xs
xsm
sm
md
lg

เร่งกู้เรือน้ำตาล ทนายฯแนะฟ้อง คดีสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กรมเจ้าท่าฯ คาดกู้เรือน้ำตาลล่มได้ในวันที่ 4 มิ.ย.พร้อมเร่งนำกระสอบทรายตลอดแนวกันตลิ่งพังเพิ่ม ยอมรับรุนแรง ผลกระทบวงกว้างล่าสุดถึงปากเกร็ดแล้ว สภาทนายฯ แนะฟ้องเป็นคดีสิ่งแวดล้อม "อภิสิทธิ์" ดึงเข้า ครม.อนุมัติงบช่วยชาวบ้าน กรมอนามัยชี้ห้ากินห้ามใช้น้ำแต่ปลาตายกินได้

นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ จท.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเรือบรรทุกน้ำตาลล่มที่ จ.พระนครศรีอยุธยาอย่างต่อเนื่อง โดยจะพยายามกู้เรือขึ้นมาให้ได้ภายในช่วงบ่ายของวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน หรืออย่างช้าก็จะเป็นช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน เพื่อให้ทุกอย่างเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ซึ่งยอมรับว่าการดำเนินการที่ล่าช้าเพราะเรือไม่ได้บรรทุกน้ำตาลใส่ไว้ในกระสอบเหมือนกับเรือบรรทุกข้าวสารที่เกิดจมลงก่อนหน้านี้ จึงส่งผลให้การขนย้ายมีความยากลำบากมากกว่า ในขณะที่น้ำตลาดเมื่อถูกน้ำก็เกิดการละลาย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ รุนแรงมากกว่าเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำตาลล่มที่จังหวัดอ่างทองเมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน เพราะในครั้งนั้นมีน้ำตาลอยู่ในเรือเพียงเล็กน้อย จึงไม่ส่งผลกระทบมาก แต่ในครั้งนี้มีน้ำตาลอยู่ในเรือถึง 2,400 ตัน ผลกระทบจึงขยายวงกว้างมากกว่า โดยเห็นว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความผิดปกติของน้ำในปีนี้ที่มีมากกกว่าทุกปี กระแสน้ำจึงเชี่ยวจนส่งผลให้เรือวิ่งไปชนตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำ และเกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำกัดเซาะตลิ่ง จนทำให้ชาวบ้านริมแม่น้ำได้รับความเดือดร้อน และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการรั่วไหลของน้ำตาลลงไปในแม่น้ำ

จนทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมากซึ่งในส่วนของกรมเจ้าท่า ได้เข้าไปดำเนินการเพื่อลดผลกระทบน้ำกัดเซาะบริเวณตลิ่งโดยได้นำกระสอบทรายทิ้งลงไปในแม่น้ำบริเวณริมตลิ่งเพื่อลดการกัดเซาะของน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ก่อนที่จะนำเรือขึ้นมาจากจุดที่จมลงไปได้

สำหรับ ขั้นตอนแรกการกู้เรือนั้น ขั้นแรกคือ การนำน้ำตาลที่มีอยู่ในเรือออกมาให้หมด ด้วยการนำเรือเปล่าเข้าไปขนน้ำตาล แต่การดำเนินการในช่วงแรกก็เกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากน้ำตาลได้ละลายกลายเป็นของเหลว การนำเรือเปล่าเข้าไปขนน้ำตาลออกมาจึงมีปัญหาพลิกคว่ำ หลังจากนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีใหม่ด้วยการนำทรายถ่วงเรือเปล่าเข้าไปก่อนหลังจากนั้นจึงนำน้ำตาลใส่เข้าไปในเรือและขนออกมาได้

ในส่วนของความผิดนั้น ที่ผ่านมาจังหวัดปทุมธานี ในฐานะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของเรือแล้ว ดังนั้นทาง จท.จึงไม่ต้องแจ้งความเพราะจะซ้ำซ้อนกัน แต่จะมีการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากอะไร หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นความประมาทของคนขับเรือก็อาจถึงขั้นยึดใบอนุญาตขับเรือ ซึ่งในเรื่องนี้ต้องพิจารณาตามกฎหมายที่มีอยู่ก่อน ส่วนแนวทางการฟื้นฟูหลังจากนำเรือขึ้นมาได้แล้ว ได้ขอความร่วมมือกับกรมประมงให้เข้ามาช่วยดำเนินการในเรื่องดังกล่าว พร้อมกับตรวจสอบสภาพแวดล้อมในพื้นที่ เพื่อดำเนินการแก้ไขให้เป็นปกติต่อไป

“หน้าที่ของ จท.ในตอนนี้ คือ ต้องพยายามป้องกันไม่ให้ตลิ่งพังเพิ่ม โดยจะมีการซ่อมแซมในบางจุดเพื่อลดผลกระทบก่อน ส่วนการรั่วไหลของน้ำตาลที่ส่งผลกระทบกับสัตว์น้ำนั้น ล่าสุดพบว่าไปถึงปากเกร็ดแล้ว”

***สภาทนายแนะฟ้องเป็นคดีสิ่งแวดล้อม

ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง โฆษกสภาทนายความ กล่าวว่า อุบัติเหตุครั้งนี้ถือว่าเป็นคดีสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นกรณีเรือบรรทุกน้ำตาลเป็นผู้ก่อมลพิษลงในน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากในหลายจังหวัด ที่แม่น้ำไหลผ่าน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และ สมุทรปราการ โดยความเสียหายเรื่องนี้จึงแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนคดีอาญา ความผิดฐานกระทำโดยประมาท กับ ส่วนคดีแพ่ง แบ่งเป็นคดีละเมิด กับคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรียกค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยได้

โฆษกสภาทนายความ กล่าวว่า ในส่วนความผิดฐานประมาทต้องพิสูจน์ว่าเจ้าของเรือได้กระทำโดยประมาทหรือไม่ คือ มีการตรวจสอบความพร้อมของเรือ ซึ่งมีการควบคุมไม่ให้บรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนท้องที่ได้

“ส่วนคดีทางแพ่ง ต้องฟ้องร้องต่อศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม หรือศาลจังหวัดอยุธยา โดยหากฟ้องเป็นคดีละเมิดธรรมดา ภาระการพิสูจน์จะตกแก่ชาวบ้าน โดยจะต้องชี้ให้ศาลเห็นว่าเหตุที่น้ำเสีย ปลาตาย เกิดจากเรือน้ำตาลล่ม แต่หากฟ้องเป็นคดีสิ่งแวดล้อม ภาระการพิสูจน์จะตกแก่ฝ่ายเจ้าของเรือทันที โดยในคดีจะมีพยานผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้เบิกความประกอบ และคดีสิ่งแวดล้อมสามารถเรียกค่าเสียหายในอนาคตได้ โดยสภาทนายพร้อมจะให้ความช่วยเหลือกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบในการฟ้องร้องดำเนินคดี” โฆษกสภาทนายความกล่าว

**"มาร์ค" นำเข้า ครม.อนุมัติงบช่วยชาวบ้าน

เมื่อเวลา 15.45 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาที่ ซอยภูเขาทอง 10 อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยาเพื่อตรวจเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม ทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก ขณะที่ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำก็ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากกระแสน้ำได้กัดเซาะตลิ่ง โดยมีนาย สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายงานสถานการณ์ล่าสุด โดยนายสุวิทย์ระบุว่า ทางกรมเจ้าท่าจะสร้างเขื่อนกั้นให้ชาวบ้านและสร้างที่ดินคืนให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ว่า ตนได้สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนการกู้ซากเรือคงจะต้องเลื่อนไป 2 วันเนื่องจากกระแสน้ำยังพัดแรง และก็ยังเป็นห่วงความปลอดภัยของชาวบ้านด้วย โดยหลังจากนี้จะนำข้อมูลเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อดูมาตรการเยียวยาและชดเชย แต่ยังพบข้อติดขัดเรื่องกฎหมายอยู่ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ จึงต้องพิจารณาดูว่าจะนำเงินส่วนไหนมาเยียวยาได้หรือไม่

***กรมอนามัยชี้น้ำเสียแต่ปลาตายกินได้

จากกรณีที่ เรือบรรทุกน้ำตาลจมในแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยาจ.พระนครศรีอยุธยา จนส่งผลให้ปลาตายจำนวนมากนั้น ล่าสุดวานนี้ (3 มิ.ย.) นายพิษณุ แสนประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ผลกระทบหลักจากเหตุการณ์ครั้งนี้ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนประเด็นผลกระทบทางด้านสุขภาพนั้น หากพิจารณาข้อมูลตามข่าวที่ผ่านมาจะพบว่า ปลาตายเพราะขาดออกซิเจน เนื่องจากน้ำตาลไปเกาะกลุ่มกันจนทำให้มวลออกซิเจนในน้ำน้อยลง ซึ่งหากมาจากสาเหตุนี้ปลาที่ตายทั้งหมดก็ถือว่าขาดออกซิเจนอย่างเดียว ดังนั้น โดยหลักการหากนำปลามาทำให้สุกก็สามารถบริโภคได้ แต่ในกรณีนี้ตนไม่แน่ใจว่า สาเหตุที่ปลาตายเพราะขาดออกซิเจนอย่างเดียวหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สำหรับน้ำที่ขาดออกซิเจนนั้น จะถือว่าเป็นน้ำเสีย ยิ่งหากบริเวณนั้นสภาพน้ำไม่สะอาดเพียงพอก็จะถือว่าเป็นน้ำที่ไม่สมบูรณ์ มีความสกปรก จึงไม่ควรบริโภค แม้แต่อาบก็อาจส่งผลให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนังได้เช่นกัน ทางที่ดีต้องรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเติมออกซิเจนให้น้ำบริเวณดังกล่าวกลับคืน

ล่าสุดผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำ 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางไทร พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. มีดีโอ ค่าต่ำสุด 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร และเริ่มสูงขึ้นเป็น 1.6 มิลลิกรัมต่อลิตร ในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ ล่าสุดวันที่ 3 มิ.ย. ค่าดีโอเพิ่มเป็น 1.9 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนที่สถานีสำแล จ.ปทุมธานี วันที่ 2 มิ.ย. 1.6 มิลลิกรัมต่อลิตร และลดลงเหลือ 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร

ส่วนที่สถานีกรุงเทพ วันที่ 3 มิ.ย. ค่าดีโอ 1.7 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรี ช่วยกันระดมเพิ่มออกซิเจนให้แหล่งท่องเที่ยวที่มีปลา พร้อมเตือนชาวบ้านริมน้ำ ขณะที่กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำช่วยปัญหาน้ำเสียอย่างเร่งด่วนแล้ว

ล่าสุด ได้ประกาศให้ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน และ อ.บางไทร เป็นเขตภัยพิบัติทางน้ำ และมวลน้ำก้อนนี้ยังส่งผลไปถึง จ.ปทุมธานี และนนทบุรีแล้ว ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบเร่งแก้ไขโดย เร็ว เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. เจ้าของเรือได้นำเรือเปล่าขนาดใหญ่ยาวประมาณ 40 เมตรเทียบเรือน้ำตาลที่จมและใช้เครื่องสูบน้ำเร่งสูบน้ำตาลออกจากเรือไปใส่ ลำที่จอดเทียบอย่างเร่งด่วน จนใกล้จะเต็มเรือ ทำให้น้ำตาลทรายที่เหลืออยู่ในเรือที่จมประมาณ 1 ใน 4
นายละออ พาลีขำ อายุ 65 ปี ชาวบ้าน บอกว่า ให้เจ้าหน้าที่ช่วยเร่งแก้ไขโดยเร็ว อย่ามัวแต่พูด นี่ก็ 3 วันแล้ว กระแสน้ำเริ่มพัดเข้ามา ส่วนการช่วยเหลืออย่างอื่น มีแต่ อบต.นำอาหารมาให้ และท่านผู้ว่าได้จ่ายค่าไฟฟ้าให้เพียงเท่านั้น และในเบื้องต้นตนได้ไปแจ้งความไว้แล้ว เพื่อเรียกค่าเสียหายต่อไป แต่คืนนี้ต้องนอนผวาอีกคืน

ขณะที่ พ.ต.อ.สมบัติ ชูชัยยะ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา สั่งการให้ พ.ต.ต.จักรพันธ์ ธูปเตมีย์ พนักงานสอบสวน ลงพื้นที่ ต.ภูเขาทอง ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุเรือน้ำตาลล่ม เพื่อรับแจ้งความจากชาวบ้าน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวแทนอำเภอพระนครศรีอยุธยา ตัวแทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนกรมเจ้าท่า ตัวแทนสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ตัวแทนประมงจังหวัดฯ ให้ร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิดกับคนที่ทำให้เกิดความเสียหายกับชาวบ้าน และสิ่งแวดล้อมในลำน้ำเจ้าพระยา พนักงานสอบสวน กล่าวว่า มีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนมาแจ้งความประมาณ 7 รายแล้ว และทั้งหมดได้ลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน.
กำลังโหลดความคิดเห็น