ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทำเอาสาวน้อยสาวใหญ่ในเมืองไทยปลาบปลื้มระคนใจหายกันไปหลายวัน เมื่อสำนักพระราชวังภูฏานประกาศว่า สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เกเซอร์ นัมเกล วังชุก หรือ “เจ้าชายจิกมี” ที่คนไทยรู้จักกันดี ได้ทรงประกาศหมั้นหมายกับหญิงสาวสามัญชน และจะเข้าพิธีราชาภิเษกสมรสในเดือนตุลาคมนี้
กษัตริย์หนุ่มจากแดนไกลผู้นี้ทรงเป็นที่คลั่งไคล้และชื่นชมในหมู่ชาวไทยมานาน ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เสด็จมาร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปีเดือนมิถุนายน ปี 2549 ด้วยพระสิริโฉมที่หล่อเหลาอินเทรนด์ ประกอบกับพระจริยวัตรอันงดงาม อ่อนน้อม และเป็นกันเองอย่างยิ่ง จึงทำให้เกิดกระแส “จิกมี ฟีเวอร์” อยู่พักใหญ่ และทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยอยากจะรู้จัก และไปเยือน “ภูฏาน” ให้ได้สักครั้งในชีวิต
วันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศทั่วโลกรายงานว่า สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เกเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ทรงประกาศต่อที่ประชุมรัฐสภาเรื่องที่ทรงหมั้นหมายกับหญิงสาววัย 21 ปีนาม “เจ็ตซุน พีมา” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะมีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสภายในเดือนตุลาคมนี้
พระราชดำรัสที่สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เกเซอร์ นัมเกล วังชุก พระราชทานต่อพระบรมวงศานุวงศ์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในพิธีเปิดการประชุมรัฐสภาครั้งที่ 7 ณ กรุงทิมพู มีใจความส่วนหนึ่ง ดังนี้
“ในฐานะพระมหากษัตริย์ ถึงเวลาแล้วที่ข้าพเจ้าจะต้องอภิเษกสมรส และหลังจากที่คิดใคร่ครวญอย่างรอบคอบแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า พิธีดังกล่าวควรจัดขึ้นในปีนี้
“หลายท่านคงมีความคิดเห็นในใจแล้วว่า พระราชินีควรจะมีบุคลิกอย่างไรบ้าง เธอต้องเป็นสตรีที่สะสวย ฉลาดหลักแหลม และสง่างามอีกด้วย ทว่าข้าพเจ้าเชื่อว่า ด้วยเวลาและประสบการณ์ คนเราย่อมสามารถเติบโตขึ้นเป็นผู้ที่มีพลัง ไม่ว่าจะมาจากชนชั้นใดก็ตาม ขอเพียงมีความเพียรพยายามอย่างเหมาะควรเท่านั้น สำหรับพระราชินีแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในฐานะปัจเจกบุคคลก็คือ ต้องเป็นคนดี และในฐานะพระราชินี ก็ต้องมีความมุ่งมั่นไม่ท้อถอย ที่จะรับใช้ประเทศชาติและประชาชน
“สำหรับผู้ที่จะมาเป็นราชินีนั้น ข้าพเจ้าได้พบสตรีที่มีคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว เธอชื่อ เจ็ตซุน พีมา แม้ว่าเธอจะอายุยังน้อย แต่มีบุคลิกที่อบอุ่น จิตใจดีงาม ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ เมื่อผนวกกับความรู้ความสามารถที่เธอจะได้รับต่อไปในภายภาคหน้า เมื่อมีอายุและประสบการณ์มากขึ้น ย่อมจะทำให้เธอเป็นข้ารับใช้ที่ดีของประเทศชาติได้
"เจ็ตซุน เป็นคนจิตใจดี คอยสนับสนุนข้าพเจ้าตลอดเวลา และเป็นผู้ที่ข้าพเจ้าไว้วางใจที่สุด ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไรกับเธอบ้าง แต่เธอคือคนที่ใช่สำหรับข้าพเจ้า
“การแต่งงานครั้งนี้มิได้หมายความว่า ข้าพเจ้าจะสร้างครอบครัวเป็นของตนเอง เพราะตั้งแต่วันแรกที่ข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์ ชาวภูฏานทั้ง 20 ชนเผ่าก็เป็นเสมือนครอบครัวของข้าพเจ้า และสิ่งนี่ถือเป็นหน้าที่และเอกสิทธิ์ของพระราชาธิบดีแห่งภูฏานทุกพระองค์ การอภิเษกสมรสในครั้งนี้จะทำให้ข้าพเจ้ามีพระราชินี ซึ่งจะคอยสนับสนุน ตลอดจนทำงานรับใช้ประเทศชาติและประชาชนร่วมกับข้าพเจ้า
“พิธีราชาภิเษกสมรสจะจัดตามราชประเพณีโบราณของภูฏาน เพื่อให้ทวยเทพยดาทั้งปวงร่วมอำนวยพรแก่เรา แต่ข้าพเจ้าขอให้รัฐบาลอย่าจัดพิธีให้ใหญ่โตนัก เพราะความสุขของพระราชบิดาที่ข้าพเจ้ารัก และคำอวยพรจากพสกนิกรชาวภูฏาน ก็ทำให้ข้าพเจ้ามีความสุขอย่างที่สุดแล้ว”
เจ็ตซุน พีมา ว่าที่ “ราชินีสามัญชน”
แม้สำนักพระราชวังภูฏานจะยังไม่เผยแพร่ประวัติโดยละเอียดของพระคู่หมั้นในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ทว่าสื่อต่างประเทศได้รายงานว่า หญิงสาวผู้โชคดีรายนี้มีนามว่า เจ็ตซุน พีมา (Jetsun Pema) เกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ปี 1990 ที่เมืองทิมพู เป็นธิดาคนที่ 2 ของนาย โทนทัป กยัลเชน (Dhondup Gyaltshen) ผู้เป็นหลานชายของ ทราชิกัง ซองปอน โดโปลา (Trashigang Dzongpon Dopola) กับนาง โซนัม ชูกี (Sonam Chuki) ชาวเมืองบุมทังพังตี มีพี่น้องรวมทั้งหมด 5 คน
เจ็ตซุน รับการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนชางกังคาและโรงเรียนลังเทนแซมปาในกรุงทิมพู จากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนคอนแวนต์เซนต์โจเซฟ เมืองคาลิมปง รัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย ก่อนจะย้ายไปเข้าเรียนชั้นเกรด 11-12 ที่โรงเรียนมัธยมลอว์เรนซ์ เมืองซานาวาร์ รัฐหิมาจัลประเทศ ซึ่งเป็นสถานศึกษาเก่าแก่ที่ก่อตั้งมานานกว่า 160 ปี
ปัจจุบัน เจ็ตซุน วัย 21 ปี เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย รีเจนต์ส คอลเลจ ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
ดอร์จี วังชุก เจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศของสำนักพระราชวังภูฏาน เปิดเผยว่า สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ทรงรู้จักกับนักศึกษาชาวทิมพูผู้นี้ “มาได้ระยะหนึ่งแล้ว” และเธอก็มีโอกาสตามเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนประชาชนในสถานที่ต่างๆทั่วประเทศ
เชอริง ทอบเกย์ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านภูฏาน กล่าวถึงว่าที่พระราชินีว่า เป็นคนไม่ถือตัว อัธยาศัยดี และมีรูปโฉมงดงาม ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีกับสาวน้อยผู้นี้ แม้ไม่ได้ประกาศต่อสาธารณชนอย่างเต็มที่ ทว่าก็ไม่ได้ปิดบังแต่อย่างใด
ทันทีที่ข่าวการหมั้นหมายถูกเผยแพร่ออกไป สื่อแดนภารตะหลายสำนักก็ประโคมข่าวว่า พระคู่หมั้นของกษัตริย์ภูฏานมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอินเดีย โดยตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ครูหลายคนจากโรงเรียนมัธยมลอว์เรนซ์ ซึ่ง เจ็ตซุน เคยศึกษาอยู่ระหว่างปี 2006-2008
ดีปัก บาฮูกูนา ครูโรงเรียนมัธยมลอว์เรนซ์ซึ่งเคยสอน เจ็ตซุน ให้สัมภาษณ์กับสื่ออินเดียว่า ว่าที่พระราชินีแห่งภูฏานเป็นคนเรียบง่าย และไม่เคยโอ้อวดว่ามีความใกล้ชิดกับพระราชวงศ์ภูฏานเลยแม้แต่น้อย
"เธอปฏิบัติตัวเหมือนนักเรียนทั่วๆไป และไม่เคยโอ้อวดว่ามีสายสัมพันธ์กับพระราชวงศ์ เรารู้แต่เพียงว่าเธอมาจากภูฏานเท่านั้น"
"เราไม่คิดมาก่อนเลยว่า เด็กสาวรูปร่างสูงที่ดูไม่ต่างจากนักเรียนทั่วๆไป จะเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับกษัตริย์แห่งภูฏาน แน่นอนว่าทางโรงเรียนรู้สึกภาคภูมิใจมาก"
ครูสอนภาษาองกฤษคนนี้เล่าด้วยว่า เจ็ตซุน เป็นเด็กเรียนดี ร่าเริงแจ่มใส และเชื่อฟังครูบาอาจารย์ เธอสื่อสารได้ดีทั้งภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษ และสามารถเล่นกีฬาได้หลากหลายประเภท
“เธอชอบเล่นบาสเก็ตบอล และยังได้เปรียบผู้แข่งขันคนอื่นๆ เพราะสูงถึง 5 ฟุต 10 นิ้ว เวลาเรียนเธอก็มีความตั้งใจดี เข้าใจอะไรได้ง่าย และให้ความร่วมมือกับทุกคนดีมาก... เธอเป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ ทำให้ทุกคนชื่นชอบเธอ”
ไม่เพียงแต่สอนภาษาอังกฤษให้ เจ็ตซุน เท่านั้น บากูฮูนา ยังเป็นครูของ เซอร์เชน โดมา น้องสาวของ เจ็ตซุน ซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมลอว์เรนซ์ด้วย
“เป็นความบังเอิญที่ฉันได้สอนทั้ง เจ็ตซุน และ เซอร์เชน ตอนนี้เธออยู่ชั้น 12 และเคยเล่าให้ฉันฟังว่า พี่สาวจะแต่งงานกับกษัตริย์ภูฏานในเดือนตุลาคมนี้”
อาร์เอส โชฮาน เจ้าหน้าที่โรงเรียนอีกคนหนึ่งซึ่งจำ เจ็ตซุน ได้ดี บอกว่า เธอชอบเข้าร่วมกิจกรรมนอกห้องเรียนเสมอ ทั้งยังเป็นสมาชิกวงดนตรีของโรงเรียน และเคยร่วมการแข่งขันเต้นรำแบบตะวันตกด้วย
แม้ เจ็ตซุน จะไม่ได้ติดต่อกับทางโรงเรียนอีกเลยหลังจบการศึกษา ทว่า บากูฮูนา ก็อยู่หวังลึกๆว่าจะได้รับบัตรเชิญให้ไปร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีกับศิษย์เก่าของเธอด้วย
เว็บไซต์ ไทม์ส ออฟ อินเดีย ก็ได้รายงานบทสัมภาษณ์ของ นีลัม ทาห์ลัน ครูโรงเรียนลอว์เรนซ์อีกคนหนึ่งซึ่งเผยด้วยความปลื้มปีติว่า ตอนนี้ทั้งโรงเรียนกำลังตื่นเต้นกับข่าวการหมั้นของ เจ็ตซุน กับ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏาน เนื่องจากหญิงสาวผู้นี้เคยเข้าเรียนเกรด 11 ที่โรงเรียน เมื่อวันที่ 13 เมษายน ปี 2006 และจบเกรด 12 เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2008 โดยระหว่างที่ศึกษาอยู่ เจ็ตซุน ลงเรียนหลายสาขาวิชา ทั้งภาษาอังกฤษ, ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์, เศรษฐศาสตร์ และการวาดภาพ
ในวันจบการศึกษา เจ็ตซุน กล่าวสุนทรพจน์ถึงทุกคนที่โรงเรียนลอว์เรนซ์ว่า “ฉันกำลังเฝ้ามองอนาคตของตัวเอง แต่ตอนนี้สายตาฉันไม่ค่อยดี และลูกแก้วของฉันก็มืดมัวไปหมด เว้นแต่เมื่อมองย้อนไปในอดีตเท่านั้น ขอบคุณเมืองซานาวาร์ที่มอบความทรงจำดีๆแก่ฉัน”
เชื่อเหลือเกินว่า หาก เจ็ตซุน พีมา มองดูลูกแก้วของเธออีกครั้งในวันนี้ คงจะเห็นภาพของสมเด็จพระราชินีโฉมงาม ผู้เป็นคู่บุญบารมีของกษัตริย์จิกมีแห่งภูฏานเป็นแน่แท้
ชาวภูฏานปลื้มปีติทั้งแผ่นดิน
ข่าวอันเป็นมหามงคลนี้ได้สร้างความปลื้มปีติแก่ชาวภูฏานทั่วทั้งประเทศ และจะเป็นอีกหนึ่งพิธีอภิเษกสมรสของราชวงศ์ที่ถูกจัดขึ้นในปีนี้ หลังจากพระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลียมแห่งอังกฤษ กับ น.ส. แคทเธอรีน มิดเดิลตัน ที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ส่วนเจ้าชายอัลเบิร์ตที่ 2 แห่งโมนาโก ก็ทรงมีกำหนดการเสกสมรสกับ น.ส.ชาร์ลีน วิตต์สต็อก อดีตแชมป์ว่ายน้ำชาวแอฟริกาใต้ ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตาม แม้พระราชพิธีอภิเษกสมรสในเดือนตุลาคม อาจไม่มีสื่อมวลชนทั่วโลกเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ทว่าจะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับชาวภูฏาน ซึ่งให้ความเคารพรักต่อสถาบันกษัตริย์ของตนอย่างสูงสุด
จิกมี วาย ทินลีย์ นายกรัฐมนตรีแห่งภูฏาน กล่าวแสดงความปลื้มปีติต่อข่าวมหามงคลนี้ โดยระบุว่า สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีทรงเติมเต็มความปรารถนาของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ซึ่งรอจะได้เห็นงานอภิเษกสมรสของพระองค์ เพื่อรับรองการสืบสายสันตติวงศ์แห่งราชวงศ์วังชุก ขณะที่ ซังเกย์ ดูบา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของภูฏาน ก็ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่า ข่าวการหมั้นหมายของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีกลายเป็น "ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์" ที่ทำให้ชาวภูฏานทุกคนรู้สึกยินดีอย่างยิ่ง เนื่องจากสถาบันกษัตริย์ภูฏานมีการสืบสันตติวงศ์ตามสายพระโลหิต และการอภิเษกสมรสคราวนี้จะช่วยให้ประชาชนมั่นใจว่า ราชวงศ์วังชุกจะมีพระมหากษัตริย์สืบทอดในรุ่นต่อไป
เชอริง ทอบเกย์ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านของภูฏาน ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า ทันทีที่สมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีพระราชดำรัสเรื่องการหมั้นหมาย ทุกคนในรัฐสภาต้องข่มใจอย่างยิ่งที่จะไม่โห่ร้องแสดงความยินดีออกมาอย่างพร้อมเพรียง และแม้ทุกคนจะปลาบปลื้มกับข่าวพระราชพิธีอภิเษกสมรสมากเพียงใด ทว่าการร้องรำทำเพลงอย่างเอิกเกริกบนท้องถนนก็ไม่ใช่ธรรมเนียมของชาวภูฏาน
ด้าน ดอร์จี วังชุก เจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศของสำนักพระราชวังภูฏานให้สัมภาษณ์ว่า แม้สมเด็จพระราชาธิบดีจะไม่ทรงมีพระประสงค์ให้จัดงานใหญ่โต เนื่องจากประเทศภูฏานมีทรัพยากรไม่มากนัก และทรงพอพระทัยพิธีการที่เป็นส่วนพระองค์มากกว่า ทว่าชาวภูฏานก็จะร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสมหามงคลนี้อย่างแน่นอน
ภูฏาน เป็นราชอาณาจักรเล็กๆบนแนวเทือกเขาหิมาลัย ตั้งอยู่ระหว่างจีนและอินเดีย มีประชากรราว 700,000 คน และเป็นดินแดนที่สันโดษมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ความเจริญในยุคโลกาภิวัฒน์คืบคลานเข้าสู่ดินแดนแห่งอย่างช้าๆ โดยเพิ่งมีการตัดถนนหนทางและใช้สกุลเงินตรา “งุลตรัม” (Ngultrum) อย่างเป็นทางการในทศวรรษที่ 1960 และอนุญาตให้สื่อต่างประเทศเข้าไปทำข่าวได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1974 แม้แต่อินเทอร์เน็ตและสื่อโทรทัศน์ก็เข้าถึงดินแดนแห่งนี้ได้เมื่อปี 1999 ที่ผ่านมานี้เอง
นอกจากความสงบและสันโดษแล้ว ภูฏานยังขึ้นชื่อในเรื่องการจัดทำดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness) เพื่อใช้เป็นมาตรวัดความก้าวหน้าและความกินดีอยู่ดีของประชาชน แทนการวัดความร่ำรวยด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product) ดังที่ประเทศอื่นๆนิยมทำกัน นอกจากนี้ รัฐบาลภูฏานยังไม่สนับสนุนให้เปิดรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทว่าจะอนุญาตเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มีฐานะดีและเดินทางมาเป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อรักษาบรรยากาศที่เงียบสงบและเป็นธรรมชาติของภูฏานไว้ตลอดไป
************************************
เจ้าชายในฝันจาก “แดนมังกรสายฟ้า”
สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เกเซอร์ นัมเกล วังชุก เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปี 1980 ณ พระราชวังเดเชนโชลิง กรุงทิมพู ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก และพระราชินี เชอริง ยังดอน มีพระกนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกัน 2 พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงเดเชน ยังซอม และเจ้าชาย จิกมี ดอร์จี วังชุก
หลังจากที่สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก ทรงสละราชสมบัติพระราชทานแก่พระราชโอรสเมื่อปี 2006 มกุฎราชกุมาร จิกมี เกเซอร์ นัมเกล วังชุก จึงได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชอาณาจักรภูฏาน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ในปีเดียวกัน และมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ปี 2008 ขณะที่ทรงมีพระชนมายุเพียง 28 พรรษา นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่พระชนมายุน้อยที่สุดในโลก
สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เกเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงเป็นกษัตริย์หนุ่มที่เปี่ยมด้วยความรู้และพระปรีชาสามารถหลายด้าน ทรงศึกษาระดับมัธยมจนถึงปริญญาตรีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาการทูตและการเมือง จากวิทยาลัยแม็กดาเลน มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในสหราชอาณาจักร เมื่อเสด็จนิวัติภูฏานแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงงานต่างพระเนตรพระกรรณพระราชบิดา โดยเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังที่ต่างๆ และทรงเรียนรู้วัฒนธรรม การศึกษา ตลอดจนกิจกรรมขององค์กรเศรษฐกิจหลายแห่ง
ด้วยพระอัจฉริยภาพอันเป็นเลิศ สภามหาวิทยาลัยรังสิตของไทยจึงได้ทูลเกล้าฯถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ แด่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ปี 2549 ซึ่งขณะนั้นยังดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน ส่วนมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ได้ทูลเกล้าฯถวายปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาส่งเสริมการเกษตร แด่พระองค์ด้วยเช่นกัน
แม้จะทรงขึ้นทรงราชสมบัติได้ไม่นาน ทว่าสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีก็ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของพสกนิกรทุกชนชั้น ด้วยพระอุปนิสัยอ่อนโยน ไม่ถือพระองค์ และการที่ทรงทุ่มเททั้งกำลังพระวรกายและพระสติปัญญา เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนชาวภูฏานโดยแท้จริง นอกจากนี้ยังทรงยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยซึ่งพระราชบิดาทรงวางรากฐานไว้ และตัดสินพระทัยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในรัชสมัยของพระองค์เอง
ในกระแสพระราชดำรัสครั้งแรกที่พระราชทานแก่ประชาชนหลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีทรงเผยพระปณิธานว่า จะปกป้องภูฏานจากอิทธิพลอันเลวร้ายของกระแสโลกาภิวัฒน์
“สิ่งที่ข้าพเจ้าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป เราอาจสูญเสียค่านิยมดั้งเดิม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศและประชาชนชาวภูฏาน”
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีทรงมีพระราชดำริว่า การสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยคือหน้าที่อันสำคัญยิ่งของชาวภูฏานในยุคนี้ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆทั่วประเทศ เพื่อแนะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมเชิงประชาธิปไตย โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว โดยทรงเน้นย้ำว่า การเป็นพลเมืองประเทศเล็กๆยิ่งต้องมีความพากเพียร และทุกคนต้องมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวภูฏาน ทั้งในด้านการศึกษา ธุรกิจ และกิจการพลเรือน
เมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศไทยเพื่อร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มกุฎราชกุมารจิกมีจิกมีทรงให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกปลาบปลื้มพระทัยในความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และทรงยินดีอย่างยิ่งที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทย และได้รับทราบแนวทางพระราชดำริในการทำนุบำรุงและพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์เองจะทรงยึดเป็นแบบอย่างในการพัฒนาราชอาณาจักรภูฏานต่อไป
**********************************
“ทราชิ โช ซอง” ที่ทำงานกษัตริย์จิกมี
ทราชิ โช ซอง (Trashi Chhoe Dzong) เป็นป้อมปราการสีขาวขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวังชู และเป็นหนึ่งในไฮไลต์ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเยือนกรุงทิมพูไม่ควรพลาด เพราะที่นี่คือสถานที่ทำงานของสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เกเซอร์ นัมเกล วังชุก และเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการหลายแห่ง เช่น รัฐสภา, สำนักราชเลขาธิการ, กระทรวงมหาดไทยและวัฒนธรรม, กระทรวงการคลัง, สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, คณะกรรมาธิการความสุขมวลรวมประชาชาติ (จีเอ็นเอช) ตลอดจนองค์กรพุทธศาสนากลางแห่งภูฏาน
คำว่า Dzong หมายถึง ป้อมปราการ นาม “Trashi Chhoe Dzong” จึงมีความหมายว่า “ป้อมปราการแห่งศาสนาอันรุ่งโรจน์”