xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายถึงอาจารย์ป๋วย เรื่องยึดอำนาจ (3)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

มีนาคม 2534
อาจารย์ ที่เคารพ

เหตุผลที่คนไทยเป็นทองไม่รู้ร้อนกับการยึดอำนาจ หรือไชโยโห่ร้องชอบใจเสียอีก น่าจะมีอยู่หลายอย่าง และบางอย่างก็ช่างไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย เป็นต้นว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยสาวคนหนึ่งจบรัฐศาสตร์เกียรตินิยมจากจุฬาฯ และปริญญาโทจากซีราคิวส์ เธอบอกว่าวันนี้เธอมีความสุขเหลือเกินที่รัฐบาลชาติชายยุติ เพราะเธอไม่อยากแสลงตาดูคุณหญิงคุณนายของรัฐมนตรีออกมาจุ้นอีก

แต่ผมว่ายังมีเหตุผลทางสังคมและจิตวิทยาอยู่อย่างน้อยอีก 2 ประการ ที่มีความสำคัญต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทย รวมทั้งการยึดอำนาจคราวนี้

หนึ่ง สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจนิยม ทหารจึงเป็นพระเอกของประชาชน ทหารคณะที่ยึดอำนาจ ประกอบด้วยผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพ แต่ก็ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งประจำนานจนรากงอกเหมือนยุคก่อน 14 ตุลาคม โอกาสที่ชั้นรองๆ ลงมาจะขึ้นสู่ยอดและลดหลั่นกันยังเปิดกว้าง ความอึดอัดอุดตันที่เคยสะสมในกองทัพจนกระทั่งระเบิดในยุคถนอม-ประภาสจึงไม่มี

เมื่อพล.อ.เปรมต่ออายุ แม้จะเป็นคนเดียวและระยะสั้นมาก เมื่อเทียบกับจอมพลถนอม จอมพลประภาส ก็ยังสร้างความแตกร้าวในกองทัพ จนกระทั่งฐานของพล.อ.เปรมเอง คือยังเติร์ก จปร. 7 ก่อกบฏ 1 เมษา เปิดโอกาสให้จปร. 5 รุ่นพล.อ.สุจินดา ซึ่งล้าหลังรุ่นน้อง พลิกกลับขึ้นมาครองโครงสร้างอำนาจในกองทัพบกและกองทัพอากาศซึ่งเป็นพันธมิตรรุ่นเดียวกัน ทหารรุ่นนี้แต่เดิมมิใช่ทหารการเมือง เพราะในสมัยจอมพลถนอม-ประภาสนั้น ก็ยังเป็นผู้น้อย ครั้นถึงยุค 6 ตุลาคม 19 ก็ถูกบดบังโดยบทบาทของยังเติร์ก จปร.7 จึงมิได้โคจรเข้ามาอยู่ในวงการเมือง จนกระทั่งปลายสมัยพลเอกเปรมและเพิ่งจะมาเบ่งบานเต็มที่ในสมัยพลเอกชาติชาย เวลาที่จะต้องตกเป็นเป้าสายตาและผ่านการตรวจสอบจากสาธารณชนจึงสั้น ไม่มีผู้ใดเพ่งผิด บทบาทของกองทัพกลายเป็นบวกขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อเปรียบเทียบกับบทบาทของรัฐบาล

พลเอกสุจินดาเป็นผู้นำเหล่าทัพคนเดียวที่ไม่ยอมพูดถึงเรื่องไม่ปฏิวัติ ในขณะที่แม่ทัพคนอื่นๆ พากันพูดว่าการปฏิวัติพ้นสมัยแล้ว แต่พลเอกสุจินดาบอกว่า กาลข้างหน้าปฏิวัติอาจจะจำเป็นเพื่อรักษาบ้านเมืองและความผาสุกของประชาชน เมื่อสื่อมวลชนยั่วให้ปฏิวัติ ผบ.ทบ.ก็ตอบว่า รอให้ประชาชนเขียนจดหมายมาเรียกร้องครบ 1 ล้านฉบับเสียก่อน

พลเอกสุจินดาเป็นคนพูดน้อย นานๆ จึงจะพูดสักครั้ง รุนแรงและตรงเป้าหมายขึ้นทุกที จนกระทั่งถึงกับพูดว่า “ทหารไม่ศรัทธารัฐบาล” ทหารอาชีพในประเทศประชาธิปไตย คงจะไม่มีวันพูดอย่างนี้ได้ หรือคงไม่มีโอกาสพูดเกินหนึ่งครั้ง ก่อนที่จะถูกปลด กล่าวกันว่าลึกๆ สาเหตุแห่งการยึดอำนาจก็เพราะคณะทหารกลัวจะถูกปลดอยู่เหมือนกัน กับทั้ง เด็กบ้านพิษหรือคณะที่ปรึกษาของพลเอกชาติชายที่ตั้งค่ายทำงานอยู่ที่บ้านพิษณุโลกดูจะสนิทสนมสมพงษ์กับ จปร. 7 โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลตรีมนูญ รูปขจรที่มีบทบาทเด่นในกลุ่มผู้ใกล้ชิดพลเอกชาติชาย

สอง ประชาชนชักหมั่นไส้นักการเมืองและสิ้นศรัทธารัฐบาล ทั้งนี้ก็มีเหตุอื่นด้วย เช่น ข้าวยากหมากแพง ชีวิตระกำลำบากยากจนลง ในขณะที่รัฐมนตรีคุยโขมงว่าหาเงินได้ปีละพันล้าน และท้าเอาแบงก์มาปูแข่งขันกันแทนการพิสูจน์เอทีเอ็ม เมื่อมีการกล่าวหา รมต.คนสำคัญๆ คอร์รัปชัน รัฐบาลกลับพลิกแพลงเล่นลิ้นบอกไม่มีใบเสร็จ แทนที่จะชี้แจงให้กระจ่าง เช่นเดียวกับการไม่รักษาสัจจะ ไม่รักษาความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพ จนทหารรู้สึกว่าถูกแบ่งแยกเพื่อปกครอง

นอกจากจะถูกฉีกหน้าเสียหน้าอยู่เนืองๆ แล้ว ผู้นำเหล่าทัพยังหวาดกลัวว่าตนจะถูกแขวนเสียตำแหน่ง การแต่งตั้งพลเอกอาทิตย์เป็น รมช.กลาโหมทั้งๆ ที่เป็นรองนายกฯ อยู่แล้วดูเหมือนจะเป็นฟางเส้นสุดท้าย เพราะทหารรู้สึกว่าพลเอกอาทิตย์ตีจากกองทัพเข้าไปสู่อ้อมกอดของการเมืองสุดตัวสุดวิญญาณ อีกหน่อยจะเป็นเครื่องมือฝ่ายการเมืองมาทิ่มแทงกองทัพ ก่อนการแต่งตั้ง มีสัญญาณเตือนว่าอย่ามีการโจมตีพลเอกอาทิตย์อย่างรุนแรง ถึงจะไม่ระบุชื่อก็รู้อยู่ว่าใครเป็นใคร นายกฯ ยังมาแต่งตั้งอีก เมื่อประชาชนเบื่อรัฐบาล และทหารกล้าโจมตีรัฐบาล ประชาชนก็ยิ่งชอบใจ

ประชาชนไทยถูกฝังหัวให้เกลียดนักการเมืองอยู่แล้ว ตามธรรมดาชาวบ้านไม่แยแสกับการเมืองนัก ถึงกับมีคำพูดแพร่หลายว่า เลือกใครไปเป็นผู้แทน ก็ไม่เห็นใครมาช่วยไถนาให้ ข้าวเปลือกก็ยังจะถูก ข้าวสารก็ยังจะแพง ราษฎรก็ยังยากจนทนทุกข์อยู่อย่างเดิม เพราะฉะนั้น ใครให้เงินมากก็หย่อนบัตรให้คนนั้นแหละ ประชาชนไม่เคยเห็นรัฐบาลที่ดี จึงไม่เคยคิดว่ารัฐบาลจะทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นได้ ที่แล้วมา รัฐบาลไหนๆ ก็เหมือนกัน เลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งก็เหมือนกันหมด พรรคการเมืองอะไรก็เหมือนกันหมด ดีแต่จะแย่งกันเป็นรัฐบาล เป็นแล้วก็เล่นไม่เลิก ทหารเสียอีกที่เลิกๆ เล่นๆ จังหวะไหนควรหลบก็หลบ บางยุคทหาร (คิดเอาเองว่าตน) ตกต่ำถึงกับหอบเครื่องแบบไปแต่งที่ทำงานก็มี

แท้ที่จริงคนไทยไม่เคยเกลียดทหารเลย เพราะตลอดเวลาทหารมีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดประชาชน เพราะกองทัพมีกำลังพล มีเครื่องไม้เครื่องมือ มีงบประมาณ และมีความยืดหยุ่นในทางบัญชี พอที่จะช่วยเหลือราษฎรในยามฉุกเฉิน หรือแม้แต่ในยามปกติ กับทั้งมีอิทธิพลที่จะคอยบริการพรรคพวกบริวารทั้งในเรื่องส่วนตัวและธุรกิจ เมื่อนักการเมืองมัวแต่หาเงินและวางก้ามทำเป็นเจ้านายของราษฎร (ที่เป็นข้าราชการ) ประชาชนก็เริ่มคิดถึงทหารอีก นี่เป็นข้อได้เปรียบของทหาร ตราบเท่าที่คนไทยยังไม่รู้จักแยกแยะและไม่มีทัศนะทางประวัติศาสตร์ ทั้งนี้จะเป็นความผิดของทหารก็หาไม่

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทั้งไทยและเทศต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการที่การเมืองไทยด้อยพัฒนาก็เพราะทหาร บ้านเมืองจึงได้ล้าหลังซังกะตายอยู่แบบนี้ ใน 59 ปีที่ผ่านมา เรามีรัฐบาลทหารหรือทหารเป็นผู้นำอยู่ถึง 50 ปี ไหนว่าทหารเก่ง หากเก่งจริง ป่านนี้บ้านเมืองเจริญไปถึงไหนๆ แล้วไม่ตกปลักจมน้ำคลำต่ำต้อยอยู่อย่างนี้หรอก

ผมเองอยากจะเชื่อแต่ยังไม่สนิทใจ ถึงจะจริงอยู่มาก แต่ไม่จริงทั้งหมด ดูจะเป็นแนวสรุปที่แอนตี้ทหารฝ่ายเดียว โดยไม่เข้าใจหลักวิทยาศาสตร์สังคมและธรรมะอิทัปปัจจยตาว่า ความเป็นไปในสังคมย่อมขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยทั้งหลายซึ่งเชื่อมโยงกัน ภายใต้เงื่อนไขเงื่อนเวลาที่เป็นพลัง จะหมุนไปข้างหน้าหรือหยุดอยู่กับที่ก็ตามแต่องค์ประกอบหนึ่งองค์ประกอบใดจะเป็นปัจจัยชี้ขาดหรือเกื้อหนุน แต่คนเดียว กลุ่มเดียวและฝ่ายเดียวคงจะมิใช่ มันไม่ตายตัวเหมือนสูตรเศรษฐคณิตศาสตร์ของอาจารย์ใช่ไหมครับ

ถ้าจะโทษ เราคงต้องเหมาทั้งระบบและตัวคน คือนักการเมืองทั้งทหารและพลเรือน นักวิชาการ และข้าราชการที่ชอบเป็นข้าทาสของนักการเมือง และสื่อสารมวลชนนักหนังสือพิมพ์ที่ขายตัว ทั้งหมดนี้เป็นคนทรยศต่อประชาชนและประเทศชาติ

                          ด้วยความเคารพและระลึกถึงยิ่ง

                              ปราโมทย์ นาครทรรพ
กำลังโหลดความคิดเห็น