xs
xsm
sm
md
lg

คำถามที่ยิ่งลักษณ์ต้องตอบ

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

คุณสมบัติที่มากกว่ากฎหมายกำหนดก็คือ ต้องพูดความจริง

ทำไมที่ผ่านมาต้องโกหกเพื่อพี่ชาย ทำไม?


การเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อลำดับแรกของพรรคเพื่อไทยที่มีโอกาสเป็นอย่างมากที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้นำประเทศต่อไป ทำให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจำเป็นต้องตอบคำถามเกี่ยวกับอดีตของตนเองให้สาธารณชนทราบเสียก่อนที่จะไปแสดงวิสัยทัศน์

อดีตของคนจึงเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงหรือโกหกไม่ได้โดยง่าย ในขณะที่การพูดว่าตนเองจะไปทำอะไรบ้างในอนาคตหรือเรียกว่าการแสดงวิสัยทัศน์นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงไปมาได้โดยง่าย การจะเสนอตัวให้ประชาชนเลือกนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ประชาชนทราบถึงข้อมูลทั้งในอดีตและอนาคตพร้อมกันไป

ข้อมูลหรือประวัติการศึกษา ประวัติส่วนบุคคล หรือแม้แต่ประวัติการซ่อมบำรุงรถยนต์ เรือ เครื่องบิน จึงเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อประกอบการตัดสินใจลำดับต้นๆ ว่าสมควรจะจ้าง ซื้อหรือลงทุนในคนหรือทรัพย์สินนั้นหรือไม่ หากไม่มีข้อมูลนี้ก็ตัดสินใจเลือกผิดได้โดยง่าย

คนที่มีประวัติไม่ซื่อสัตย์มาก่อนในอดีตจะให้เชื่อได้อย่างไรว่าจะซื่อตรงไม่คดโกงได้ในอนาคต หรือรถไม่เคยมีประวัติบำรุงรักษาให้เห็นเป็นประจักษ์จะยืนยันได้อย่างไรว่ามีสภาพดี

ในคดียึดทรัพย์ทักษิณจำนวน 4.6 หมื่นล้านที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์อ้างว่าได้ซื้อหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่นจำนวน 2 ล้านหุ้นจากทักษิณในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมากคือเท่ากับราคาที่ตราเอาไว้คือหุ้นละ 10 บาทเมื่อ 1 ก.ย. 43โดยมิได้ชำระเงินค่าหุ้นจำนวน 20 ล้านบาทในทันที หากแต่ออกตั๋วสัญญาใช้เงินที่ไม่มีดอกเบี้ย กำหนดชำระเงินเมื่อทวงถาม เป็นการชำระค่าหุ้นแทนเช่นเดียวกับพานทองแท้และบรรณพจน์ตามรูปที่ 1

เหตุที่ต้อง “ขาย” ก็เพราะเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนตามกฎหมาย ป.ป.ช. ทักษิณและพจมานจึงไม่สามารถถือหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่นที่เป็นบริษัท “แม่” ที่เป็นเจ้าของหลายบริษัท “ลูก” ที่เป็นคู่สัญญากับรัฐได้หากจะเข้าสู่การเมือง

ธุรกรรมตามรูปที่ 1 ที่เกิดขึ้นก่อนเลือกตั้งเพียงเล็กน้อยจึงมีพิรุธว่าเป็นการ “ขาย” หรือจงใจซุกหุ้นให้ “ถือแทน” ทักษิณและพจมานเพราะมีลูกที่บรรลุนิติภาวะเพียงคนเดียวที่ได้ไป พฤติกรรมการซื้อขายและชำระราคามีจริงหรือไม่ การรับเงินปันผลใครเป็นผู้รับที่แท้จริง จึงเป็นเครื่องชี้แสดงความเป็นเจ้าของมากกว่าชื่อที่ปรากฏในใบหุ้น

ยิ่งลักษณ์ให้การต่อศาลว่า การชำระเงินค่าหุ้นจำนวนดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อชิน คอร์ปอเรชั่นจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ถึง พ.ศ. 2549 รวมเป็นเงินปันผลที่ยิ่งลักษณ์ได้รับ 97 ล้านบาทเศษ โดยงวดแรกที่รับเงินปันผลจำนวน 9 ล้านบาทก็ได้คืนเงินจำนวนนี้เป็นเช็คจ่ายให้กับทักษิณเต็มจำนวน แต่ในงวดที่สองเมื่อรับเงินปันผลจำนวน 13.5 ล้านบาทก็เผลอคืนเต็มจำนวนไปเช่นเดียวกับงวดแรก แต่กลับลำมาแก้ “คำผิด” เป็น 11 ล้านบาทในภายหลังเพราะคืนเงินเกินมูลหนี้โดยอ้างว่าเลขาฯ ส่วนตัวเขียนตัวเลขในเช็คผิด ส่วนที่เกินหนี้ค่าหุ้น 2.5 ล้านบาทนั้น จึงอ้างว่าจ่ายให้กับพินทองทา ชินวัตรเป็นค่านาฬิกาที่ฝากซื้อจากต่างประเทศแทน

ส่วนเงินปันผลที่เหลืออีกประมาณ 70 ล้านบาทนั้น นอกจากจ่ายเข้าบัญชีตนเอง 2.1 ล้านแล้วที่เหลืออีก 68 ล้านบาทยิ่งลักษณ์อ้างต่อศาลว่าได้เบิกเป็นเงินสดนำมาตกแต่งบ้านประมาณ 20 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 6 ล้านบาท ซื้อทองคำแท่ง 13 ล้านบาท ซื้อเครื่องเพชรและเครื่องประดับ 11 ล้านบาท ซื้อเงินตราต่างประเทศ 10 ล้านบาท และสำรองไว้ที่บ้านอีก 8 ล้านบาท โดยมิได้มีใบเสร็จหรือหลักฐานอื่นใดที่สามารถนำมายืนยันว่าได้ใช้จ่ายเงิน 68 ล้านบาทไปตามที่ได้กล่าวอ้างไว้ต่อศาลแต่อย่างใด

ช่างเป็นคำกล่าวอ้างที่ขาดเหตุผลที่จะรับฟังได้ หากอ้างว่าประสบความสำเร็จเพราะความสามารถตนเองในการทำธุรกิจมิได้อาศัยใบบุญหรือเป็น “ตัวแทน” ถือหุ้นให้พี่ชายตามที่ถูกกล่าวหา แต่เหตุใดเพียงเมื่อ 10 ปีที่แล้วมาจึงไม่ชำระเงินค่าหุ้นที่พี่ชายขายให้ในราคาที่ถูกแสนถูกในทันทีทั้งที่มีเงินซื้อนาฬิกาได้คราวละหลายล้านบาทแต่ต้องรอรับเงินปันผลเสียก่อนจึงชำระหนี้ค่าหุ้นให้ตามงวดเงินปันผล แถมยังเผลอชำระเงินเกินกว่าหนี้ที่มีอยู่เสียอีก

ในทำนองเดียวกัน การรับเงินปันผลก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าตนเองเป็นผู้รับจริงเพราะชี้แจงได้แต่ตอนรับ แต่กลับไม่มีเงินอยู่ในมือ เมื่อไม่มีหลักฐานชี้แจงต่อศาลได้ว่าเงินปันผลที่ตนได้รับมาหายไปไหนก็อ้างเพียงว่ามีการเบิกเงินสด 68 ล้านบาทมาใช้จ่ายส่วนตัวโดยปราศจากหลักฐานการจ่ายเงินมาสนับสนุน

ยิ่งลักษณ์ยังได้ร่วมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาในครั้งแรกยื่นอุทธรณ์คดียึดทรัพย์นี้ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ อีกครั้งหนึ่งโดยยืนยันว่าตนเองได้ถือครองหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่นเพราะได้ซื้อหุ้นจากทักษิณโดยอ้างเอกสารและพยานบุคคลที่อ้างว่าเป็นหลักฐานใหม่ แต่ศาลฯ ก็ได้วินิจฉัยว่าเป็นหลักฐานที่ยิ่งลักษณ์รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ถึงความมีอยู่ก่อนที่ยิ่งลักษณ์จะยื่นคำร้องต่อสู้คดีนี้ตั้งแต่ต้น ดังนั้นจึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่ที่ศาลพึงจะรับอุทธรณ์ไว้ได้แต่อย่างใดเช่นเดียวกับผู้ถูกยึดทรัพย์อื่นๆ ทั้งในตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์

คำถามที่ยิ่งลักษณ์จะต้องตอบต่อสังคมเกี่ยวกับพฤติกรรมในอดีตของตนเองก็คือ เหตุใดจึงเข้าไปเป็น “ตัวแทน” ถือหุ้นให้กับพี่ชายทั้งๆ ที่ตนเองก็มีวัยวุฒิและคุณวุฒิที่รู้ผิดชอบชั่วดีแล้วมิใช่หรือ หากยิ่งลักษณ์รักพี่ชายเหนือกว่ากติกาที่เป็นความถูกต้องของสังคม เช่น กฎหมายที่มีอยู่ ยิ่งลักษณ์จะเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนรวมให้เหนือกว่าผลประโยชน์ของชินวัตรและหรือดามาพงศ์ได้อย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อศาลฯ มีคำวินิจฉัยยึดทรัพย์ออกมาให้เห็นเป็นประจักษ์ก็น่าจะมีความละอายต่อบาปไม่สมควรที่จะยื่นอุทธรณ์ในประเด็นที่ศาลฯ ได้แสดงเหตุผลให้เห็นแล้วว่าหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่นที่เป็นของทักษิณและพจมานได้ทำนิติกรรมอำพรางหลอกลวงคนทั่วไปให้เข้าใจว่าได้ขายไปให้ลูก 2 คน น้องสาวสามี พี่ชายบุญธรรมภรรยานั้นชัดเจนมากเพียงใด ไม่มีบุคคลทั่วไปจะอ้างเหตุผลที่ขาดสติเช่นนี้ได้

กรรมจึงเป็นเครื่องชี้เจตนาโดยแท้ การกระทำผิดซ้ำๆ กันแสดงให้เห็นถึงเจตนาว่าละเลยผิดชอบชั่วดีเพียงใด ยิ่งลักษณ์เลือกที่จะให้การเท็จในทั้งชั้น คตส.และศาล รวมถึงต่อ กลต.ในการรับโอนหุ้นเพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือพี่ชาย ซึ่งล้วนเป็นความผิดอาญาที่ ป.ป.ช. กลต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินคดีอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะดำเนินการเมื่อใดเท่านั้น

ชะตากรรมของยิ่งลักษณ์ที่พูดเท็จ “ถือหุ้นแทน” เพื่อพี่ชายจึงตกที่นั่งเดียวกับทักษิณในอดีตที่มี “ชนักติดหลัง” โกหก “ซุกหุ้น” ไว้กับคนใช้ คนขับรถ อันเป็นการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเหนือประโยชน์ส่วนรวม การกระทำเยี่ยงนี้หรือที่ทักษิณกล่าวอยู่เสมอๆ ว่ารักน้องคนนี้มาก

การออกมาตอบคำถามกับประชาชนในที่สาธารณะพร้อมๆ กันหรือ Debate ระหว่างผู้ที่จะเข้ามาอาสารับใช้ประชาชนจึงเป็นการให้เกียรติประชาชนเจ้าของสิทธิอย่างแท้จริง เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ผู้ที่เสนอตนให้ประชาชนเลือกไปทำงานแทนต้องมาตอบคำถามในสิ่งที่ประชาชนอยากถาม มิใช่เอาแต่เฉพาะที่อยากตอบ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็นการมาให้ข้อมูลกับประชาชนเพื่อการตรวจสอบก่อนตัดสินใจ

การไม่มาให้ซักถามก็แสดงถึงเจตนาไม่ดี ไม่โปร่งใส และมีวาระซ่อนเร้น ของผู้อาสาเรามาทำงาน ดูตัวอย่างที่ผ่านมาก็ได้ว่า ทักษิณก็ไม่ยอมมา สมัครก็ไม่ยอมมา แล้วรัฐบาลทั้งสองได้ทำความเสียหายกับประเทศจากวาระซ่อนเร้นมากน้อยเพียงใด ใครไม่มาให้ถามก็อย่าไปเลือก

อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะคำตอบที่ไร้สาระก็มาจากคำถามที่ไร้สาระ หากคำถามดีแต่ตอบไร้สาระก็ “ฆ่าตัวตาย” กลางเวทีเท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องของการ “ตีฝีปาก” เพราะต่างก็มีเวลาตอบเท่ากันและถูกถามด้วยคำถามเดียวกัน ทำไมผู้ลงคะแนนจึงไม่สมควรที่จะมีโอกาสได้ ฟัง ถาม และใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจก่อนจะลงคะแนน

“เวลาที่ยังไม่พูด เราเป็นนายคำพูด แต่เมื่อพูดออกไปแล้ว คำพูดเป็นนายเรา” คำตอบที่ผู้อาสามาทำงานจะจริงหรือเท็จ การกระทำและเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่เมื่อออกมาตอบคำถาม คำพูดเป็นนายคนพูดไปแล้ว ประชาชนจึงเป็นผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง

“การเมืองใหม่” จึงเป็นเรื่องของการแสวงหาความจริงและหาวิธีบังคับให้นักการเมืองต้องมีจุดยืน ผูกพันกับคำพูดของตนเองที่ได้พูดออกไป ประชาธิปไตยจึงจะมีมากกว่า 4 วินาทีตอนหย่อนบัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น