กองบัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมดูแลการเลือกตั้งวให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย แม้จะยุบ ศอ.รส.ทิ้งแล้วก็ตาม โดยได้เตรียมกำลังไว้ดูแลให้ครอบคลุมทั่วถึงกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ ที่ทำการพรรค บุคคลสำคัญ และตัวผู้สมัครเอง รวมทั้งป้ายหาเสียงของพรรคต่างๆ ด้วย
วันนี้ (25 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย ผบก.อก.โฆษก บช.น.เปิดเผยกรณีมีการปิดศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. ในความรับผิดชอบของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดย ศอ.รส.ไม่ขอขยายเวลาการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และการเตรียมความพร้อมในการดูแลการเลือกตั้งในพื้นที่ กทม.ว่า บช.น.ขอแถลงความพร้อมหลังจากมีการไม่ต่ออายุ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบช.น.ก็แถลงความพร้อมในการดูแลพื้นที่ต่อ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.แล้ว โดยภารกิจต่อไปจะเป็นการดูแลการเลือกตั้งและใช้โครงการลดอาชญากรรมผสมผสานไป โดยกำหนดเป็นแผนปฏิบัติในการดูแลพื้นที่ กทม.
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า การดูแลดังกล่าวแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ 1.พื้นที่ที่ยังมีการชุมนุมอย่างต่อเนื่องหรือเชิงสัญลักษณ์ของประเทศ เช่น พื้นที่รอบทำเนียบรัฐบาล สถานเอกอัครราชทูตต่างๆที่สำคัญ ยังมีตำรวจดูแลเต็มพื้นที่อยู่ เช่น ทำเนียบรัฐบาลมีกำลังจากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) อย่างน้อย 2 กองร้อยอยู่ประจำตลอดเวลา และให้พล.ต.ต.สมพงษ์ ชิงดวง ผบก.อคฝ. เป็น ผบ.เหตุการณ์ คือ เมื่อมีเหตุอะไรเกิดขึ้น ก็ตัดสินใจได้ทันที ส่วนถนนโดยรอบให้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 และ พล.ต.ต.อุทัยวรรณ แก้วสอาด ผบก.จร.รับผิดชอบ 2.พื้นที่ที่มีความสำคัญทางการเมือง บ้านพักบุคคลสำคัญในประเทศ พรรคการเมืองที่สำคัญ ซึ่งได้มีการกำหนดมาตรการดูแล โดยให้ ผบก.น.1-9 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เหล่านี้เป็นผู้ดูแล สามารถใช้กำลัง ปจ.ของตนเองที่มีอย่างต่ำ บก.ละ 2 กองร้อย และชุมจู่โจม ที่มีหัวหน้า 3 นาย และผู้ปฏิบัติการ 30 นาย เข้าดูแล
3.พื้นที่ที่มีการหาเสียงทางการเมือง หรือพื้นที่ที่มีการชุมนุมอย่างไม่เป็นประจำ เช่น แยกราชประสงค์ ลานพระรูป ร.6 สวนลุมพินี อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หน้าเรือนจำ หรือสวนสาธารณะต่างๆ หรือจุดที่มีการเข้าไปหาเสียง หรือ กทม.จัดให้ไปหาเสียง นอกเหนือจากกำลังพื้นที่แล้ว ให้ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (บก.สปพ.) กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) และกองบังคับการสืบสวนสอบสวน (บก.สส.) ให้พร้อมสนับสนุนกำลังปฏิบัติในแต่ละพื้นที่ตลอดเวลา เพื่อสนธิกำลังร่วมกัน แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้ ศูนย์ปฏิบัติการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศปก.น.) และ 4.พื้นที่อื่นๆตามแหล่งชุมชนต่างๆ หรือมีสถิติอาชญากรรมสูง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเดินไปหาเสียง ให้หัวหน้า สน.ดูแล โดยกำลังทั้งหมดเตรียมความพร้อมก่อนเลือกตั้ง 1 เดือน โดย ผบ.ตร.ให้ บช.น.ฝึกอบรมตำรวจ เตรียมยุทธวิธีตำรวจ การอารักขาความปลอดภัย โดยได้อบรมสายตรวจ ฝ่ายสืบสวน และฝ่ายดูแลความปลอดภัยแล้ว ซึ่งในสัปดาห์นี้จะอบรมเจ้าหน้าที่จราจรอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้นกรณีดูแลพื้นที่ที่มีการหาเสียง ไปเคาะประตูบ้าน หรือหากผู้ลงสมัครเลือกตั้งขอมา บช.น.ก็เตรียมกำลังไว้แล้ว
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อีกส่วนเกือบ 1 หมื่นนาย ที่ดูแลวันเลือกตั้งทั้งสถานที่เลือกตั้ง กกต.และสำนักงานเขตอื่นๆ นอกจากกำลังพื้นที่จะดูแลแล้ว ผบช.น.ได้ขอกำลังจากหน่วยข้างเคียงไม่ว่าจะเป็น กทม. สารวัตรทหาร ทั้งบก เรือ อากาศ มาช่วยเหลือกรณีกำลังดูแลหน่วยเลือกตั้งไม่เพียงพอ สัปดาห์หน้าทาง พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น.ดูแลงานสอบสวน จะนำคณะฝ่ายกฎหมาย ไปอบรมที่ศูนย์กีฬาเวสน์ สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เพื่อให้ความรู้ตำรวจที่ดูแลหน่วยเลือกตั้ง ให้รู้ทั้งข้อกฎหมาย มาตรการต่างๆ ข้อห้าม ข้อปฏิบัติ ซึ่ง ผบช.น.ให้ความมั่นใจได้ว่า แม้ไม่มี พ.ร.บ.ความมั่นคง กำลังตำรวจก็เตรียมพร้อมตลอดเวลา และทุกวันเวลา 09.00 น.จะมีการประชุมวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ของ ตร. บช.น.และทุกหน่วยทั่วประเทศทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งจะต้องมีการรายการสถานการณ์ทุก 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยทางกองบังคับการอำนวยการ (บก.อก.) จะจัดทำคู่มือขนาดเล็ก ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย เป็นคู่มือดูว่าอะไรเข้าข่ายผิดกฎหมาย ข้อปฏิบัติเป็นอย่างไร ส่วนเครื่องตรวจวัตถุระเบิด เครื่องสแกนต่างๆ ก็เตรียมพร้อมแล้ว หากมีการร้องขอตรวจตราต่างๆ ทุกพื้นที่ บช.น.ก็พร้อมดูแล
“ล่าสุด จากการตรวจสอบรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขตในพื้นที่กรุงเทพฯมี 171 ท่าน ซึ่งตำรวจมีข้อมูลทั้งหมดแล้ว พร้อมดูแลความปลอดภัยหากร้องขอ และทุกท่าน ทุกพรรคการเมืองจะไปพื้นที่ใดแล้วคิดว่าไม่ปลอดภัย ก็แจ้งตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้เข้าไปดูแลได้” ผบก.อก.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการพบเห็นกรณีทำลายป้ายหาเสียง พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า เบื้องต้นได้สำรวจส่วนหนึ่งแล้ว แต่ป้ายนั้นเป็นทรัพย์สินของเจ้าของ เท่าที่ทราบมีการแจ้ง กกต.ว่าเริ่มมีการขีดเขียนบ้าง แต่แจ้งเป็นหลักฐานในการดำเนินคดียังไม่มี โดยให้ สน.พื้นที่ดูแลป้ายเหล่านี้ โดยให้ไปตรวจสอบ และแจ้งข้อมูลมายังศูนย์เลือกตั้งของ บก.และบช.น.ด้วย อีกส่วนแจ้งไปยังเจ้าของป้ายให้พรรคนั้นๆ ทราบ และ ตร.มีนโยบายให้ทุก บช.ไปประชาสัมพันธ์ สอดส่อง ตรวจตรา ดูแลป้ายของตนเองด้วย และขอให้ทุกคนช่วยกันดู ซึ่งผิดทั้งกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายอาญาปกติ การขีดเขียน ที่ไม่เหมาะสมไม่บังควร กระทบกระเทือนชื่อเสียงก็แจ้งหมิ่นประมาทด้วย ส่วนทำลายป้ายมีโทษทำให้เสียทรัพย์ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท บางเรื่องก็อาจมีความผิดหลายอย่างต้องระวัง เพราะความผิดกฎหมายเลือกตั้งก็มีเฉพาะนอกเหนือกฎหมายอาญาอยู่แล้ว
เมื่อถามอีกว่า ขณะนี้ผู้สมัครเลือกตั้งมีการร้องขอความคุ้มครองหรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ตอนนี้ทั้ง 171 ท่าน ยังไม่มี แต่บุคคลสำคัญได้ส่งกำลังไปดูแลอยู่แล้ว โดยไม่ต้องร้องขอ ส่วนการจับตามองผู้ที่อาจก่อเหตุ หลังจากพล.ต.ต.รณศิลป์ ภู่สาระ ผบก.สส.กล่าวถึง 13 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีประวัติ ก็ส่งเจ้าหน้าที่ประกบแล้ว โดยบุคคลเหล่านั้น ยังไม่มีความผิดอะไร แต่ก็ประกบตัวไว้ แต่อีกกลุ่มไม่ก่อเหตุอะไร แต่มีประวัติว่าชอบก่อความรุนแรง ทาง พล.ต.ต.สุเมธ เรืองสวัสดิ์ และ พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ รองผบช.น.ก็จับตาดูอยู่แล้ว ส่วนการหาเสียงที่มีการไปก่อกวนก็ส่งตำรวจดูแลอยู่แล้ว โดยพื้นที่ กทม.ก็อาจไม่มีอะไรรุนแรง คาดว่าไม่น่าเป็นห่วงอะไร