xs
xsm
sm
md
lg

เลือกคนดีเข้าสภา : การพัฒนาประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในวันที่ 3 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ คนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนจะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยการไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ทั้งประเภทเขต และประเภทบัญชีรายชื่อ จำนวนรวมกัน 500 คน ส.ส.จำนวน 500 คนที่ว่านี้จะเข้าไปเป็นตัวแทนปวงชนเพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติ และส่วนหนึ่งจะเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศเป็นเวลา 4 ปีถ้าอยู่ครบเทอม

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป หรือแม้กระทั่งในการเลือกตั้งซ่อม สิ่งที่ประชาชนพึงกระทำเป็นประการแรกก็คือ การที่จะต้องเรียนรู้กฎเกณฑ์และกติกาในการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันมิให้ตนเองกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และในขณะเดียวกัน ช่วยเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องมิให้ผู้อื่นกระทำผิดในทำนองเดียวกันด้วย

เมื่อเรียนรู้กติกาการเลือกตั้งเท่าที่ประชาชนควรจะรู้แล้ว ลำดับต่อไปก็ควรที่จะต้องศึกษา และเรียนรู้นโยบายที่พรรคการเมืองนำมาเสนอในการปราศรัยหาเสียง เพื่อนำมาประกอบในการตัดสินใจเลือก และไม่เลือกพรรคใด โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

เมื่อทราบนโยบายของแต่ละพรรคดีแล้ว ก็มาถึงขั้นของการศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจากพรรคการเมืองแต่ละพรรค โดยเน้นไปที่ความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม จริยธรรมในการควบคุมหรือกำกับการใช้ความรู้ ความสามารถ โดยยึดความเป็นคนดีมีคุณธรรมก่อนความรู้ ความสามารถ และถ้าพบว่าเป็นคนดีและเป็นคนเก่งจึงจำเบอร์ไว้ เมื่อวันเข้าคูหาให้กาชื่อพรรคควบคู่ไปกับผู้สมัครในสังกัดพรรคนั้น เป็นการเลือกพรรคกับคนให้ตรงกัน อย่าเลือกพรรคและคนแยกกันจะทำให้โอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทางที่ดีนั้นมีน้อยลง หรือในทางที่ถ้ามีการเลือกในลักษณะนี้มาก จะเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตยด้วยซ้ำ

จริงอยู่มีอยู่บ่อยครั้งและในหลายๆ เขตเลือกตั้งที่ตัวบุคคล และพรรคที่ท่านต้องการเลือกไม่ตรงกัน กล่าวคือ คนที่ท่านเห็นว่าดีควรจะได้รับเลือก แต่กลับไปอยู่ในพรรคที่เห็นว่าไม่ควรเลือก ท่านจึงตัดสินใจเลือกคนแล้วเลือกพรรคตามคน การทำเช่นนี้ไม่ทำให้ประชาธิปไตยพัฒนา เพราะจะทำให้ ส.ส.ที่เข้าสภากระจายอยู่ในหลายพรรค ทำให้ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด จัดตั้งรัฐบาลได้ยาก และอยู่ได้ไม่นานเพราะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการต่อรองทางการเมืองเกิดขึ้น และทำให้พรรคแกนนำต้องเอาใจพรรคเล็กที่ร่วมรัฐบาลดังที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในรัฐบาลรักษาการอยู่ในขณะนี้

ถ้าจะให้ประชาธิปไตยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ควรจะเลือกอย่างไร?

ก่อนที่จะตอบประเด็นแห่งปัญหาข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูเส้นทางแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา จะอนุมานเหตุแห่งการทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ดังนี้

1. ระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้สืบเนื่องติดต่อกันยาวนานพอที่จะให้ระบบนี้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโดยตัวระบบเอง ทั้งนี้เนื่องจากว่ามีการทำรัฐประหารเป็นระยะสลับกับการปกครองแบบนี้ จึงทำให้ประชาชนไม่เห็นความสำคัญและได้รับประโยชน์จากการปกครองในระบอบนี้เท่าที่ควรจะเป็น จึงไม่ให้การปกป้องและคุ้มครองระบอบนี้จากการทำการปฏิวัติรัฐประหาร ครั้นปล่อยให้มีการเลือกตั้งก็มีการปกครองด้วยประชาธิปไตยครึ่งใบมากกว่าเต็มใบ คือ นายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แถมการจัดตั้งรัฐบาลในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีความอิสรเสรีพอในการจัดตั้งรัฐบาล แต่มักจะถูกแทรกแซงจากกองทัพเพื่อกำหนดตัวบุคคลในการรับตำแหน่งทางการเมือง รวมไปถึงการนำพรรคเล็กเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคที่เป็นแกนนำด้วย

2. ในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งในครั้งนี้ ประชาชนจะเลือกบุคคลมากกว่าเลือกพรรค จึงทำให้มีผู้ได้รับเลือกกระจายไปในหลายๆ พรรค ทำให้เกิดความยุ่งยากในการจัดตั้งรัฐบาล และยุ่งยากในการบริหารเนื่องจากพรรคร่วมมีอำนาจต่อรองสูง ดังจะเห็นได้ในรัฐบาลที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำอยู่ในขณะนี้ พรรคภูมิใจไทยถึงแม้จะเป็นเพียงพรรคร่วม แต่ก็ต่อรองเอากระทรวงสำคัญ เช่น กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคมไปครองได้ เป็นต้น

3. ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ไม่มีพรรคใดมีนโยบายชัดเจน และแตกต่างกันอย่างเป็นรูปธรรม แต่จะเป็นไปในทางเดียวกันเหมือนเพลงไทยในลักษณะร้อยเนื้อหนึ่งทำนอง คือพรรคไหนๆ โดยเฉพาะพรรคใหญ่ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคเพื่อไทย จะเป็นประชานิยมประเภทลดแลกแจกแถมเหมือนกัน และในขณะเดียวกัน พรรคขนาดเล็กและพรรคขนาดกลางไม่มีนโยบายด้านใดเด่นชัด จะมีบ้างก็เหมือนกลยุทธ์ในการทำงานมากกว่านโยบาย จึงทำให้การรวมตัวกับพรรคการเมืองได้ทุกพรรค จึงทำให้ยุ่งยากในการแยกขั้ว และแบ่งพวกให้คนเลือกใช้เป็นเครื่องมือในการเลือก เพื่อให้ใครไปรวมกับใครระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย

ส่วนประเด็นว่าจะเลือกตั้งอย่างไรจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยพัฒนาไปได้นั้น ถ้าจะทำกันจริงๆ ก็ทำได้ แต่คนเลือกตั้งต้องพร้อมใจกันเลือกพรรคกับเลือกคนให้ไปในทางเดียวกัน โดยนำนโยบายมาเป็นเครื่องมือในการเลือก ไม่เลือกโดยยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก และเอาความชอบความไม่ชอบตัวบุคคลเป็นรองแล้วเลือกไปในทางเดียวกัน ก็จะทำให้พรรคที่ได้รับเลือกเหลือน้อยลง ในที่สุดก็จะเหลือเพียง 2 พรรคใหญ่ที่มีโอกาสเป็นรัฐบาลดังที่เป็นอยู่ในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาในขณะนี้ ถ้าทำได้เช่นนี้การเมืองไทยก็จะพัฒนาไปสู่รูปแบบประชาธิปไตยได้เร็วขึ้นแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น