ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์สำหรับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หุ่นตัวใหม่ของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกพี่ชายเชิดขึ้นมาเป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หมายเลข 1 พรรคเพื่อไทย ด้วยความหวังว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย เพื่อแก้กฎหมาย ลบล้างความผิดทั้งหมดของตัวเอง
พิจารณาจากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะกับสื่อที่ตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาถึงวาระซ่อนเร้นของเธอ ลีลาท่วงท่าของนารีขี่ม้าขาว ไม่ต่างอะไรจากการตอบคำถามของผู้สมัครประกวดนางงามทั้งหลายที่ตอบตามบทที่เตรียมมาเท่านั้น หากถูกรุกไล่คาดคั้นก็จะวกกลับไปท่องคำว่า “นิติรัฐ-ปรองดอง” เป็นแผ่นเสียงตกร่อง โดยไม่สามารถขยายความให้กระจ่างไปกว่านี้ได้เลยว่ามันคืออะไร โดนจี้มากๆ เข้าก็จะโยนไปให้ “คณะกรรมการ”
สำหรับสื่อที่ทำข่าวด้านโทรคมนาคม และอสังหาริมทรัพย์ ที่รู้จัก “คุณปู” มานาน คงคุ้นแล้วกับการท่องบท พูดตาม “โพย” ที่ลูกน้องเตรียมไว้ให้ เรื่องไหนที่ไม่อยู่ในบทที่เตรียมมา เธอตอบไม่ได้เพราะไม่มีข้อมูล และไม่รู้จริงในเรื่องนั้นๆ เพราะตำแหน่งประธานกรรมการบริหารที่เป็นอยู่ได้เป็นเพราะเป็นตัวแทนของพี่ชาย-พี่สะใภ้เท่านั้น ใครอยากได้ข้อมูลเรื่อง การดำเนินงานของกิจการหรือภาพรวมอุตสาหกรรม ต้องถามจากผู้บริหารที่เป็นตัวจริงเสียงจริง
นี่คือประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจหมื่นล้านที่ นช.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ภูมิใจนำเสนอ
แต่สำหรับประชาชนที่เพิ่งจะเคยได้ฟังการตอบคำถามของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะผู้เสนอตัวจะมาเป็นผู้นำ คงจะทำใจลำบาก หากประเทศจะต้องมีผู้นำเช่นนี้
ตอนที่ นช.ทักษิณทำการโคลนนิ่งน้องสาว คงมัวแต่ถ่ายทอดนิสัยใจคอแบบเดียวกันมาให้ เลยลืมโคลนนิ่งสมองให้ด้วย
หนึ่งสัปดาห์ของการถูกเชิดขึ้นสู่เวทีการเมือง ยิ่งลักษณ์ประสบความสำเร็จในการชิงพื้นที่ข่าว ตามประสาของใหม่ บวกกับขบวนการปั้น-ปั่นข่าว แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกเปิดแผล ที่เกิดขึ้นจาก การถูกพี่ชาย พี่สะใภ้ ใช้เป็นเครื่องมือในการซุกหุ้นภาคสอง
แก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการ คตส. เชื่อว่ายิ่งลักษณ์จะต้องถูกดำเนินคดีใน 3 คดีที่รออยู่ คือ 1.เบิกความเท็จต่อศาลในคดียึดทรัพย์ทักษิณ 2.ให้การเท็จต่อ คตส. และ 3.คดีการโอนหุ้นเป็นเท็จต่อ ก.ล.ต.ในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ
“ยิ่งลักษณ์ก็อาจซวยเพราะเขาโผล่มาช่วยพี่ แต่ศาลไม่เชื่อ ซึ่งเป็นการเบิกความเท็จต่อศาล เมื่ออาสาเป็นนายกฯ ก็ต้องถูกถามเป็นธรรมดา ในแง่กฎหมายก็ถือว่าเป็นลูกไก่ในกำมือ ก็ไม่รู้ว่าหน่วยงานที่ต้องดำเนินคดีกับยิ่งลักษณ์อย่าง ป.ป.ช. และ ก.ล.ต.จะทำเมื่อไร” แก้วสรร ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่ในบัญชีแค้นของตระกูลชินวัตรกล่าว
ย้อนกลับไปดูคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่างทางการเมือง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ชี้ว่า นช.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ครอบครองหุ้นชินคอร์ป จำนวน 1,419,490,150 หุ้น ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้ยึดเงินที่ได้จากการขายหุ้นจำนวนนี้ ให้กลุ่มเทมาเส็ก เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 มูลค่า 46,373 ล้านบาท ให้เป็นของแผ่นดิน
เงินก้อนนี้ มีเงินที่อยู่ในบัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาพหลโยธิน เลขที่ 014-1-11300-9 ของยิ่งลักษณ์รวมอยู่ด้วย เป็นเงินที่ยิ่งลักษณ์อ้างว่า ได้จากการขายหุ้นชินคอร์ป 20 ล้านหุ้น ให้บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทของกลุ่มเทมาเส็ก ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นผุ้ซื้อหุ้นชินคอร์ป เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ได้เงินมา 928 ล้านบาท นำเข้าบัญชีนี้ และในวันที่ถูก คตส. อายัด มีเงินเหลืออยู่ในบัญชี 602 ล้านบาท
ยิ่งลักษณ์ซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 4 ในคดีนี้ ให้การว่า ซื้อหุ้นชินคอร์ป 20 ล้านหุ้น ในราคาพาร์คือหุ้นละ 1 บาท จาก นช.ทักษิณ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 เพื่อเป็นทุนในอนาคต โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นการชำระค่าหุ้น 20 ล้านบาท
คตส.ไม่เชื่อว่า ยิ่งลักษ์ณซื้อหุ้นชินคอร์ป 20 ล้านหุ้นนี้จริง แต่เป็นการถือไว้แทนพี่ชาย และพี่สะใภ้ ที่ต้องการซุกหุ้นไว้ในระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี และเหตุที่ต้องมาซุกหุ้น 20 ล้านหุ้นไว้ตรงนี้เพราะทั้ง นช.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ได้โอนหุ้น ให้นายพานทองแท้ ชินวัตรลูกชายไปแล้ว รวม 73 ล้านหุ้น เท่ากับร้อยละ 24.99 ของหุ้นชินคอร์ปทั้งหมด หากจะโอนมากกว่านี้ ก็จะเกินร้อยละ 25 เข้าข่ายการครอบงำกิจการ ต้องทำคำเสนอซื้อขายหุ้นหรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ตามกฎของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.
ดังนั้นจึงต้องเอาหุ้นที่เหลืออีก 2 ล้านหุ้นไปซุกไว้ที่ยิ่งลักษณ์ และอีก 26 ล้าน 8 แสนหุ้น ไปไว้ที่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์
การที่ คตส.เชื่อว่า ยิ่งลักษณ์รับซุกหุ้นให้พี่ชายก็เพราะว่า ยิ่งลักษณ์ซื้อหุ้นไปแล้ว ไม่ได้มีการชำระเงินตามตั๋วสัญญาใข้เงินที่อ้างว่าออกให้ ทั้งๆ ที่บอกว่า ซื้อตามกำลังที่มีอยู่ แต่มาชำระให้เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 3 ปี คือ เมื่อได้รับเงินปันผลจากชินคอร์ปงวดแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 จำนวน 9 ล้านบาท และงวดที่สอง 13.5 ล้านบาท ตอนปลายปีเดียวกัน
เงินปันผลทั้ง 2 งวด รวมกันแล้ว 22.5 ล้านบาท มากกว่าค่าหุ้นที่ยิ่งลักษณ์อ้างว่า ซื้อมาจากพี่ชาย 20 ล้านบาท จึงมีการแก้ไขตัวเลขใหม่เป็น 11.5 ล้านบาท เพื่อให้ตัวเลขรวมเท่ากับ 20 ล้านบาท โดยยิ่งลักษณ์อ้างว่า เลขานุการเขียนตัวเลขในเช็คใบที่สองผิดไป 2.5 ล้านบาท
ตรงนี้ เป็นพิรุธที่ คตส.จับได้ เหมือนกับที่ พิรุธที่ นายบรรณพจน์ จ่ายเช็คให้คุณหญิงพจมาน โดยระบุในเช็คว่าเป็น “คุณหญิง” ทั้งๆ ที่ ณ วันที่ ปรากฏในเช็คนั้น พจมานยังไม่ได้เป็นคุณหญิง และทำให้อนุมานได้ว่ายิ่งลักษณ์เป็นเพียง “นอมินี” ของพี่ชายเท่านั้น เมื่อได้รับเงินปันผลมาแล้วก็ส่งต่อไปบัญชีพี่ชาย โดยไม่สนใจว่างินที่จ่ายไปนั้นเกินกว่าราคาซื้อหุ้น 20 ล้านหุ้นหรือไม่ เพราะไม่ใช่หน้าที่ และรู้อยู่แล้วว่าไม่มีการซื้อขายหุ้นจริง
เงินอีก 2.5 ล้านบาท ที่เหลือหลังจากแก้ไขเช็คใบที่สองแล้ว ยิ่งลักษณ์บอกว่าจ่ายให้กับหลานสาวคือ พินทองทา เป็นค่านาฬิกาหรูหลายเรือนที่ฝากซื้อจากต่างประเทศ
ยิ่งลักษณ์ได้รับเงินปันผลชินคอร์ป 6 งวด เป็นเงิ น 97 ล้าน 2 แสนบาท สองงวดแรกจ่ายให้ทักษิณไปแล้ว งวดที่ 3 ถึง 6 ชินคอร์ปจ่ายเช็ครวม 44 ฉบับ สั่งจ่ายเข้าบัญชีธนาคารยิ่งลักษณ์ 2 ฉบับ เป็นเงิน 2 ล้าน 1 แสนบาท อีก 42 ฉบับจ่ายเป็น เช็คเงินสด รวม 68 ล้านบาท
แม้ คตส.จะไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าได้มีการโอนเงินปันผลจำนวน 68 ล้านบาทนี้ไปให้ทักษิณ ในฐานะผู้ถือหุ้นตัวจริง แต่เงินก้อนนี้ได้หายไปจากบัญชีของยิ่งลักษณ์ โดยยิ่งลักษณ์อ้างว่าเงินจำนวนนี้นำมาตกแต่งบ้าน ทำสวน สนามฟุตบอล และสระว่ายน้ำ ประมาณ 20 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 6 ล้านบาท ซื้อทองคำแท่ง 13 ล้านบาท ซื้อเครื่องเพชรและเครื่องประดับ 11 ล้านบาท ซื้อเงินตราต่างประเทศ 10 ล้านบาท และสำรองไว้ที่ล้าน 8 ล้านบาท แต่ ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินสดที่มากถึง 68 ล้านบาทมาแสดง ศาลจึงไม่เชื่อในข้ออ้างถึงที่ไปของเงิน 68 ล้านบาทนี้
เมื่อถูกถามถึงเรื่องที่แก้วสรรชี้ประเด็นขึ้นมานี้ ยิ่งลักษณ์ตอบไมได้ ได้แต่พูดว่า ได้ให้การไปหมดแล้วในศาลเท่านั้น ซึ่งเป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว
อีกครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้พูด คือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เชื่อคำให้การของยิ่งลักษณ์!