xs
xsm
sm
md
lg

โครงการ นปร.ฯ (สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี + ก.พ.ร.)

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

เมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่ผ่านมา “แสงแดด” ได้เดินทางร่วมสังเกตการณ์การทำงานของ “โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 5 (นปร.)” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การดูแลร่วมของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักนายกรัฐมนตรีกับสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ธรรมาภิบาล) ทั้งนี้ สถาบันฯ เป็นองค์กรมหาชน อยู่ภายใต้สำนักงาน ก.พ.ร. โดยได้เดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่

จำนวน “ข้าราชการ ก.พ.ร.” ที่เพิ่งได้รับการสอบคัดเลือกทั้งสอบข้อเขียนและการสอบสัมภาษณ์ จากจำนวนที่ตั้งไว้ 60 คน โดยเป็นมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2548 ด้วยการ “คัดสรร” กลุ่มบุคคลที่ทั้งจากภาคราชการและภาคเอกชน โดยมุ่งเน้นเฉพาะกับผู้ที่สำเร็จระดับปริญญาโท อายุไม่เกิน 30 ปี และระดับปริญญาเอก อายุไม่เกิน 35 ปี โดยปี 2554 ทางสถาบันฯ ได้เปิดรับสมัครเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ แล้วดำเนินการสอบคัดเลือก โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีผู้ผ่านการสอบคัดเลือก 40 กว่าคนเท่านั้น แต่มีผู้สมัครใจมารับราชการกับโครงการ นปร.เพียง 37 คน คล้ายๆ กับ รุ่น 1-รุ่น 4

การเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม และมาจบเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม 2554 ด้วยการส่งบรรดา “นักเรียน-ข้าราชการ ก.พ.ร.” ไปยัง 3 อำเภอ กล่าวคือ อำเภอแม่แตง อำเภอจอมทอง และอำเภอสันป่าตอง ด้วยความร่วมมือกำกับดูแลโดยตรงจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ “ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล”

ตลอดระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่บรรดาเหล่าข้าราชการ ก.พ.ร.ได้กระจัดกระจายไปทั่วสามอำเภอนั้น ต่างได้ปฏิบัติภารกิจหน้าที่อยู่กินนอนกับชาวเขาและชาวบ้าน น่าจะประมาณ 10 กว่าคนต่ออำเภอ ทั้งนี้ การอยู่ร่วมกันกับชาวเขาและชาวบ้านนั้น ได้รับการตอบรับอย่างดีมาก และที่มากไปกว่านั้น คือ บรรดาบ้านที่พักนั้นส่วนใหญ่มีแอร์คอนดิชั่น และห้องน้ำที่สะอาดสะอ้าน เรียกว่า อยู่ดีกินดีก็แล้วกัน แต่อาจจะมีบางรายเท่านั้นที่อยู่ใน “สภาพดิบ” ที่ไม่มีแอร์คอนดิชั่นกับห้องน้ำที่ใช้ได้ดี ซึ่งบังเอิญเป็นกลุ่มหมู่บ้านที่อยู่บนดอย

อย่างไรก็ตาม บรรดาข้าราชการ ก.พ.ร.ไม่มีใครบ่นสักคำเดียว ต่างยิ้มแย้มและยอมรับสภาพจริงของการดำเนินชีวิตของชาวเขาและชาวบ้านตลอดหนึ่งสัปดาห์เต็ม ขอย้ำว่า “ไม่มีใครบ่นแม้แต่แอะเดียว!” ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของทั้งสำนักงาน ก.พ.ร.และสถาบันฯ ตลอดจนข้าราชการของจังหวัดเชียงใหม่อย่างมาก

การที่บรรดาข้าราชการ ก.พ.ร.ที่กระจัดกระจายอยู่ทั้ง 3 อำเภอนั้น ต่างได้รับหน้าที่ในการปฏิบัติงานร่วมกับชาวบ้านและชาวเขา โดยที่ข้าราชการ ก.พ.ร.ทุกคนจะต้องทำการศึกษาและรวบรวมสภาพอุปสรรคปัญหา และความต้องการของชาวเขาชาวบ้านทั้ง 3 อำเภอ ด้วยการนำเสนอเป็นรายงานแจ้งแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนนายอำเภอทั้ง 3 อำเภอ

จากการลงพื้นที่ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจอมทอง อำเภอสันป่าตอง และอำเภอแม่แตง ต่างได้พบปัญหาต่างๆ ดังนี้คือ

“ปัญหาด้านชุมชนและสังคม” เช่น ปัญหาด้านอาชญากรรม ปัญหาเส้นทางผ่านของการขนส่งยาเสพติด ปัญหาการให้บริการทางสาธารณสุขไม่ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล ปัญหาการขาดโอกาสทางด้านการศึกษา ปัญหาชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีสัญชาติไทยไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการพื้นฐานของรัฐ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการอพยพของแรงงานจากชุมชนไปยังเมืองใหญ่ และปัญหาการขาดระบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ

“ปัญหาด้านเศรษฐกิจ” ที่สอดคล้องกับความจริงของปัญหาความไม่แน่นอนทางรายได้ของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปัญหาความไม่สมดุลระหว่างรายรับ-รายจ่าย ปัญหาด้านหนี้สินและปัญหาประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ในการบริหารจัดการที่จำเป็น

“ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน” ได้แก่ ปัญหาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นระบบการสัญจร ระบบการส่ง ระบบประปา ระบบไฟฟ้าเฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น

“ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม” เช่น ปัญหาการบุกรุกผืนป่าในพื้นที่อุทยาน ปัญหาขยะมูลฝอย ปัญหาการขาดวางแผนเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

“ปัญหาด้านองค์กร” เช่น ปัญหาการขาดการประสานงานระหว่างชุมชนและหน่วยงานของรัฐ ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม จังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ เนื่องจากมีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีภูมิทัศน์และอัตลักษณ์ล้านนา ที่สามารถส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นจุดขายสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ มีแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่นและมีผู้นำในชุมชนที่มีความเข้มแข็ง

“ทัศนคติและการรับรู้ที่มีต่อระบบราชการ ข้าราชการ และนโยบายของรัฐบาลของประชาชนในพื้นที่ และผู้นำชุมชน” นโยบายที่รัฐให้กว้างจนเกินไป การใช้ตัวชี้วัดมาตรฐานโครงการที่ไม่เอื้ออำนวยกับการปฏิบัติหน้าที่หลัก ขาดการจัดลำดับความสำคัญของโครงการในการมอบหมายให้พื้นที่ อีกทั้งบางโครงการไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ และขาดการสานต่อ

“การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่” ภาครัฐต้องรับฟังความเห็นของประชาชน ก่อนการจัดทำนโยบาย รัฐต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนแผนที่แน่นอน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้ควรมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง รัฐจำเป็นต้องสื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชน และรัฐต้องเน้นการสร้างภาพลักษณ์อันดีของภาครัฐ

สุดท้ายนี้ภาครัฐต้องสร้างธรรมาภิบาลในการทำงานอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของ “ข้าราชการยุคใหม่” ที่เหล่าบรรดาข้าราชการ ก.พ.ร.ที่เป็นกลุ่มบุคคลยุคใหม่ที่ต้องมุ่งเน้นไปที่การทำงานร่วมกับ “ภาคประชาชน” สอดคล้องกับ “แนวคิดการบริหารยุคใหม่ (New Public Management : NPM)”

อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่า “โครงการ นปร.ฯ” ได้ดำเนินการร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ที่น่าจะนำประโยชน์ไปใช้กับ “การพัฒนาระบบราชการยุคใหม่”
กำลังโหลดความคิดเห็น