ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยังไม่ถึงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง แต่ก็เป็นที่คาดการณ์ได้แล้วว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 ก.ค.นี้ พรรคเพื่อไทย ของนักโทษหนีคดี ทักษิณ ชินวัตร จะได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุดค่อนข้างแน่นอน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำรัฐบาลปัจจุบัน จะได้อันดับ 2 ตามมาห่างๆ
นั่นหมายถึงว่า โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหลังการเลือกตั้งจึงค่อนข้างจะริบหรี่หากไม่มีปัจจัยอื่นเข้ามาแทรกซ้อน
เป็นที่น่าเสียดาย ที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถใช้โอกาสจากการเป็นรัฐบาลตั้งแต่ปลายปี 2551 รวมแล้วเกือบ 2 ปีครึ่ง ในการสร้างความนิยมให้กับพรรคของตัวเอง ตรงกันข้าม ความนิยมกลับลดลงไปอยู่ในระดับต่ำกว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งตลอดช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ไม่มีผลงานอะไรนอกจากความพยายามที่จะช่วยให้ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากความผิดและกลับเข้ามาในประเทศอีกครั้ง
ในปี 2552 และ 2553 พรรคเพื่อไทยแสดงออกอย่างชัดเจนในการสนับสนุนคนเสื้อแดงจัดชุมนุมเผาบ้านเมืองเอาอาวุธออกมาสู้กับเจ้าหน้าที่จนมีคนบาดเจ็บล้มตายเกือบ 100 คน รวมทั้งคนในพรรคบางคนยังมีพฤติกรรมหมิ่นเบื้องสูง การแสดงออกถึงการท้าทายพระราชอำนาจด้วยการล่าชื่อมวลชนในเครือข่ายนับล้านคนยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณ ชินวัตร อย่างผิดขั้นตอน ไม่เว้นแม้กระทั่งไปสมคบกับนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชากดดันรัฐบาลไทย
หากพรรคประชาธิปัตย์บริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพสามารถป้องกันความเสียหายจากการกระทำของคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยได้ ปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา จะเป็นโอกาสของพรรคประชาธิปัตย์ในการสร้างผลงานให้เป็นที่ประทับใจของประชาชน และพรรคเพื่อไทยหรือเครือข่ายระบอบทักษิณจะไม่มีวันได้ผุดได้เกิดอีกเลย
แต่ปรากฏว่าช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมา นอกจากจะไม่สามารถป้องกันความเสียหายจากการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นกรณีการล้มประชุมผู้นำอาเซียนและจีน-เกาหลี-ญี่ปุ่นที่พัทยาในเดือนเมษายน 2552 การปิดแยกราชประสงค์ซึ่งลงท้ายด้วยการเผาเมืองครั้งอัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์ในปี 2553 แล้ว ยังมีความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลเอง ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตโครงการต่างๆ จนอัตราการจ่ายใต้โต๊ะพุ่งสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อเอื้อประโยชน์ของตัวเอง ความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาข้าวยากหมากแพง และที่สำคัญคือการปล่อยให้กัมพูชาฮุบดินแดน โดยไม่ใส่ใจที่จะปกป้องอย่างจริงจัง
ขณะเดียวกัน ยังไร้ประสิทธิภาพในการใช้สื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในระดับรากหญ้า ให้เห็นอันตรายของระบบทักษิณ ปล่อยให้มีการตั้งโรงเรียนคนเสื้อแดงขึ้นในภาคเหนือและภาคอีสาน โดยมีการปลูกฝังแนวคิดที่เป็นอันตรายต่อสถาบันเบื้องสูงเข้าไปด้วย นอกจากนี้ ยังไม่เอาจริงเอาจังในการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกลับมารับโทษ และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือแม้กระทั่งการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งง่ายที่สุด ก็ยังทำไม่ได้ ซ้ำยังให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีเดินทางไปพบปะเจรจาแผนปรองดองกับทักษิณ ชินวัตร ที่ต่างประเทศ
ด้วยเหตุนี้คะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์จึงดำดิ่งลงเหลว ขณะที่พรรคเพื่อไทยนั้น มีฐานเสียงที่มั่นคงอยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือยังคงทำงานมวลชนของตัวเองตลอด ยิ่งเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ล้มเหลวในการใช้สื่อทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา พฤติกรรมเผาบ้านเผาเมืองของคนเสื้อแดงจึงไม่กระทบกระเทือนต่อฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามกลับเอากรณีที่มีคนตายเกือบ 100 คนไปหากิน โดยกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของทหารและรัฐบาลประชาธิปัตย์
ขณะที่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้ง 2550 เมื่อได้เห็นถึงความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์และเห็นว่าพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้ก็เป็นปัญหาของประเทศชาติไม่ต่างจากพรรคการเมืองในฟากของระบอบทักษิณและพรรคการเมืองอื่นๆ พันธมิตรฯ จึงยุติการสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และหันไปรณรงค์โหวตโนเพื่อแสดงออกถึงการปฏิเสธนักการเมืองในระบบเดิมเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่แทน
นั่นหมายถึงว่า จำนวน ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์จะลดลงจากที่เคยได้เมื่อปี 2550 โดยเฉพาะ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรค ที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มจำนวนจาก 80 เป็น 125 คนนั้น แทนที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้เพิ่มขึ้น กลับจะกลายเป็นเพิ่มให้พรรคเพื่อไทย เมื่อคำนวณเป็นสัดส่วนออกมา
ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.165 ที่นั่ง ถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมา นั่นเพราะได้เสียงสนับสนุนจากพันธมิตรฯ ที่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลเพื่อสกัดกั้นระบอบทักษิณไม่ให้กลับมา แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังแพ้พรรคพลังประชาชนที่เป็นนอมินีของทักษิณ ชินวัตร และได้ 232 ที่นั่ง
ในการเลือกตั้ง 2550 ประชาธิปัตย์ได้คะแนนระบบบัญชีรายชื่อประมาณ 12 ล้านคะแนน ขณะที่การเลือกตั้งปี 2548 พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนระบบบัญชีรายชื่อประมาณ 4 ล้านคะแนน นั่นหมายถึงว่า 8 ล้านคะแนนที่ได้เพิ่มขึ้นมา ส่วนใหญ่มาจากกระแสต่อต้านทักษิณและการสนับสนุนของพันธมิตรฯ นั่นเอง
ในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ เมื่อพันธมิตรฯ ประกาศที่จะโหวตโน จึงเชื่อว่าคะแนน 8 ล้านที่ได้เพิ่มขึ้นมาในปี 2550 คือคะแนนที่จะหายไปในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะโทษคนอื่นไม่ได้เลย ในเมื่อมันเกิดจากความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์เอง
การดิ้นรนเอาตัวรอดของพรรคประชาธิปัตย์จึงเกิดขึ้น ซึ่งวิธีการที่พรรคการเมืองนี้ใช้มาตลอดคือการโยนความผิดให้คนอื่น เหมือนที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรค ในปี 2489 ที่ให้ร้ายป้ายสีนายปรีดี พนมยงค์ มาจนถึงยุคพฤษภาทมิฬ 2535 ที่ใช้วาทกรรม “พาคนไปตาย” โจมตี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ สิ่งที่พยายามทำมาตลอดคือการโยนความผิดให้กับพันธมิตรฯ โดยเฉพาะการปล่อยข่าวลือว่า แกนนำพันธมิตรฯ ไปรับเงินทักษิณ ชินวัตร มาเคลื่อนไหวเรื่องโหวตโนเพื่อตัดคะแนนประชาธิปัตย์ ซึ่งในระยะแรกเป็นเพียงการปล่อยข่าวลือ
แต่ล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงกับออกมาพูดว่านายสนธิ ลิ้มทองกุล กลับไปเข้าข้างทักษิณ ชินวัตร ด้วยเหตุแค่นายสนธิตั้งข้อสงสัยว่าการเคลื่อนไหวของนายแก้วสรร อติโพธิ และนายตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ที่ให้ดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นการรับงานพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่
แม้จะเป็นการพูดในเชิงทีเล่นทีจริงแต่คนเป็นนายกฯ เมื่อพูดอะไรไปแล้วคนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงย่อมหลงเชื่อได้ง่าย ที่สำคัญนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ยังออกมาพูดสำทับว่านายสนธิมีภาระที่ต้องชี้แจงประชาชน ทั้งที่ในข้อเท็จจริงนั้น ข่าวการรับเงินทักษิณเป็นเพียงข่าวลือที่ไร้หลักฐาน และสิ่งที่ประจักษ์ชัดคือ การพูดของนายสนธิที่เวทีมัฆวานฯ หรือที่อื่นไม่เคยเข้าข้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และยังคงโจมตีระบอบทักษิณตามเคย
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพตระหนักดี แต่ที่ออกมาพูดในเชิงให้ร้ายป้ายสีแกนนำพันธมิตรฯ นั้น ก็เพื่อให้ประชาชนที่จะโหวตโนตามการรณรงค์ของพันธมิตรฯ กลับไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์อีก แม้จะเป็นการโยนผิดให้คนอื่นโดยปราศจากหลักฐานรองรับก็ตาม