อดีตผู้ก่อตั้งพรรคชาติพัฒนา ฟันธงไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล เหตุพรรคเล็กเป็นตัวแปรสำคัญ เชื่อ สมการพรรคร่วม มั่นใจ พท.+ปชป.ไม่เกิน 400 ส่วนพรรคเล็กแชร์กัน 100 ที่นั่ง ชี้ ทางรอด ชพน.นโยบายต้องแตกต่าง สร้างพรรคให้เป็นท้องถิ่นนิยม ตั้งเป้ายึดโคราช 10 ที่นั่ง แนะเจาะ กทม.โกยแต้มปาร์ตี้ลิสต์ ยกสามัญสำนึกหนุนพรรคเบอร์หนึ่ง ต้องได้สิทธิ์ตั้ง รบ.
วันนี้ (18 พ.ค.) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ผู้ก่อตั้งพรรคชาติพัฒนา เปิดเผยกับ “ทีมข่าวการเมือง ASTVผู้จัดการรายวัน” ถึงแนวโน้มในการเลือกตั้ง 3 ก.ค.54 ว่า โดยส่วนตัวแล้วมองว่า 2 พรรคใหญ่จะได้รวมกันประมาณ 400 ที่นั่ง ส่วนที่เหลือ 100 ที่นั่ง ก็เป็นพรรคเล็กพรรคกลางมาแบ่งกัน โดย 400 เสียงนี้สามารถออกมาได้หลายสูตรทั้ง 220 ต่อ 180 หรือ 230 ต่อ 170 หรือแม้กระทั่ง 210 ต่อ 190 ส่วนอีก 100 ก็แบ่งกัน 3-4 พรรค ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องสมการการเมืองสำหรับการจัดตั้งรัฐบาล ตัวเลขไหนจะจับกับตัวเลขไหนที่จะทำให้ 251 เสียงขึ้นไป
นายสุวัจน์ กล่าวต่อว่า ขณะที่การเมืองมี 2 ขั้วใหญ่ โดยแนวโน้มที่ยังไม่มีใครที่จะได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง ฉะนั้น ตัวแปรก็อยู่ที่พรรคการเมืองขนาดกลาง หรือพรรคขนาดเล็ก หากต้องการส่งเสริมให้พรรคการเมืองเหล่านี้เป็นทางเลือกในการเข้าไปถ่วงดุลอะไรได้บ้าง พวกนี้ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศ หรือหากสามารถนำเสนอนโยบาย และบุคคลที่ได้รับการยอมรับทั้งในด้านการศึกษาหรือความประพฤติที่ผ่านมา คนต่างๆ เหล่านี้แหละที่จะมาสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดผลดีต่อประเทศ แต่อาจจะยังไม่สามารถที่จะขึ้นมาเป็นแกนนำหรือระดับผู้นำทางการเมืองได้ เพราะว่า 2 พรรคการเมืองใหญ่นั้นทิ้งช่วงห่างเหลือเกิน
ในส่วนสถานการณ์ของพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินนั้น ในฐานะผู้ก่อตั้งพรรคชาติพัฒนา ประเมินว่า วันนี้พรรคขนาดกลางอย่างพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ต้องหาวิธิการในการต่อสู้กับพรรคใหญ่ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า มี 2 ทาง คือ 1.ต้องสร้างนโยบายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และ 2.สร้างความเป็นท้องถิ่นนิยม โดยเอกลักษณ์ที่ว่า ก็เหมือนร้านค้าเล็กๆ ที่ขายสินค้าชนิดหนึ่ง ซึ่งหาไม่ได้ในห้างใหญ่ การใช้สโลแกน รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และพลังไทยสร้างชาติ หรือการดึงนักกีฬาที่มีชื่อเสียงอย่าง ร.ต.ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน นายภราดร ศรีชาพันธุ์ หรือ น.ส.เยาวภา บุรณพลชัย ก็เป็นการสื่อความหมายว่า ประเทศเรายังมีความขัดแย้งที่นำไปสู่ความทุกข์ของคนไทย และทำให้บ้านเมืองเสียหาย ดังนั้น การขจัดความขัดแย้งได้ บ้านเมืองก็ไปต่อได้ ฉะนั้น เราต้องทำทุกวิถีทางให้คนไทยรักกัน ไม่ทะเลาะกัน สร้างให้เป็นสปิริตขึ้นมา ซึ่งก็คือหลักของกีฬา โดยเฉพาะการที่กีฬามีหัวใจที่อยู่บนเจตนารมณ์ที่ทำให้นักกีฬาหรือคนดูมีสำนึกที่รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และมีวินัย
นายสุวัจน์ ยังได้กล่าวถึงการต่อสู้ในสนาม จ.นครราชสีมา ด้วยว่า โคราชถือว่าเป็นพื้นที่ใหญ่มี ส.ส.ระบบเขต 15 คน ส่วนปาร์ตี้ลิสต์ก็ประมาณ 5 คน รวมแล้วโคราชจะมี ส.ส.อย่างน้อย 20 คน การต่อสู้คงเป็นการต่อสู้ 3 ฝ่าย ระหว่าง พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน แม้จะเป็นพรรคเล็กๆ แต่ก็มีฐานทางการเมืองที่จับต้องได้ชัดเจน จึงมีโอกาสที่จะรักษาฐานในการสร้างนโยบายการเป็นพรรคท้องถิ่นนิยมให้ได้ เพราะคงไม่มีใครรู้เกี่ยวกับโคราชได้เท่ากับพรรคชาติพัฒนาในอดีต หากทำได้เพียงครึ่งนึงของโคราชหรือได้มา 10 คน ก็สามารถอยู่ได้ในระบบพรรคการเมือง ในภาวะที่พรรคเล็กพรรคน้อยยังมีนัยยะทางการเมือง
ส่วนการเสนอตัวเป็นทางเลือกในสนาม กทม.นั้น นายสุวัจน์ กล่าวว่า จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุด ทำให้ที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นจาก 80 เป็น 125 ที่นั่ง และต้องยอมรับว่า กระแสการเมืองเกิดจากคน กทม.เมื่อคน กทม.คิดอะไรก็จะขยายไปยังต่างจังหวัด ทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะมีฐานใน กทม.หรือไม่ ก็จำเป็นที่ต้องมาต่อสู้ใน กทม.ที่จะเป็นสนามในการโชว์แผนงาน เพื่อสร้างกระแสการเมือง เป็นการประชาสัมพันธ์พรรค โดยเฉพาะในส่วนของระบบบัญชีรายชื่อ ที่มีเสียงให้ช่วงชิงถึง 5-6 ล้านคน ที่สำคัญ คน กทม.ยังเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษา และมีการวิเคราะห์สถานการณ์ จึงเป็นโอกาสที่หากพรรคไหนนำเสนอยุทธศาสตร์ หรือนโยบายที่ดี ก็สามารถเก็บเกี่ยวคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ได้ หรือถ้าถูกใจมากๆ แล้วเกิดอาการเบื่อการเมือง 2 ขั้วใหญ่ อาจเลือกขั้วที่ 3 ก็ได้ เป็นโอกาสดีที่พรรคเล็กเข้ามาใน กทม.เป็นทางเลือกให้คน กทม.แล้วยังเป็นการได้มีเวทีในการแสดงความคิดเห็น ให้กระจายไปสนามเลือกตั้งที่ต่างจังหวัด
เมื่อถามถึงการจับมือตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งที่มีการพูดถึงกรณีหากพรรคที่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 2 ก็มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลแข่ง นายสุวัจน์ กล่าวว่า ก็ต้องแล้วแต่เหตุการณ์ว่าจับมือกับใคร แล้วใครจะมาเป็นผู้นำที่จะมาความสงบเรียบร้อยให้กับประเทศ ตรงนี้ยังมีหลายองค์ประกอบ แต่ว่าพื้นฐานประเพณีทางการเมืองก็วางอยู่แล้วว่าพรรคอันดับ 1 ต้องมีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ตั้งแต่ที่ผมเข้าสู่การเมืองมาตั้งแต่ปี 2531 ยังไม่เคยเห็นสักครั้งที่พรรคอันดับ 2 มาตั้งรัฐบาล การที่พรรคอันดับ 2 ได้มาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลก็ล้วนแล้วแต่มาจากอุบัติเหตุทั้งนั้น อย่างครั้งนี้ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้มาเป็นรัฐบาล ก็เพราะว่าที่ 1 ถูกตัดสินยุบพรรค
“เรื่องนี้แม้ไม่ได้เขียนในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นความสามัญสำนึกของนักการเมืองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าพรรคที่ 1 พอเริ่มจัดแล้วสามารถจัดได้หรือไม่ มีพรรคพวกเอาด้วยไหม มีการนำเสนออะไรที่ทำให้เกิดการยอมรับให้มาร่วมด้วยหรือไม่ หากพรรคที่ 1 มีนโยบายที่ทำให้พรรคอื่นไม่สบายใจ หรือมีผู้นำที่ทำให้ไม่สบายใจ โอกาสก็ตกมาเป็นของที่ 2 หากทำไม่ได้อีก ก็ต้องเป็นพรรคที่ 3 หรือที่ 4 ไล่ไปเรื่อยๆ” นายสุวัจน์ กล่าว