า

“คุณนิพิฏฐ์” เขียนและเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวัฒนธรรม ( http://www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=2898 ) ระบุว่า เป็นบทสัมภาษณ์ของเจ้ากระทรวง มีใจความว่า

ผมอ่านจดหมายเปิดผนึกของคุณทั้งสองที่มีถึงผมแล้ว ตอนแรกตั้งใจจะไม่ตอบ เพราะไม่มีเวลา แต่คิดไปคิดมา ถ้าไม่ตอบคุณทั้งสองอาจจะเข้าใจผิดว่า ผมยอมรับ หรือจำนนต่อเหตุผลของคุณ ซึ่งอาจทำให้ผมได้รับความเสียหายได้

“ข้อหา” ที่คุณทั้งสองตั้งให้ผมนั้น ดูเหมือนรุนแรงเกินไป และขัดต่อเหตุผลและข้อเท็จจริงหลายประการ แต่ผมให้อภัย เพราะคิดว่าคุณทั้งสองกำลัง“จินตนาการ” ตามวิสัยของความเป็นนักเขียนของคุณ แต่บังเอิญจินตนาการของคุณล้ำเข้ามาในเขตแดนของผม และทำลายความสงบสุขในเขตแดนของผมโดยไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะข้อหาที่คุณ กล่าวว่า การให้สัมภาษณ์ของผม “ไม่เป็นผลดีต่อการใช้เหตุผลและสติปัญญาของสังคม และอาจส่งผลให้วัฒนธรรมทางปัญญาของสังคมไทยเสื่อมเสียได้” และข้อหาที่ว่าผม “กระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์” ผมขอแก้ข้อกล่าวหาของคุณทั้งสอง ดังนี้

ข้อ 1 กรณีที่คุณทั้งสองกล่าวว่า มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ขอชี้แจงว่า ต้องยอมรับความจริงว่าปัจจุบันมีผู้พยายามทำความผิดตามมาตรา 112 มากขึ้นอย่างผิดปกติ จะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม และต้องยอมรับว่าผู้ทำความผิดตามมาตรา 112 ส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง หรือผู้สนับสนุนนักการเมือง ดังนั้นเมื่อรัฐดำเนินคดีกับคนเหล่านี้ จึงเป็นการใช้อำนาจตามปกติ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม และศาลก็มีคำพิพากษาลงโทษไปแล้วหลายราย ดีที่คุณทั้งสองยังไม่กล่าวหาว่า “ศาล” ก็ใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วย ต่อไปภายภาคหน้าหากมีนักการเมือง หรือผู้สนับสนุนนักการเมือง กระทำความผิดฐาน ข่มขืน กระทำชำเรามากขึ้น คุณวาด รวี และ คุณปราบดา หยุ่น อย่าเผลอว่า รัฐใช้ข้อหาข่มขืนกระทำชำเราเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกล่ะครับ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่นักการเมืองหรือผู้สนับสนุนทางการเมือง เป็นผู้พยายามละเมิดมาตรา 112 จึงต้องดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านี้ เท่านั้นเอง

ท่านทั้งสองอย่าจินตนาการอะไรให้มากไปกว่านี้เลยครับ

ข้อ 2 ความเห็นของผมในประเด็นที่ว่า หากให้ราชเลขาธิการเป็นผู้ฟ้องร้องเอง เหมือนกับการเอา “สถาบันฯ” มาเป็น “คู่กรณี ” กับประชาชน โดยคุณทั้งสองแย้งว่า เคยมีกรณีที่สำนักราชเลขาธิการเป็นคู่กรณีมาแล้ว เช่น กรณีสำนักราชเลขาธิการมอบให้ดีเอสไอ เป็นโจกท์ฟ้อง “เสี่ยอู๊ด” กรณีการจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัว ในประเด็นนี้ ผมขอชี้แจงว่าความผิดของเสี่ยอู๊ด เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค , พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ และ กฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกงประชาชนเท่านั้น มิใช่กรณีตามมาตรา 112 ที่มอบให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้ฟ้อง หรือมอบให้ ดีเอสไอ เป็นผู้ฟ้อง

เป็นเรื่องผู้เสียหาย จำนวน 921 คน ไปแจ้งความร้องทุกข์ว่า “ถูกฉ้อโกง” และเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบต้องพิจารณาว่า การกระทำของเสี่ยอู๊ด ผิดกฎหมายใดบ้างเท่านั้น มิใช่เป็นกรณีสำนักราชเลขาธิการเป็นคู่กรณีกับชาวบ้าน ตามที่คุณทั้งสองเข้าใจ

ประเด็นนี้ผมไม่โทษคุณ เพราะคุณมิใช่นักกฎหมาย แต่บังเอิญคุณจินตนาการตามความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เท่านั้นเอง ในฐานะผู้มีอายุมากกว่า ถือว่า “อโหสิ” กันได้ แต่หากผมไม่ตอบ จะทำให้ประชาชนสับสน เพราะคุณทั้งสองก็มีต้นทุนทางสังคมสูงอยู่ หากคนไทยไม่ใช้หลัก “กาลามสูตร” ในการพิจารณา ก็อาจเชื่อคุณทั้งสองได้

ข้อ 3 ประการต่อไป คุณทั้งสองกล่าวว่า ผมมีความเห็นไม่ตรงกับท่านนายกรัฐมนตรี ขอชี้แจงว่า ผมและท่านนายกรัฐมนตรีมีความเห็นตรงกัน เป็นเรื่องที่คุณทั้งสองจับบางคำพูดของท่านนายกฯ มากล่าว เป็นการ “ตีความไม่แตก” เท่านั้นเอง และในบางเรื่องที่ผ่านมาผมก็เคยมีความเห็นไม่ตรงกับท่านนายกฯ แต่เมื่อมีมติออกมาเป็นอย่างไรทุกอย่างก็ยุติ

ความจริงคุณทั้งสองที่อ้าง“ประชาธิปไตย” น่าจะมายกย่องผม แต่คุณกลับตำหนิผม หาว่าผมมีความเห็นต่าง ผมจึงสับสนความเป็นบุคคลใน “ระบอบประชาธิปไตย ” ของคุณทั้งสองจริง ๆ

ส่วนข้อหาที่ว่า ผมทำให้“วัฒนธรรมทางปัญญาของสังคมเสื่อมถอย” ซึ่งเป็นข้อหาที่รุนแรง ผมยังไม่ตอบวันนี้ เพราะไม่มีเวลาจริงๆ

คุณวาด รวี และ คุณปราบดา หยุ่น ครับ ในขณะที่คุณทั้งสอง กำลังจิบกาแฟถ้วยที่ 2 ของวันนี้อยู่ในห้องที่มีอุณภูมิต่ำกว่า 25 องศา ผมอยู่ไกลออกไปเกินกว่า 1,000 กิโลเมตร จากเมืองหลวงของประเทศ อยู่ท่ามกลางอากาศที่ร้อนเกิน 34 องศา ผมอาจจะมีอารมณ์ไปบ้าง ก็ต้องขอโทษ อีก 20 ปีข้างหน้าเมื่อคุณมีอายุใกล้เคียงกับอายุของผมในขณะนี้ ผมหวังจะได้รับจดหมายตอบจากคุณทั้งสอง และหวังว่าอีก 20 ปีข้างหน้า คุณจะเขียนมาขอโทษผมก็ได้ ผมจะรอครับ
 
เป็นไง !! อ่านจบแล้ว ท่านคิดยังไงกับคำสัมภาณ์ข้างต้น หลายคนที่อ่านบอกว่า “คุณนิพิฏฐ์” น่าจะลาออกจากนักการเมือง ไปเอาดี เป็นนักเขียนแบบคุณวาด รวี และคุณปราบดา หยุ่น เพราะตอบโต้ได้แหลมคม ทะลุลึก เอามากๆ

สำหรับคุณนิพิฏฐ์ ก่อนหน้านั้น เป็นเพียง ส.ส.พัทลุง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ มาหลายสมัย ตั้งแต่ 2535 เป็นคนอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสอบได้ เนติบัณฑิตไทย ประกอบอาชีพเป็นทนายความ และ ถือเป็นทีมกฎหมายในระดับต้นๆของพรรคประชาธิปัตย์

การออกมาเปิดหน้าสู้ด้วยคารมจากปลายปากกากับเหล่านนักเขียนแบบนี้ ถือว่า “ไม่ธรรมดา” โดยเฉพาะประโยคที่จะรออีก 20 ปีข้างหน้า เข้าใจว่าคงจะมีการตอบโต้ออกมาอีกเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในโลกโซเชียล มิเดีย

ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าติดตามอีกเรื่องในขณะนี้ เผื่อว่าเบื่อ หรือเซ็งๆ กับข่าวนักการเมืองหาเสียงเลือกตั้ง
นิพิฏฐ์  อินทรสมบัติ
กำลังโหลดความคิดเห็น