xs
xsm
sm
md
lg

Vote No กับจินตนาการทางการเมือง (1)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

ารหยิบยกเอาความล้มเหลวทางการเมืองการปกครองของประเทศออกมาตีแผ่ โดยเฉพาะในประเด็นของพรรคการเมือง และนักการเมืองตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นับวันยิ่งส่งผลกระทบสั่นสะเทือนต่อระบบการเมือง ต่อพรรคการเมืองที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างมีนัย และสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้แก่พรรคการเมืองที่กำลังขับเคี่ยวกันในสนามการเลือกตั้งที่จะมาถึงไม่น้อย ทั้งๆ ที่การสร้างกระแส Vote No หาได้มีกฎหมายใดรองรับว่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น

คำถามจึงมีว่า แล้วทำไมกระแสการ Vote No จึงสร้างความตระหนกประหวั่นพรั่นพรึงให้แก่พรรคการเมืองและนักการเมืองได้มากขนาดนั้น คำตอบก็คือ “จินตนาการทางการเมืองของภาคประชาชน” มีพลังและมีอำนาจที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของกลไกรัฐและตัวบทกฎหมาย ที่เป็นเครื่องมือปกติของสังคมได้เสมอๆ

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองโดยภาคประชาชนในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 หรือเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือนพฤษภาคมปี 2535 หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุคสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ล้วนทำให้บรรดานักการเมือง พรรคการเมือง ต่างหวาดผวาต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวกันทั่วหน้า ยุทธวิธีในการรับมือกับภาวะดังกล่าวจึงถูกพัฒนาขึ้นมาหลากหลายรูปแบบหลากหลายวิธีการ ทั้งในฝ่ายที่พยายามจะรักษาสถานะของตัวเองเอาไว้ให้ได้ ให้เนียนและให้กลมกลืนไปให้ได้โดยให้ตัวเองสูญเสียผลประโยชน์ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ว่าพรรคการเมือง นักการเมือง ระบบราชการ รวมถึงกลุ่มผลประโยชน์ที่อาศัยและได้ผลประโยชน์จากความอ่อนแอและความล้มเหลวของระบบการเมืองการปกครองของประเทศที่ดำรงอยู่

การสร้างนโยบายประชานิยมของทุกพรรคการเมือง คือ ยุทธวิธีหนึ่งที่สำคัญที่นำร่องโดยพรรคไทยรักไทย ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ด้อยโอกาสในสังคมได้สัมผัสกับผลประโยชน์ทางการเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของประชาชนในทางการเมืองที่สำคัญว่า ความชอบธรรมทางการเมืองก็คือการได้รับผลประโยชน์จากการเมืองกันทั่วหน้า ไม่ใช่ได้รับผลประโยชน์เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือได้ทำลายความรู้สึกที่ว่าประชาชนทั่วๆ ไปที่ไม่เคยสัมผัสผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันเกิดจากฤดูกาลของการเลือกตั้งที่ผ่านไปรอบแล้วรอบเล่า แต่มันหมายถึงผลประโยชน์ที่ต่อเนื่องที่มากไปกว่าธนบัตรใบละ 500 บาท 1,000 บาทหรือเหล้าเบียร์ในก่อนค่ำคืนวันลงคะแนนซึ่งอย่างมากก็ไม่เกิน 30 วัน หลังจากวันลงคะแนนผ่านพ้นไปทุกอย่างของชีวิตก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การหยิบยื่นการรักษาทุกโรคด้วยเงิน 30 บาท การหว่านเงินไปที่หมู่บ้านๆ ละ 1 ล้านบาทให้เป็นกองทุน ฯลฯ การสร้างนโยบายประชานิยมจึงเป็นการสร้างกลุ่มมวลชนจำนวนมหาศาลให้กับนักการเมือง และพรรคการเมืองเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเอาชนะทางการเมืองในระยะต่อๆ มา

การออกนโยบายแจกเงินยังชีพแก่คนชรา อสม. นโยบายเรียนฟรี ให้เงินกู้ยืมเรียน ปลดหนี้บัตรเครดิต ฯลฯ ที่พรรคประชาธิปัตย์นำมาใช้ในระยะต่อมาก็เป็นยุทธวิธีที่ไม่แตกต่างกัน ที่ไม่แตกต่างกันก็คือ ทุกพรรคการเมืองไม่แตะปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นต้นเหตุของความอดอยากยากจน ไม่มีการสร้างกลไกทางกฎหมายที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยทั้งระบบ ไม่ว่าปัญหาทางโครงสร้าง ปัญหาปัจจัยการผลิต ระบบภาษีที่เป็นธรรมเพื่อกระจายความมั่งคั่ง หรือลดช่องว่างทางสังคมที่เป็นปัญหาหลักที่ดำรงอยู่ ซึ่งอารยประเทศเขาทำกันจนประสบความสำเร็จกันมาแล้ว

ยุทธวิธี Vote No จึงเป็นจินตนาการทางการเมืองของภาคประชาชนที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หยิบขึ้นมาใช้ในการเดินไปข้างหน้าสู่เป้าหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยที่รูปธรรมของปัญหาต่างๆ ที่พวกเขาหยิบยกขึ้นมาพูดตอกย้ำบนเวทีของการชุมนุมตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่มีใครกล้าเถียงว่าวันนี้สภาพทางการเมืองของนักการเมือง พรรคการเมือง และการพัฒนาการทางสังคมและการเมืองของประเทศนี้จะต้องถูกเปลี่ยนแปลงเพราะระบบที่เป็นอยู่ไม่ใช่คำตอบ แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า Vote No แล้วได้อะไร พรรคการเมือง นักการเมืองที่เขามีกรอบ กฎ กติกา (ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ขั้นตอนและความชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐหลังชนะการเลือกตั้ง ฯลฯ)

Vote No หรือการไปลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์จะเลือกนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ถูกกดทับไว้ด้วยคำว่า “สิทธิส่วนบุคคล” เมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ทำหน้าที่ “หงาย” สิทธิส่วนบุคคลนั้นออกมาและบอกว่ามันคือ “พลังของสิทธิส่วนบุคคล ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิทธิของคนส่วนใหญ่ได้” การทะลักออกมาของความรู้สึกแห่งวิญญูชนที่มองเห็นความล้มเหลวของระบบการเมืองที่ผ่านมาจึงพรั่งพรูเซ็งแซ่ไปทั่วทุกหัวระแหง

หลายคนบอกว่าตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา เขากาช่องไม่ประสงค์จะเลือกใครมาตลอดชีวิต บางคนก็ว่าเขากาช่องโหวตให้กับบุคคลเฉพาะตอนเลือกตั้งวุฒิสมาชิก ส.จ. และ ศอ.บต.เท่านั้น นั่นก็แสดงให้เห็นว่าคนที่ตื่นรู้และติดตามเฝ้าดูความล้มเหลวของระบบการเมืองการปกครองที่ผ่านมา เขาต่างปฏิเสธการเลือกตั้งที่มีความหมายแค่พิธีกรรมและไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่ดีงามแม้แต่น้อยกันมานานแล้ว

ทำให้นึกถึงวาทะอมตะของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่เขากล่าวเอาไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” (Imagination is more important than knowledge) ประโยคนี้ไม่ได้หมายความว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จะไม่มีความสำคัญ แต่หากว่ามันยังมีปัญหาอีกมากมายให้แก้ไขหรือสร้างสิ่งใหม่ๆ เข้ามาแทนที่สิ่งที่เละเทะที่มีอยู่เดิม ความรู้ที่มีอาจจะไม่พอและไม่สำคัญเท่ากับจินตนาการ การหยิบยกและใช้จินตนาการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบการเมืองการปกครองใหม่ที่ดีกว่าที่ดำรงอยู่โดยใช้ยุทธวิธี Vote NO เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง ภายใต้การหยิบยกขึ้นมาของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเร็วๆ นี้ หากสามารถขยายผลสู่สิทธิปัจเจกที่ซ่อนตัวและถูกกดทับออกมาได้อย่างกว้างขวาง นักการเมือง พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ทั้งหลายจงเตรียมตัวสร้างจินตนาการเพื่อหาทางอยู่รอดกันเองเถอะ.
กำลังโหลดความคิดเห็น