xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รื้อมาตรา 112 เลิกความผิดหมิ่นสถาบัน? อะไรคือเป้าหมายของ 130 นักเขียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มผู้สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 ขณะไปให้กำลังใจอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

นั่นคือข้อความใน ม.112 ที่บัญญัติเอาไว้ในกฎหมายอาญาของราชอาณาจักรไทย

ที่กำลังมีหลายกลุ่มกำลังเคลื่อนไหวให้มีการปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ อาทิ กลุ่มนิติราษฎร์ของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หรือสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ต้องการให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมาตานี้ที่กำลังเป็นที่จับตามองของสังคมก็คือ กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มนักเขียน” และ “คอลัมนิสต์” 130 คนที่ร่วมกันลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายในมาตรานี้

กลุ่มดังกล่าวได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนักเขียนทั่วประเทศเพื่อล่ารายชื่อให้มีการสนับสนุนการแก้ไข ม.112 โดยใช้ชื่อว่า “ขอเชิญร่วมลงชื่อในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง”

ข้อความขนาดยาวประมาณ 2-3 หน้ากระดาษ A4 ท่อนหนึ่งระบุถึงเหตุผลที่ต้องการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้เอาไว้ว่า

“ข้อความสั้นๆ ของกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่กล่าวว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ได้ถูกนำมากล่าวอ้างหาเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพื่อข่มขู่ ฟ้องร้องและคุมขังประชาชน หลายครั้งเป็นการตีความกฎหมายโดยกว้าง เช่น แม้แต่การไม่ยืนถวายพระพรเมื่อมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีก็กลายเป็นความผิดฐานดูหมิ่นได้ นอกจากนั้น กระบวนการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ ยังได้ฉวยใช้ความรู้สึกต่อองค์พระมหากษัตริย์ของคนทั่วไป มารวบรัดขั้นตอนการดำเนินคดี ไม่ดำเนินคดีตามกระบวนการที่ถูกต้องเหมาะสมตามกฎหมายหากแต่เป็นการดำเนินคดีตามอำเภอใจ เช่น สั่งให้มีการไต่สวนโดยปิดลับ และห้ามสื่อมวลชนทำข่าวจนกระทั่งบัดนี้ แม้แต่สื่อมวลชนและนักวิชาการที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐบาล ซึ่งอภิปรายเรื่องการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์อย่างเป็นวิชาการ ยังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยกฎหมายมาตรา 112 เช่นกัน”

พวกเขาอ้างว่า “หลายกรณีที่เกิดขึ้น เราไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายอย่างไร นอกจากเป็นเพียงแต่การพยายามนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ด้วยเหตุผลและข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยกิริยาและวาจาที่อยู่บนมาตรฐานของมนุษย์ผู้มีอารยธรรม อีกทั้งยังเป็นการแสดงทัศนะที่เกิดจากเจตนารมณ์อันดีต่อสถาบันกษัตริย์และสังคมไทย เป็นการนำเสนอแนวทางที่จะสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับสถาบันกษัตริย์ในระยะยาว มิได้ลบหลู่ล่วงเกินหรือต้องการล้มสถาบันแต่ประการใด”

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาจากการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ก็คือ พวกเขาเคลื่อนไหวโดยบริสุทธิ์ใจโดยมิได้มีเป้าหมายทางการเมืองจริงหรือ เพราะในบรรดาผู้ที่ลงชื่อในครั้งนี้ หลายต่อหลายคนเป็นที่รับรู้กันว่า เป็นผู้ฝักใฝ่แนวทางของ “กลุ่มคนเสื้อแดง”

รวมทั้งข้อความที่กล่าวอ้างในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวที่อ้างถึง “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” ก็มิอาจเข้าใจได้ว่า มีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับสถาบันกษัตริย์ในระยะยาว เพราะ “หัวโต” ของผองเพื่อนหรือสมศักดิ์ของลูกศิษย์ผู้นี้เพิ่งจะถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าวด้วยการใช้ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างรุนแรง ซึ่งแม้ผู้ที่อ่านบทความที่เขียนโดยอาจารย์สมศักดิ์จะไม่ใช่ “รอยัลลิสต์” เป็นเพียงแค่ผู้ที่แวะเข้ามาอ่านโดยบังเอิญ ก็เชื่อว่า ไม่สามารถรับได้กับถ้อยความที่ปรากฏได้

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้อดสงสัยมิได้ว่า การแก้ไขมาตรานี้พวกเขาต้องการให้มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นเช่นนั้นหรือ พวกเขาต้องการให้เกิดกรณีอย่างเช่นสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เช่นนั้นหรือ เพราะแม้ในขณะที่มีกฎหมายมาตรานี้ การละเมิดจาบจ้วงสถาบันก็กระทำกันอย่างอึกทึกคึกโครม แล้วถ้าไม่มีกฎหมายมาตรานี้การละเมิดจาบจ้างจะมิบานปลายใหญ่โตออกไปอีกหรือ

ข้ออ้างที่ว่า “บรรยากาศของความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นในสังคมและพฤติกรรมที่คุกคามโดยคนบางกลุ่ม เช่น ทหารไทยที่ออกมาตบเท้าข่มขู่ประชาชนและฟ้องร้องนักวิชาการ ตอกย้ำให้เราตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องนำกฎหมายอาญามาตรา 112 มาเป็นประเด็นทบทวนพิจารณาปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันมิให้เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นของประชาชนถดถอยล้าหลัง ก้าวย่างไปสู่ยุคมืด หรือถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงในที่สุด” น่าจะมิใช่ข้ออ้างที่สมเหตุสมผล

เพราะต้องไม่ลืมว่า ทหารที่ออกมาตบเท้าซึ่งกลุ่มนักเขียนใช้คำว่าข่มขู่ประชาชนนั้น ประชาชนคนที่ทหารออกมาตบเท้าก็คือ “นายจตุพร พรหมพันธุ์” แกนนำคนเสื้อแดงที่กล่าวถ้อยคำที่ทั้ง “ดูหมิ่น หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้าย” ดังมีหลักฐานปรากฏให้เห็นกันทั่วทั้งประเทศ

ส่วนการฟ้องร้อง “นักวิชาการ” นั้น กลุ่มนักเขียนคงหมายถึง “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” ซึ่งก็เป็นที่แน่ชัดถึงเป้าหมายที่มิอาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า ทั้ง “ดูหมิ่น หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้าย”

คำปราศรัยของนายจตุพรและบทความของนายสมศักดิ์ใช่เป็นต้นธารแห่งความคิดของคนกลุ่มนี้ใช่หรือไม่ ซึ่งถ้าใช่นั่นหมายความว่า ถ้ามีการแก้ไขมาตรานี้ลุล่วง ต่อไปนี้เสรีภาพในการกระทำทั้งคำพูดและข้อเขียนเฉกเช่นเดียวกับที่นายจตุพรและนายสมศักดิ์กระทำเป็นที่ถูกต้องตามกฎหมายใช่หรือไม่

และที่ไม่เข้าใจเสียยิ่งกว่าคือ บุคคลที่ลงชื่อมาทั้ง 130 คนนั้น ต้องการแก้ไขมาตรานี้เพื่อประโยชน์แก่วิชาชีพของตนเองอย่างไร

เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว การมีหรือไม่มีกฎหมายมาตรานี้ไม่สำคัญ ถ้าหากไม่มีการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เกิดขึ้นจริง

รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ก็มิได้เป็นหลักรับประกันว่า ดำเนินไปบนมาตรฐานของมนุษย์ผู้มีอารยธรรมอย่างแท้จริงเหมือนที่ในจดหมายกล่าวอ้างแต่ประการใด

ดังเช่นที่ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวแสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า “ส่วนตัวไม่เห็นว่า เนื้อหารวมถึงการบังคับใช้กฎหมายมาตราดังกล่าวจะมีปัญหาอะไร การจะแก้ไขกฎหมายใดๆ ต้องดูความเป็นจริง ทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ด้วย ไทยเป็นน้อยประเทศที่ยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ กฎหมายลักษณะเดียวกับมาตรา 112 จึงควรจะมีอยู่ ผมไม่เคยเห็นมาตรา 112 ถูกหยิบนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และนักการเมืองกว่าร้อยละ 99 ก็ไม่มีปัญหากับมาตราดังกล่าว ผมเดินทางไปหลายประเทศที่เคยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ชาวบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เสียดายที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว อยากจะรื้อฟื้นให้กลับมาใหม่ เพื่อจะเป็นประมุข รวมทั้งสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ กลับกันไทยยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงสมควรมีมาตราดังกล่าวไว้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์”

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบถ้อยคำที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมให้สัมภาษณ์ก็ยังพบสิ่งที่น่าสนใจจากข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเขียนดังกล่าวในหลายประเด็นด้วยกัน

ประเด็นแรก กลุ่มคนกลุ่มนี้ต้องการแก้ไขมาตรา 112 ให้ไปอยู่ในหมวดเดียวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคล ซึ่งรัฐมนตรีนิพิฏฐ์ตั้งข้อสังเกตว่า “เชื่อว่าสุดท้ายอาจมีการเสนอให้แก้ไขลดโทษลงหรือแก้ไขให้ยอมความกันได้อีก”

ประเด็นที่สอง รัฐมนตรีนิพิฏฐ์กล่าวถึงข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ที่ต้องการแก้ไขกฎหมายโดยให้ “สำนักราชเลขาธิการ” เป็นผู้ฟ้องร้องเอง ซึ่งนายนิพิฏฐ์มีความเห็นว่า “ยิ่งทำให้เกิดปัญหา เพราะจะกลายเป็นว่าเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นคู่กรณีกับชาวบ้าน การให้ชาวบ้านฟ้องร้องเองได้ถ้าพบเห็นพฤติกรรมที่อาจฝ่าฝืนมาตรา 112 คิดว่าเหมาะสมแล้ว”

แน่นอน ไม่มีใครคัดค้านหากจะเป็นการรณรงค์เพื่อต่อต้านการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายกุมอำนาจรัฐ แต่หากจะรณรงค์ให้ยกเลิกไปเลยนั้น น่าจะมีเหตุผลที่หนักแน่นมากว่าที่กลุ่มนักเขียนนำเสนอความคิดออกมาขณะนี้

เพราะต้องไม่ลืมว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ดำเนินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 8 ที่ระบุไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้

ดังนั้น กลุ่มนักเขียนที่ร่วมลงชื่อท้ายจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมอย่างเช่น ปราบดา หยุ่น,บินหลา สันกาลาคีรี,เดือนวาด พิมวนา,ซะการีย์ยา อมตยา,คำผกา,ปราย พันแสง,เรืองเดช จันทรคีรี,นิวัต พุทธประสาท,พรชัย แสนยะมูล ฯลฯ จึงจำเป็นที่จะต้องอธิบายและขยายความข้อเท็จจริงในการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เพื่อทำให้กระจ่างแจ้งมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไอดอลของกลุ่มนักเขียนในเรื่องการแก้ไขมาตรา 112
กำลังโหลดความคิดเห็น