ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผู้ว่าฯ เชียงใหม่นำทีมถกตัวแทนต่างประเทศ เหตุนักท่องเที่ยวเสียชีวิตคาโรงแรมกลางเมืองเชียงใหม่ แจงละเอียดกระบวนการทำงานที่ผ่านมา-แผนงานในอนาคต เผยต่างประเทศพอใจหลังรับทราบการดำเนินงาน ชี้ยังระบุเวลาสรุปแน่นอนไม่ได้แต่ทำงานเต็มที่จนกว่าจะจบ พร้อมเล็งขอความร่วมมือผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสืบหาสาเหตุต่อ
วันนี้ (12 พ.ค.54) ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ หม่อหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข นพ.วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และ ดร.ทพ.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประชุมร่วมกับ Mr. Todd Cleaver ซึ่งเป็น Deputy Head of Mission จากสถานทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย พร้อมด้วยกงสุลและตัวแทนกงสุลอีกหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส แคนาดา เพื่อชี้แจงและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบหาสาเหตุการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยว ซึ่งเสียชีวิตในห้องพักของโรงแรมดาวน์ทาวน์ อินน์ ย่านไนต์บาซาร์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ภายหลังจากเกิดกรณีการเสียชีวิตหลายรายติดต่อกันในโรงแรมดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำงานสืบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวมาโดยตลอด แต่ปรากฏสื่อมวลชนในประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังคงมีการนำเสนอข่าวในเชิงตำหนิการทำงานของหน่วยงานไทยในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลระทบต่อภาพลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทย โดยเฉพาะการเสนอข่าวครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่ามีการพบสาร “คลอร์ไพริฟอส” ซึ่งใช้เป็นยาฆ่าแมลงในห้องพักของโรงแรมที่เกิดเหตุ และอ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญว่าสารเคมีดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของนางสาวซาราห์ คาร์เตอร์ นักท่องเที่ยวชาวนิวซีแลนด์
การประชุมดังกล่าวซึ่งมีตัวแทนฝ่ายไทยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับตัวแทนจากต่างประเทศใช้เวลาประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง ก่อนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา นายแพทย์สวาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่จะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่มาติดตามรอทำข่าวดังกล่าว
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า การประชุมร่วมกันในครั้งนี้เป็นการรายงานให้ตัวแทนจากประเทศต่างๆ ได้รับทราบว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวจนถึงขณะนี้ ทางการไทยและจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ดำเนินการสืบสวนหาสาเหตุของกรณีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยในการประชุมได้มีการายงานขั้นตอนการทำงานต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และกำลังจะดำเนินการต่อไปในอนาคตให้ตัวแทนจากประเทศต่างๆ ได้รับทราบ ซึ่งตัวแทนจากประเทศต่างๆ ก็ไม่ได้มีข้อติดใจสงสัยในกระบวนการทำงานของทางการไทยและจังหวัดเชียงใหม่แต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็ได้มีการหารือเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปแบบของการนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาร่วมตรวจสอบหรือให้ความเห็นเพิ่มเติม
“ที่ผ่านมาเราไม่ได้นิ่งเฉยกับเรื่องดังกล่าว แต่ว่าได้ทำงานไปแล้วเยอะมาก ทางสาธารณสุขจังหวัดเองก็ต้องทำการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์คุยกับผู้เชี่ยวชาญโดยตลอด จนกระทั่งในการรายงานต่อประชุม ตัวแทนจากต่างประเทศยังยอมรับว่าไทยเราได้ทำงานไปแล้วมากมาย ซึ่งแสดงออกถึงความจริงใจของเราที่ต้องการจะทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง ไม่ได้ต้องการจะปกปิดซ่อนเร้นแต่อย่างใด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบทั้งต่อการท่องเที่ยวและชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศ ดังนั้นกรณีการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นให้ได้”
ขณะที่ ดร.ทพ.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ความคืบหน้าเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวทั้งหมดนั้นถือว่าคืบหน้ามากกว่า 50% แล้ว อย่างไรก็ตามยังคงต้องรอความชัดเจนจากอีกหลายด้าน ทั้งจากการยืนยันผลการตรวจสอบต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไป และการขอคำยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เนื่องจากกรณีการเสียชีวิตทั้งหมดเป็นเรื่องที่ยากและมีความซับซ้อน ประกอบกับตัวอย่างที่ใช้สำหรับการตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิตจากผู้ตายเหลืออยู่ไม่มาก จึงจำเป็นต้องมีการหารือและวินิจฉัยอย่างรอบคอบก่อนจะทำการตรวจสอบใดๆ ว่ามีโอกาสและความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน โดยในขณะนี้ได้กำหนดสมมติฐานที่น่าจะมีความเป็นไปได้ต่อการเสียชีวิตไว้ 3 ประเด็นคือ การติดเชื้อ สารเคมี และสิ่งแวดล้อม
ด้านนพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า การสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวคงไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบและวินิจฉัยอีกมาก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ดำเนินการไปแล้วในหลายๆ ด้าน ซึ่งจากการประชุมหารือในครั้งนี้ได้มีการเสนอแนะถึงความร่วมมือจรากต่างประเทศหรือหน่วยงานอื่นๆ ในการร่วมกันหาสาเหตุ โดยได้เตรียมที่จะขอความร่วมมือจากองค์การอนามัยโลกในการเข้ามาให้คำแนะนำและร่วมตรวจสอบ รวมทั้งจะมีการนำผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามาร่วมในการตรวจสอบด้วย
นอกจากนี้ นพ.วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ยังได้กล่าวถึงกรณีของสาร “คลอร์ไพริฟอส” ซึ่งถูกอ้างอิงว่าอาจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวว่า สารเคมีดังกล่าวองค์การอาหารและยาอนุญาตให้ใช้เฉพาะในรูปแบบน้ำสำหรับการกำจัดแมลง โดยเฉพาะปลวก ซึ่งการใช้งานนั้นจะต้องนำมาผสมน้ำอีกครั้งเพื่อใช้เทราดตามบริเวณที่ต้องการ แต่ไม่มีในรูปแบบสเปรย์หรือนำมาใช้ฉีดพ่นภายในห้องแต่อย่างใด ส่วนสเปรย์กำจัดปลวกหรือแมลงที่มีวางจำหน่ายในรูปแบบสเปรย์นั้นก็เป็นสารเคมีตัวอื่นซึ่งไม่ใช่คลอร์ไพริฟอสเช่นกัน