xs
xsm
sm
md
lg

ไทยผนึก 9 ชาติยื่นสหรัฐฯต่ออายุจีเอสพี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ไทยผนึก 9 ประเทศจี้สภาคองเกรสสหรัฐฯ ต่ออายุโครงการจีเอสพี หลังหมดอายุมาตั้งแต่สิ้นปี 53 ทำให้เอกชนไทยต้องจ่ายภาษีมากถึง 2,000ล้าน ทำให้แข่งขันได้ลำบากขึ้น

นางเกษสิริ ศิริภากรณ์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยถึงกรณีที่สภาคองเกรสสหรัฐฯ ไม่ต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทย หลังจากหมดอายุตั้งแต่สิ้นเดือนธ.ค.2553 ส่งผลให้สินค้าไทยที่เคยได้จีเอสพีต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ ว่า สำนักงานฯได้ร่วมกับประเทศต่างๆ 9 ประเทศ ที่สหรัฐฯ ไม่ต่ออายุโครงการจีเอสพี เช่น อินโดนีเซีย ปารากวัย เนปาล ศรีลังกา ทำจดหมายลงนามโดยเอกอัครราชทูตของทั้ง 9 ประเทศ ถึงสภาคองเกรส ระบุถึงความจำเป็นและสิทธิที่ควรได้รับการต่ออายุจีเอสพี รวมถึงเร่งรัดให้พิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิพิเศษทางการค้าโดยเร็ว

ทั้งนี้ ประเทศที่ร่วมลงนาม ส่วนใหญ่มีสินค้าส่งออกมากกว่า 70% ที่ต้องพึ่งจีเอสพี ขณะที่ไทยมีสินค้าที่ส่งออกผ่านจีเอสพีสหรัฐฯ ประมาณ 22,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อไม่ได้รับการต่ออายุจีเอสพี ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเหล่านี้ต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ในอัตราปกติที่ 10-15% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาทเท่ากับว่าผู้ส่งออกไทยต้องเสียภาษีนำเข้าทั้งที่ไม่ควรจะเสียมาตั้งแต่เดือนม.ค.2554

อย่างไรก็ตาม ไทยกำลังจะได้รับข่าวดี โดยล่าสุดสหรัฐฯ ได้เตรียมประกาศคืนเงินค้ำประกันการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (ซีบอนด์) จากผู้ส่งออกกุ้งไทยมูลค่ารวมประมาณ 1,000 ล้านบาท หลังจากที่ไทยทำการเรียกร้องมานานหลายปี ซึ่งจะช่วยเรื่องสภาพคล่องของผู้ส่งออกได้

นายอนุรัตน์ โค้วคาสัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและปฎิบัติการ บริษัท พรานทะเลมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน ผู้ส่งออกกุ้งไทยถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) เป็นเวลา 4 ปีแล้ว และต้องจ่ายซีบอนด์ด้วยส่วนหนึ่งคิดเป็นเงินหลายพันล้านบาท โดยในส่วนของบริษัทได้วางซีบอนด์ไปแล้วหลายร้อยล้านบาท ทำให้บางรายขาดเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ แต่ในช่วงเดือนก.ค.นี้ การวางซีบอนด์ในรอบแรกจะได้รับการคืนจากสหรัฐฯ ส่วนอีก 3 ครั้งยังไม่มีกำหนดคืน
กำลังโหลดความคิดเห็น