xs
xsm
sm
md
lg

วิบากกรรมซ้ำอดีตของทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

เหตุการณ์หลังเลือกตั้งจะเป็นรอยกรรมซ้ำอดีตของทักษิณอีกหรือไม่

แต่ดูพฤติกรรมแล้วน่าจะกล่าวได้ว่า “ทักษิณ มันหมดบุญแล้ว” จริงๆ

การเลือกตั้งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2550 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่ได้ผ่านการรับรองจากการลงประชามติและเป็นการเลือกตั้งหลังจากที่พรรคไทยรักไทยผู้อยู่เบื้องหลังการเลือกตั้งอัปยศเมื่อ 2 เม.ษ.49 ถูกยุบพรรคได้ไม่นาน

พรรคพลังประชาชนจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อรองรับอดีต ส.ส.เก่าจากพรรคไทยรักไทย เพื่อลงรับเลือกตั้งภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้ โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช ผู้มาเป็นหัวหน้าพรรคที่ประกาศอย่างไม่อายฟ้าดินว่าเป็น “ตัวแทน” ของทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและมีนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นเลขาธิการพรรค

พรรคพลังประชาชนจึงถูกมองจากสังคมด้วยความประหลาดใจเป็นยิ่งนัก นอกเหนือจากพรรคจะเปิดเผยโดยหัวหน้าพรรคเองว่าจะทำตนเป็น “ตัวแทน” ทักษิณที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งแทนที่จะกระทำตนเป็นตัวแทนประชาชนที่เขาใช้สิทธิเลือกมาแล้ว พรรคนี้ยังเป็นการรวมตัวของทั้งผู้ที่มีแนวคิด “ขวาพิฆาตซ้าย” เช่น นายสมัคร และผู้มีแนวคิด “ซ้ายจัด” เช่น นายสุรพงษ์ และพวกที่เคยเป็น (และอาจยังเป็นอยู่?) สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอีกด้วย ภายใต้ข้ออ้างว่า “ไม่ว่าพื้นเพความคิดจะเป็นซ้ายหรือขวา ถ้ามีจุดยืนที่จะทวงคืนประชาธิปไตยให้กลับสู่บ้านเมืองโดยเร็วที่สุดแล้วละก็ เราพร้อมที่จะร่วมมือ”

หากพิจารณาจากข้อมูลเชิงประจักษ์ข้างต้น เป้าหมายของพรรคพลังประชาชนก็ชัดเจนว่ามิได้มีอุดมการณ์เพื่อประชาชนผู้ที่เลือกพวกเขา หากแต่ทำงานเพื่อทักษิณแต่เพียงผู้เดียว

ผลการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธ.ค. 50 ปรากฏว่าพรรคพลังประชาชนได้ ส.ส.มากที่สุดรวม 233 คนในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 165 คนจากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 480 คน รัฐบาลผสมโดยพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำจึงได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ม.ค. 51 และทักษิณได้เดินทางกลับเข้าประเทศหลังจากการปฏิวัติเมื่อ 19 ก.ย. 49 อีกครั้งหนึ่งเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาจากคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ในเดือนถัดไปทันที

รัฐบาลหุ่นเชิดของนายสมัครได้ริเริ่มที่จะหาทางช่วยเหลือการถูกดำเนินคดีของทักษิณมาโดยตลอดนับจากวันแรกที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งในภายหลังก็มาตกผลึกที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2550 ที่ใช้อยู่ในมาตราที่สำคัญคือ ม. 237 ที่ว่าด้วยเรื่องของการยุบพรรคและ ม. 309 ที่ว่าด้วยการรับรองคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ได้ทำไปซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส. ที่กำลังเป็นผู้รวบรวมหลักฐานไต่สวนฟ้องร้องทักษิณและพวกอยู่

ความพยายามของรัฐบาลหุ่นเชิดนายสมัครในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือทักษิณจึงถูกต่อต้านโดยการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อ 25 พ.ค. 51 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอันเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของทักษิณและพวกในเวลาต่อมา

พรรคพลังประชาชนถูกยุบพร้อมกับพรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาฯ เพราะกรรมการบริหารทุจริตเลือกตั้งเสียเอง ในขณะที่ทักษิณก็ถูกศาลฯ ตัดสินจำคุกในคดีที่ดินรัชดาฯ แต่ได้หลบหนีการฟังคำพิพากษาไปเสียก่อนหลังจากที่ไม่มีใครกินขนมใน “ถุงขนม 2 ล้านบาท” อันเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าซื้อ “ศาล” ไม่ได้

การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 3 ก.ค. 54 จึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ข้างต้นที่ได้ลำดับมาโดยย่อ แต่จะกลายเป็นละครน้ำเน่าซ้ำรอยเดิมหรือไม่ พรรคเพื่อไทยซึ่งมีบรรพบุรุษคือพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนจะอาศัยกระแส “ชนะเลือกตั้ง เพื่อเอาทักษิณพ้นผิด” อีกครั้งหนึ่งเหมือนเช่นที่เคยทำมาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อนหรือไม่ อีกไม่นานก็คงทราบ

เหตุการณ์ความวุ่นวายในช่วงเวลาถัดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงกรานต์ปี พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2553 น่าจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นเป็นประจักษ์ว่า พฤติกรรมของทักษิณไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นคือทักษิณความจำสั้น ไม่เรียนรู้ความผิดพลาดจากอดีตที่ผ่านมา และมีนิสัย “นักพนัน”

พฤติกรรมของคน “ชอบเสี่ยง” หรือเป็น risk lover จะเป็นตัวบ่งชี้จำแนกว่าบุคคลนั้นเป็น “นักพนัน” หรือไม่ มิใช่ดูที่หน้าตา กล่าวคือ คน “ชอบเสี่ยง” จะพอใจมากขึ้นหากสามารถได้ผลตอบแทนมากขึ้นแม้จะมีความเสี่ยงสูงที่อาจจะไม่ได้อะไรเลยก็ตาม ซึ่งจะแตกต่างจากพฤติกรรมของคนทั่วไปที่เป็น คน “ไม่ชอบเสี่ยง” หรือ risk averter ที่ยินดีรับผลตอบแทนน้อยแต่แน่นอนดีกว่าผลตอบแทนสูงแต่ไม่แน่นอน

คน “ชอบเสี่ยง” จึงยินดีจ่ายเงิน 100 -120 บาทเพื่อซื้อลอตเตอรี่หวังเงินรางวัลแม้จะรู้หรือแกล้งไม่รู้ว่ามีโอกาสถูกรางวัลน้อยมากแต่ก็พอใจกับผลลัพธ์ที่อาจ “ได้” ทั้งหมด หรือ “ไม่ได้” แม้แต่บาทเดียว ในขณะที่คนที่ “ไม่ชอบเสี่ยง” ยินดีที่จะไม่ซื้อลอตเตอรี่แต่เลือกขอรับเงินผลตอบแทนแม้แต่เพียงน้อยนิด (หากทำได้) แทน นั่นคือยินดี “ได้” รับบางส่วนด้วยความแน่นอนหากทำได้ ดีกว่า “ไม่ได้” แม้แต่บาทเดียว

คน “ไม่ชอบเสี่ยง” จึงยอมทำงานเพื่อแลกเงินตอบแทนที่จะได้รับอย่างแน่นอน ในขณะที่ คน “ชอบเสี่ยง” ยินดีเป็น “นักพนัน” ไม่ยอมทำงานเพราะคาดหวังแต่รางวัลก้อนโตแม้จะมีโอกาสถูกน้อยก็ตาม
ดังนั้นยุทธวิธี “การแทงเบิ้ล” หรือลงเงินพนันเพิ่มขึ้นเมื่อเสียพนันจึงเป็นพฤติกรรมของคน “ชอบเสี่ยง” ดังพฤติกรรมของทักษิณได้เคยกระทำมา ความคาดหวังว่า เมื่อเสียตานี้ไป 100 บาทก็ต้องพนันเพิ่มในตาหน้าเป็น 200 บาท ซึ่งหากชนะก็จะได้คืนทั้งทุนและมีกำไรเกิดขึ้น หากยังไม่ชนะก็จะเล่นเดิมพันเพิ่มเป็น 400 บาทหรือ 800 บาทไปเรื่อยๆ โดยคาดหวังว่าคู่ต่อสู้ก็ต้องมีสักครั้งที่แพ้ พฤติกรรมนี้จึงเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของ “นักพนัน” เช่นทักษิณ

แต่การคาดหวังดังกล่าวข้างต้นก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีและข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแต่อย่างใด การโยนเหรียญ 1 ครั้งที่คาดหวังว่าจะมีโอกาสออกหัว หรือก้อยเท่าๆ กันคือครึ่งหนึ่งของจำนวนครั้งที่โยนนั้นมิได้หมายความว่าหากโยน 2 ครั้งจะออกหัวและก้อยอย่างละ 1 ครั้งเท่าๆ กัน แต่ความเป็นจริงที่ปรากฏก็คือเมื่อโยนไป 10 ครั้งแล้วก็ยังอาจจะออกหัวมากกว่าก้อยก็เป็นไปได้ไม่จำเป็นต้องออกหัวหรือก้อยอย่างละ 5 ครั้งแต่อย่างใด

หากทักษิณเรียนหนังสืออย่างแตกฉานจนสมควรได้ปริญญาเอกจริงก็ควรจะทราบว่าข้อสรุปทางสถิติศาสตร์ของโอกาสความเป็นไปได้ที่จะออกหัวหรือก้อยได้เท่าๆ กันนั้นต้องโยนเหรียญนับครั้งไม่ถ้วนจึงจะได้ “ค่าเฉลี่ย” ตามข้อสรุป แต่ในระหว่างนั้นหากโยนน้อยครั้ง โอกาสออกหัวอาจมีมากกว่าก้อยหรือเป็นไปในทางตรงกันก็เป็นได้ ดังนั้นจึงมีคนได้เสียเกิดขึ้นมากกว่าคนเท่าทุนแล้วแต่ว่าจะเลือกอยู่ในข้างที่ออกได้ถูกต้องมากน้อยเพียงใด

ทักษิณจึงมีพฤติกรรม “ชอบเสี่ยง” ตัวอย่างที่เห็นเป็นประจักษ์ก็คือนับตั้งแต่ถูกปฏิวัติก็ “แทงเบิ้ล” และเป็นฝ่ายแพ้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนจนกระทั่งถูกยุบไปในที่สุด การก่อความวุ่นวายเมื่อสงกรานต์ปี พ.ศ. 2552 ที่ว่ารุนแรงแล้วแต่ยังน้อยกว่าเมื่อปี พ.ศ. 2553 หรือการตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดเพื่อช่วยเหลือความผิดตนเองจากการเอา “คนนอก” เช่นสมัคร และเปลี่ยนมาเอา “คนใน” เช่นสมชายน้องเขย มาเป็น “ตัวแทน” จนในที่สุดก็มาเอาน้องสาวมาเป็น “ตัวเหมือน” ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2554

ทักษิณจึงเป็นผู้ที่มีความจำสั้น ไม่เรียนรู้ความผิดพลาดจากอดีตที่ผ่านมา และมีนิสัย “นักพนัน” อย่างแท้จริง

แม้ทักษิณจะเชื่อมั่นว่ามีงบประมาณเพื่อการได้เสียหรือสามารถ “แทงเบิ้ล” ได้ไม่จำกัด แต่ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นฝ่ายชนะเพราะเงินเยอะเสมอไป ในความเป็นจริงไม่มีผู้ใดที่สามารถมีเงินเพียงพออย่างไม่จำกัดที่จะมาลงเงินพนันเพื่อหวังเอาชนะในระยะยาวตามทฤษฎีของความน่าจะเป็นได้ไม่

ความพ่ายแพ้ของทักษิณจึงเกิดขึ้นเพราะความด้อยเขลาในปัญญาที่ไม่มีดวงตาแห่งธรรมต่างหาก

พระรักเกียรติผู้ต้องคดีในความผิดเช่นเดียวกับทักษิณและรับโทษไปเรียบร้อยแล้วนั้นได้เคยกล่าวเป็นสัจวาจาไว้ว่า หากรู้พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและนำไปปฏิบัติก็จะไม่มีวันต้องพบกับชะตากรรมเหมือนเช่นอดีตเมื่อเป็นนายรักเกียรติ

ทักษิณชอบอ้างคำพระเอาไว้ข่มผู้อื่นหรือสร้างภาพ แต่ไม่เคยคิดเอาคำพระมาปฏิบัติหรือใช้กับชีวิตประจำวันของตนเองแม้แต่น้อย เพราะหากน้อมรับเอามาปฏิบัติก็จะไม่เป็นผู้ที่มีความจำสั้นไม่เรียนรู้ความผิดพลาดจากอดีตเช่นที่ผ่านมา

หากไม่ทำผิดซ้ำสอง นั่นก็คือไม่ทำในสิ่งที่ผิดอีกครั้ง หรือหันกลับมาทำในสิ่งที่ถูก ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ที่เรียนรู้ความผิดพลาดจากอดีตที่ผ่านมา องคุลิมาลแม้ฆ่าคนมาแล้วมากมาย แต่เมื่อกลับตัวกลับใจก็มีดวงตาแห่งธรรมบรรลุความจริงได้

อะไรคือ “ความผิดพลาด” ของทักษิณที่ไม่เคยจำหรือเรียนรู้ ตอบอย่างง่ายๆ ก็คือ การไม่ละอายต่อบาปหรือไม่มีหิริโอตตัปปะนั่นเอง เป็นหลักธรรมข้อที่ง่ายที่สุด แต่ผู้ปกครองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดมากกว่ากฎหมายที่มีอยู่เสียอีก

เหตุการณ์หลังเลือกตั้ง 3 ก.ค. 54 นี้จะซ้ำรอยอดีตที่ผ่านมาในยุคสมัคร สมชาย หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับทักษิณว่าจะมีดวงตาเห็นธรรมหรือไม่ แต่ดูท่าทางและพฤติกรรมแล้วน่าจะเป็นอย่างที่ใครบางคนเคยกล่าวไว้ว่า “ทักษิณ มันหมดบุญแล้ว” จริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น