xs
xsm
sm
md
lg

ชพน.ตีตั๋วไม่ต่ำ30ที่นั่ง ตัวแปรร่วมรัฐบาลทุกขั้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้จะประกาศกับใครต่อใครว่าเป็นพรรคขนาดเล็ก แต่เมื่อมีการควบรวมกิจการระหว่าง “พรรครวมชาติพัฒนา” กับ “พรรคเพื่อแผ่นดิน” จนกลายมาเป็น “พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน” ทำให้จากพรรคขนาดจิ๋วที่มี ส.ส.ไม่ถึง 10 คน ทะยานขึ้นมาเป็นพรรคขนาดกลาง ที่มีเป้าหมายมากกว่า 30 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งนี้
จึงไม่แปลกที่พรรคชื่อยาวพรรคนี้จะได้รับความสนใจ ทั้งในฐานะ “คู่แข่ง” ในสนามเลือกตั้ง และในฐานะ “ตัวแปรสำคัญ” ในการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง
พะยี่ห้อ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ในฐานะผู้ก้อตั้งพรรคชาติพัฒนา ที่เป็นรากเหง้าของพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินนี้ ก็มองได้ไม่ยากว่าฐานที่มั่นสำคัญในการโกยที่นั่ง ส.ส.ย่อมอยู่ที่ “เมืองย่าโม” จ.นครราชสีมา ที่นอกจากฐานเสียงของสุวัจน์เองแล้ว ยังหมายรวมไปถึงกลุ่มโคราช ของ ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี แกนนำกลุ่ม 3 พี ผู้ล่วงลับ ที่แม้จะลาโลกไปแล้ว แต่บารมียังขจรขจายอยู่ในพื้นที่อย่างเหนียวแน่น
จนเป็นที่มาของเป้าหมายฮุบที่นั่ง “ครึ่งหนึ่ง” ของโคราช ที่ระบบเขตมีอยู่ 15 ที่นั่ง ยิ่งหากเคาะคำนวณจากฐานผู้มีสิทธิ์แล้วยังจะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อรายชื่อได้อีกไม่ต่ำกว่า 5 ที่นั่ง หากได้ตามเป้า ก็จะได้ไปถึง 10 ที่นั่งเลยทีเดียว
ทั้งยังวางเป้าเพิ่มแต้มในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคอีสาน นอกเหนือจากสมรภูมิโคราชแล้ว
โดยงานนี้ “กุนซือใหญ่” ที่นอกจากจะคุมเกมหลักที่พื้นที่โคราชแล้ว ยังแจกการบ้านให้แม่ทัพนายกองไปสู้ตามสมรภูมิถนัด ให้ ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์ อดีต รมช.ต่างประเทศ คนเก่าแก่แห่งบ้านราชครู ตั้งแต่สมัย “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุนหะวัณ ยังมีชีวิตอยู่ คุมเกมที่โซนภาคเหนือ เน้นที่โซนตอนล่าง อย่าง อุตรดิตถ์ สุโขทัย และ นครสวรรค์ และขอมีเอี่ยวที่เชียงรายด้วย
พื้นที่นี้ ร.ต.ประพาส จัดเต็ม ส่งผู้สมัครทุกเขต โดยตั้งเป้าไว้ที่ 10 เปอร์เซนต์ หรือราว 6-7 เขต ตัวทำแต้มหนีไม่พ้นอดีต ส.ส.อย่าง สมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ที่สุโขทัย วารุจ ศิริวัฒน์ ที่อุตรดิตถ์ เป็นต้น
ถัดมาที่พื้นที่อีสานตอนบน ไล่ตั้งแต่ อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ เลย มุกดาหาร สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของ พินิจ จารุสมบัติ แกนนำกลุ่ม 3 พี ที่ส่ง ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง อดีต รมว.อุตสาหกรรม มาคุมงาน โดยเน้นความละเอียด คัดสรรตัวดี ส่งเฉพาะ “เกรดเอ” ไปลุย กะคว้าที่นั่งชัวร์ๆไว้
เรื่องตัวความหวังมีเพียบ เพราะถือเป็นฐานเดิมของ “วังพญานาค” ที่เคยผงาดอยู่
ด้านพื้นที่อีสานตอนล่าง ชัยภูมิ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร ให้ ปรีชา เลาหะพงศ์ชนะ แกนนำกลุ่ม 3 พี คู่หูของ พินิจ ดูแลผ่านทาง สิทธิชัย โควสุรัตน์ อดีต รมช.มหาดไทย
รวม 2 จุดนี้หวังไม่มากไม่น้อยที่ 15+ เท่านั้นเอง
ขณะที่กลุ่ม “สุวรรณฉวี” นอกจากจะร่วมดูแลในพื้นที่โคราชแล้ว ก็ยังมีพื้นที่รอบนอก ทั้งที่ ปราจีนบุรี บุรีรัมย์ หรือสุรินทร์ กลุ่มนี้ไม่ได้คาดหวังมาก หากได้ 1-2 ที่นั่ง ถือว่ากำไรแล้ว
ไม่เท่านั้น ยังมีพื้นที่ กทม.ที่ปูพรมส่งครบทั้ง 33 เขต หวังปักธงในเมืองหลวงให้ได้ โดยมีตัวเด่นหลายเขต ทั้ง “มิสเตอร์หลินปิง” โสภณ ดำนุ้ย อดีต ผอ.สวนสัตว์ ที่ เขต 5 “น้องวิว” เยาวภา บูรณพลชัย ที่เขต 11 และ “เดอะตุ๊ก” ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ที่เขต 13 ส่วนคนอื่นก็ไม่ขี้เหร่ แต่อาจเสียเปรียบที่ไม่ได้ทำพื้นที่มาตั้งแต่ต้น เรียกว่าใครฝ่าด่านกระแสพรรคใหญ่เข้าสภาได้ คงต้องปิดซอยฉลองใหญ่แน่
ทั้งยังรวมไปถึง “ทีเด็ด” อย่าง วรสุดา สุขารมณ์ ลูกสาวของ นพ.เดชา สุขารมณ์ อดีต รมต.หลายสมัย ที่งวดนี้ลงสมัครที่ถิ่นเก่าคุณพ่อ เขต 1 กาญจนบุรี รวมๆแล้วเฉพาะ ส.ส.เขต ก็ไม่ต่ำกกว่า 20-25 ที่นั่ง
หันมาส่องในส่วนของบัญชีรายชื่อกันบ้าง ที่กว่าจะลงตัวก็เกิดอาการขลุกขลักเล็กน้อย โดยในความเป็นจริงในส่วนของกลุ่มเพื่อแผ่นดินเดิม นายพินิจนั้นลงตัวมาตั้งแต่ต้น แต่ปัญหาก็อยู่ผู้ที่จะมานั่งเป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ซึ่งเป็นโควต้าของนายสุวัจน์ ที่วางตัวให้ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรค และคู่เขยของนายสุวัจน์ จับจองไว้
แต่เมื่อ นพ.วรรณรัตน์ ยืนกรานว่าจะลงสมัครรักษาฐานที่มั่นที่เขต 1 โคราช จึงเกิดแรงกระเพื่อมจากฝั่งเพื่อแผ่นดินเก่า ที่พยายามดันให้ ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง อดีต รมว.อุตสาหกรรม มาจับจองที่นั่งแทน ฝ่ายสุวัจน์เสนอให้ กรพจน์ อัศวินวิจิตร อดีต รมช.พาณิชย์ และอดีตผู้แทนการค้าไทย เป็นเบอร์ 1 ของพรรค แต่ฝ่ายชาญชัยยอมไม่ได้ เพราะเห็นว่าชื่อชั้นไม่ได้เหนือกว่ากันมาก
จนสุดท้ายต้อง “ผ่าทางตัน” นำ ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์ คนเก่าแก่เลือดแท้ของชาติพัฒนา ซึ่งถือว่ามีความอาวุโสที่สุดในพรรค ขึ้นมานั่งค้ำไว้เพื่อกันเกิดความขัดแย้ง ชาญชัย จึงยึดลำดับที่ 2 ตามเดิม ส่งกรพจน์กระเด็นไปอยู่ในลำดับที่ 4 แทน ขณะที่ลำดับที่ 3 เป็น พรรณี จารุสมบัติ น้องสาวของพินิจ ที่พี่ชายวาดหวังผลักดันให้เข้าสภาหินอ่อนให้ได้เป็นครั้งแรก โดยที่เจ้าตัวไม่ค่อยเต็มใจนัก เพราะใจจริงอยากนั่งทำงานในกระทรวงต่างๆ ในฐานะผู้ช่วย หรือที่ปรึกษามากกว่า
ต่อมาที่ลำดับที่ 5 ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี อดีต รมว.ไอซีที ภรรยาว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ผู้ล่วงลับ ซึ่งแต่เดิม “มาดามนก” ตั้งใจว่าจะผละจากการเมืองระดับประเทศ โดนส่งลูกชาย 2 คน ลงรักษาพื้นที่แทน เตรียมตัวไปลงชิงเก้าอี้นายกฯอบจ. แต่เมื่อสิ้นสามีคู่ชีวิตกะทันหัน จึงต้องจำใจลงสมัครต่อไป เพราะยังหาตัวตายตัวแทนไม่ทัน
ลำดับที่ 6 ปรากฎชื่อ ชาติชาย พุคยาภรณ์ คนสนิทของสุวัจน์ ที่เคยปันใจไปกินตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ สมัยตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ใหม่ๆ ผ่านโควต้าของ เนวิน ชิดชอบ แห่งค่ายภูมิใจไทย แต่ภายหลังถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อหลีกทางให้ ศุภชัย โพธิ์สุ เด็กปั้นของเนวิน จึงต้องกลับมาซบสุวัจน์ โดยเป็นทีมงานนโยบายด้านสังคมให้พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินในที่สุด
ต่อมาลำดับ 7 ประเชิญ ติยะปัญจนิตย์ ผอ.พรรค ซึ่งเป็น “มือทำงาน” ของสุวัจน์คนปัจจุบัน ลำดับ 8 และ 9 เป็นโควต้าเพื่อแผ่นดินเดิม ได้แก่ สิทธิชัย โควสุรัตน์ และ สุรเดช ยะสวัสดิ์ อดีต ส.ส.สัดส่วน
ส่วนที่น่าแปลกใจไม่น้อยคือ ชื่อที่หลุดหายไปอย่าง นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ อดีต รมช.คลัง สาย ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ที่ปรากฏเพียง ธนการ ดำรงรัตน์ น้องชาย อยู่ในลำดับที่ 10 แว่วมาว่าเดิมที นพ.พฤฒิชัย ตั้งใจดันตัวเองให้อยู่ใน “ท๊อปไฟว์” เพราะรอบที่แล้วไปนั่งอยู่ลำดับท้ายๆ แล้วเกิดอาการ “ขาลอย” หลังหลุดเก้าอี้รัฐมนตรีกระทันหัน แต่เมื่อถึงเวลากลับตัดสินใจ “ออมแรง” ไว้ลุ้นเก้าอี้เสนาบดี หลังเลือกตั้งทีเดียวดีกว่า จึงส่งน้องชายลงแทนแบบไม่ต้องเข้าเนื้อมากนัก
ถัดมา ลำดับ 11 เป็น ประทีป กรีฑาเวช อดีต ส.ส.โคราช หลายสมัย และลำดับ 12 นิกร เลาหพงศ์ชนะ พี่ชาย ปรีชา เลาหพงษ์ชนะ แกนนำกลุ่ม 3 พี ขณะที่ลำดับหลังจากนี้ ก็เป็นโควต้าของแกนำในระดับรองลงมา เพียงส่งชื่อเติมเต็มให้ครบ 125 รายชื่อเท่านั้น
จากการประเมินของแกนนำพรรคหลายคนตั้งเป้า “เซฟโซน” ของพรรคไว้เพียงแค่ลำดับที่ 6 – 7 โดยหลายคนหวังไปทุ่มเทในพื้นที่รับผิดชอบให้นำ ส.ส.ในความดูแลเข้าสภามากที่สุด เพื่อ “การันตี” นำพาตัวเองขึ้นสู้เก้าอี้รัฐมนตรี ภายหลังเลือกตั้งมากกว่า
โดยใช้กลยุทธ์เดียวที่เพื่อแผ่นดินเคยประสบความสำเร็จยึด ส.ส.บัญชายชื่อ ได้ถึง 7 ที่นั่ง เมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 50 ที่ส่งผู้สมัครเกือบครบทุกเขต ทั่วประเทศ เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์พรรค ดึงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์จากพรรคใหญ่ โดยให้พินิจ คุมเกมในส่วนนี้
มองถึงตรงนี้ทำให้เป้า 30 ที่นั่ง ไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรง ส่วนจะเกินไปเท่าไรนั้นก็ถือเป็นกำไร ทำให้หลังเลือกตั้งชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ก็จะกลายเป็นพรรคขนาดกลางที่ “กะทัดรัด” จะถูกดึงไปอยู่ฝั่งไหนก็ไม่เทอะทะเกินไป กลายเป็นตัวเลือกแรกที่จะเข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
ไม่ว่าขั้วไหนจะมาวินก็ตาม

------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น