xs
xsm
sm
md
lg

การเข้าถึงความยุติธรรมในเรื่องสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

ผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ภาวะโลกร้อน เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศนิวซีแลนด์และประเทศญี่ปุ่น ปัญหาหมอกควันภูเขาไฟในประเทศแถบยุโรป ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนผิดปกติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และคลื่นสึนามิ เป็นต้น ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อประชาคมโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นเหตุให้ทั่วโลกหันมาสนใจและให้ความสำคัญแก่สิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน หลายประเทศมีการรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวกับวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม

หลายประเทศให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการกำหนดเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐภาคีที่จะให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทร่วมกันกับรัฐ ดังเช่น อนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมสาธารณะในการตัดสินใจ และการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม ค.ศ.1998 หรือ The Convention on Access to Information, Public Participation in Decision-Making and Access to Justice in Environmental Matters (อนุสัญญาอาร์ฮูส) ซึ่งปัจจุบันมีรัฐภาคีทั้งหมด 44 ประเทศ แต่ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นรัฐภาคีสมาชิก

อนุสัญญาดังกล่าวมีแนวคิดในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างการคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อม กับหลักสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเข้าด้วยกัน เนื่องจากโดยหลักแล้วประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และในขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการคุ้มครองและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้สามารถคงอยู่ในสภาพดังกล่าว

อนุสัญญาอาร์ฮูสได้กำหนดหลักการสำคัญในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยหลักการที่สำคัญสามประการ ได้แก่ การสนับสนุนให้มีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม (Access to Information) การสนับสนุนให้ประชาชนหรือสาธารณชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโครงการอันอาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Public Participation) และการเข้าถึง ความยุติธรรมในคดีและข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อม (Access to Justice)

รัฐภาคีมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาอาร์ฮูส หากไม่ปฏิบัติตามรัฐภาคีอื่นๆNGO หรือประชาชน สามารถที่จะร้องขอให้คณะกรรมการกำกับดูแลการปฏิบัติตามอนุสัญญาอาร์ฮูส พิจารณาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่นคดีที่องค์กรภาคเอกชน Green Salvation ร้องขอข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอในการนำเข้าและทิ้งกากนิวเคลียร์ของต่างชาติ จาก Kazatomprom (บริษัทพลังงานปรมาณูแห่งประเทศคาซัคสถาน) แต่คำขอดังกล่าวถูกปฏิเสธจากหน่วยงานดังกล่าว โดยอ้างว่าภายใต้ระเบียบปฏิบัติที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศคาซัคสถาน บุคคลที่ร้องขอข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐต้องให้เหตุผลประกอบคำขอว่าเหตุใดจึงต้องการข้อมูลนั้น ซึ่งคณะกรรมการฯพิจารณาแล้วเห็นว่าข้ออ้างของหน่วยงานดังกล่าวมีลักษณะที่ขัดต่ออนุสัญญาอาร์ฮูส มาตรา 4 วรรค 1(a) ที่ระบุอย่างชัดแจ้งว่าผู้ร้องขอให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องเสนอเหตุผลประกอบคำขอ

สำหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้านการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม มาตรา 56 และ 57 กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น รวมถึงข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน มาตรา 66 และ 67 กำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน อีกทั้งยังได้บัญญัติรับรองถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน

การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 28 ว่าบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติดังกล่าวเพื่อขอใช้สิทธิทางการศาล หรือยกเป็นข้อต่อสู้ได้ นอกจากนี้ มาตรา 67 ยังได้บัญญัติถึงสิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อม

คดีที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมของไทย ได้แก่

คำวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการตรวจสอบโรคระบาดไก่ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 คณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย มีมติให้กรมปศุสัตว์เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ผู้อุทธรณ์ร้องขอทุกรายการให้แก่ผู้อุทธรณ์ สำหรับข้อมูลข่าวสารรายการที่ 4 ให้เป็นดุลยพินิจของกรมปศุสัตว์ที่จะลบชื่อแพทย์ สัตวแพทย์ และเจ้าของฟาร์มที่ได้รับการตรวจโรค หรือข้อความที่อาจทำให้รู้ถึงตัวบุคคลดังกล่าว (คำวินิจฉัยที่ สค 93/2547)

กรณีคดีปกครองที่มูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งมีวัตถุประสงค์ด้านการจัดการปัญหามลพิษได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองว่าองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม และศาลได้พิพากษาให้ ขสมก. และรถร่วมบริการต้องส่งรายงานผลการตรวจสอบสภาพรถต่อศาลทุก 3 เดือน

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้นการส่งเสริมสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนในการตรวจสอบกรณีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกรณีอันอาจเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญและเป็นการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น