xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพกับการเมืองและพรรคประชาธิปัตย์

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

โดยปกติแล้วความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับพรรคประชาธิปัตย์ มีลักษณะเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย หรือ Love - Hate Relation ขึ้นอยู่กับทัศนคติของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ กับผู้นำกองทัพ และพฤติกรรมกองทัพที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ เช่น ยุคกลุ่มจอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นรัฐบาล ทั้งผ่านการเลือกตั้ง และไม่ผ่านการเลือกตั้ง เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน มักคอยขัดขวางนโยบายหรือวิธีการบริหารประเทศที่พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่ามีลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อบุคคล หรือมีลักษณะทุจริต หรือมีลักษณะที่เอื้อประโยชน์ต่อต่างชาติมากเกินไป และไม่ฟังเสียงคัดค้าน

ซึ่งมีกรณีหนึ่งเมื่อรัฐบาลฟ้อง ม.ร.ว.เสนีย์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สองพี่น้องแห่งพรรคประชาธิปัตย์ ฐานหมิ่นประมาทเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เมื่อมีการวิจารณ์นโยบายสร้างระบบอเมริกัน หรือ Americanization ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ยุคปี 1950 ซึ่งในห้วงนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้มีโอกาสแสดงภาพยนตร์คู่กับ มาลอน แบรนโด เรื่อง อักลีอเมริกัน หรือ Ugly American หรือยุคนายชวน หลีกภัย ปฏิเสธรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะขอลอยลำกองเรือพลาธิการในน่านน้ำไทยเพื่อทำสงครามในย่านนี้ ซึ่งฝ่ายทหารเห็นชอบแล้ว แต่เมื่อครั้งนายชวนเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่ใช้เงินราชการลับเลย ส่งคืนคลังเพราะยามนั้นเป็นยุคหลังฟองสบู่แตก

เมื่อ นายควง อภัยวงศ์ ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์นั้น ก็หวังที่จะสร้างหลักเสรีนิยมคติในหมู่ปัญญาชน ทั้งจบการศึกษาจากต่างประเทศและในประเทศ เพื่อจะได้มีอำนาจในการคานอำนาจในรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 ทำให้มีสมาชิกปัญญาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ทั้งยังเป็นเสมือนโรงเรียนสร้างนักการเมืองที่มีอุดมการณ์เสรีนิยม ซึ่งหลักการเสรีนิยมในยุคปี พ.ศ. 2490 นั้น ล่อแหลมต่อการถูกวิจารณ์ว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมซ้าย ทำให้ต้องต่อสู้กับฝ่ายขวาจัดและฝ่ายซ้ายจัด เพราะการแสดงความเป็นประชาธิปัตย์ค่อนข้างยากที่จะทำให้เห็นชัดอย่างเด็ดขาด ว่าเป็นเสรีนิยม เพราะนโยบายหลักของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คือ ต่อต้านศักดินาทุนนิยม แต่แกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ในยุคนั้นเป็นศักดินาตามคตินิยมของฝ่ายซ้าย และเป็นกลุ่มชนชั้นนำในสังคมธุรกิจอีกด้วย
ขณะเดียวกันก็ต่อต้านเผด็จการทั้งทหารและสมาชิกรัฐสภาที่ฝ่ายขวาส่งมา แต่ก็เป็นการแสวงจุดร่วมระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคคอมมิวนิสต์ เช่น กรณีเหตุการณ์วุ่นวายในสังคม 6 ตุลาคม 2519 เมื่อกลุ่มนิสิต นักศึกษา ปัญญาชนจัดกิจกรรมประท้วงการเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ที่ต้องออกนอกประเทศกรณี 14 ตุลาคม 2516 จนรัฐบาลควบคุมไม่ได้ ไม่สามารถควบคุมฝ่ายขวาจัดที่ปลุกระดมประชาชนให้เป็นปฏิปักษ์กับนิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่ต่อต้านอำนาจเก่าเผด็จการทหาร มีการฆ่ากันเป็นสัญลักษณ์ของการข่มขู่ และเมื่อ 2 ฝ่ายเข้าปะทะกัน ก็มีการฆ่ากันในที่สาธารณะเป็นที่อุจาดสายตาอย่างมหาศาล

ในช่วงนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี และควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกด้วย จึงเป็นพลเรือนสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ที่ควบคุมกระทรวงกลาโหมด้วย แต่กระแสขวาและซ้ายรุนแรงมาก ฝ่ายทหารไม่ไว้วางใจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ขณะที่ฝ่ายซ้ายก็ใช้ความเป็นเสรีนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อความวุ่นวายมากขึ้น ผนวกกับพลังนิสิต นักศึกษารุนแรงมาก จนในที่สุด พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ ต้องทำการรัฐประหาร เรียกว่าคณะปฏิรูปการปกครอง

ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “เหลียวมองหลัง” ตอนหนึ่งว่า ท่านได้พูดคุยกับทหารคนหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นนายทหารคนสำคัญผู้หนึ่งของ จอมพลถนอม กิตติขจร โดยนายทหารคนนั้นบอกว่าอีกไม่นาน 2 จอมพล ก็จะเดินทางกลับเมืองไทย เพราะหมดขวากหนามแล้ว ซึ่งขวากหนามนี้ก็น่าจะเป็น พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เพราะท่านเพิ่งถึงแก่อสัญกรรมกะทันหัน จนมีเรื่องพูดกันไปต่างๆ นานา เพราะรัฐบาลประชาธิปัตย์กำลังจะแต่งตั้งท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ ดร.เกษม ได้เตือนว่า ขวากหนามที่ว่านั้นหมดแล้วก็จริง แต่ความรู้สึกอายุเพียงแค่ 3 ปีคงจะไม่ทำให้สังคมลืมง่ายหรอก “ผมเกรงว่าจะมีการต่อต้านจนเสียเลือดเนื้อกันขึ้นได้” เรื่องนี้น่าจะเป็นความแค้นเฉพาะบุคคล ที่มีขึ้นในกลุ่มทหารเอง และคิดว่าการสูญเสียอำนาจของ จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร เป็นเรื่องที่ถูกหักหลังกันในกลุ่มทหาร

นายทหารคนนี้บอกกับ ดร.เกษม ว่า "พวกเราทหารได้ปรึกษากันแล้วว่า บ้านเมืองปล่อยไว้อย่างนี้ไม่ได้ ขืนปล่อยไว้ก็แพ้พรรคคอมมิวนิสต์ฯ เท่านั้น ฝ่ายทหารเห็นว่าควรต้องขึ้นบันไดสองชั้น ขั้นแรกให้เกิดความยุ่งยากสับสนวุ่นวายเสียก่อน แล้วเราจึงถึงขึ้นบันไดขั้นสอง คือ ถือโอกาสทำรัฐประหารยึดอำนาจเสียเลย”

วลีนี้น่าจะเป็นทัศนคติที่ล้าสมัยและน่ารังเกียจมาก เพราะเป็นแนวคิดที่สกปรกและไร้อารยธรรม เป็นการปฏิบัติเหมือนกับการสร้างอสูรออกมาทำร้าย และทำลายล้างสังคมเสียก่อนแล้วจึงออกปราบ เรื่องนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้คิดถึงพฤติกรรมของคนเสื้อแดง ที่ใช้ความรุนแรงเรียกความรุนแรงทั้งในปี พ.ศ. 2552 และ 2553

ทหารควรที่จะนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ที่เกิดจากการก่อกวน ปั่นป่วน และบ่อนทำลาย แต่หากว่าเหตุการณ์เลวร้ายรุนแรงและเป็นภัยต่อสถาบันชาติ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข แต่ต้องยึดมั่นในคุณธรรมเป็นสำคัญ ยกเว้นเมื่อสถานการณ์ไม่สามารถแก้ไขได้ จนลุกลามเป็นสงครามกลางเมืองยืดเยื้อรุนแรงเหมือนในประเทศลิเบีย และกำลังจะเกิดขึ้นในเยเมน โดยทั้งสองประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกที่กล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนการก่อการร้ายสากล และในประเด็นนี้ คุณหญิงแสงดาว สยามวาลา ได้ไปพบกับกัดดาฟี เพื่อขอให้ยุติการสนับสนุนการก่อกบฏแยกดินแดนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกัดดาฟียอมยุติการสนับสนุนการก่อการร้ายภาคใต้

เหตุการณ์พฤษภาคม 2553 นั้น ทหารใช้ความอดทนต่อการยั่วยุ การทำร้ายทหาร และไม่มีผลีผลามออกมาใช้กำลังปราบปรามหรือบีบบังคับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ออกคำสั่งจัดการกับคนเสื้อแดง และวิจารณญาณอดกลั้น ไม่แสดงอารมณ์โกรธแค้นจนเป็นการแสดงถึงความชิงชังคนเสื้อแดง ทั้งๆ ที่ถูกอันธพาลเสื้อแดงทำร้ายจนเสียชีวิต ทำลายยุทโธปกรณ์ และยึดอาวุธปืน ทหารมิได้ออกมาปฏิบัติการเชิงแก้แค้น แต่กลับปฏิบัติการตามหน้าที่และตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ทหารเองคงจะใช้วิจารณญาณในทางการเมือง ตามสิทธิที่จะรับรู้เหตุการณ์ เหตุและผลที่เกิดขึ้นของการเมือง ที่มีการทุจริตและเป็นอัตตาประโยชน์ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุนำสู่การหมิ่นสถาบัน แม้ว่าเราอาจจะรู้เห็น แต่สาเหตุที่แท้จริงไม่ปรากฏ อาจจะเกิดจากกลุ่มอนาธิปไตยที่ต้องการล้มล้างสถาบัน หรือกลุ่มพรรคการเมืองที่ถูกขัดใจ เช่น กรณี พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ฉบับ พ.ศ. 2546 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ทำให้ทักษิณและพวกผิดหวัง เพราะ พ.ร.บ.นี้เป็นประโยชน์กับอดีตพรรคไทยรักไทย ในการวางรากฐานของครูท้องถิ่นให้เป็นฐานการเมือง เพราะมีคุณสมบัติบางประการไม่สมบูรณ์และไม่เหมาะสม

พฤษภาคมหฤโหดที่ผ่านมา การปฏิบัติการของทหารน่าจะทำให้นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ รู้ซึ้งในความคิดของทหารยุคใหม่ การปฏิบัติของทหารยุคใหม่น่าที่จะเป็นบทเรียนที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีทัศนคติที่ดีกว่าในอดีต

การเลือกตั้งทั่วไป 3 กรกฎาคม ผลอาจจะเป็นตัวชี้วัดสันติสุขในบ้านเมืองได้ เพราะผลการเลือกตั้งสร้างแนวโน้ม เนื่องจากปัญหาที่แท้จริงของสังคมไม่รับการแก้ไข ตัวปัญหาที่เกิดจากอัตตาคติ ที่ยังผูกติดกับตัวบุคคล เป็นต้นว่า การทุจริตคดโกงบ้านเมืองให้อภัยกันได้แล้วนั้น สันติสุขจะเกิดขึ้นได้อย่างไร นิรโทษกรรมทักษิณ เป็นประเด็นใหญ่ เพราะทำให้เกิดปัญหาทั้งทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์อย่างมหาศาล เมื่อข้าราชการทุจริตคดโกง ถูกลงโทษหนักกว่าชาวบ้าน แต่นักการเมืองทำผิดกฎหมายจะได้การนิรโทษกรรม สงสารข้าราชการครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น