xs
xsm
sm
md
lg

ความจริงที่ไล่ล่า “ปู โคลนนิ่ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บรรดาลิ่วล้อของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาตอบโต้ “เครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอร์รัปชันทักษิณ” หรือ “คนท.” ที่มีนายแก้วสรร อติโพธิ และนายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ เป็นตัวตั้งตัวตี ในการเคลื่อนไหวกล่าวโทษ “ปู โคลนนิ่ง” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าให้การเท็จ ยังไม่เห็นมีใครดต้แย้งในเนื้อหาสาระที่ คนท.กล่าวหาว่าเป็นเท็จตรงไหนบ้าง แล้วที่เป็นจริงคืออะไร

มีแต่คำตอบโต้แบบลอยๆ ว่ารังแกผู้หญิงบ้าง เป็นการดิสเครดิต ทำลายกันทางการเมืองบ้าง เป็นแผนของ ปชป.บ้าง

ตัวยิ่งลักษณ์เองได้แต่ท่องคำว่า “พร้อมรับการตรวจสอบ” ตามที่ทีมงานปั้นหุ่นป้อนโปรแกรมให้พูด ซึ่งในข้อเท็จจริงเธอไม่ต้องถูกตรวจสอบอะไรอีกแล้ว เพราะคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดี นช.ทักษิณ ชินวัตร ซุกหุ้นชินคอร์ป ชี้ขาดว่า คำแก้ตัวของเธอที่ให้การต่อศาลว่า หุ้นชินคอร์ป 2 ล้านหุ้น ซึ่งต่อมาแตกพาร์เป็น 20 ล้านหุ้น เป็นของตัวเธอเองจริงๆ นั้น ฟังไม่ขึ้น ด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0

อาชญากรย่อมทิ้งร่องรอยของการก่ออาชญากรรมไว้ฉันใด การทำผิดกฎหมาย แอบซุกหุ้นไว้กับลูก น้องสาว และพี่เมีย ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ นช.ทักษิณ ก็ทิ้งหลักฐานและข้อพิรุธไว้มากมายฉันนั้น

ย้อนกลับไปดูคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่างทางการเมือง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ชี้ว่า นช.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ครอบครองหุ้นชินคอร์ป จำนวน 1,419,490,150 หุ้น ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้ยึดเงินที่ได้จากการขายหุ้นจำนวนนี้ ให้กลุ่มเทมาเส็ก เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 มูลค่า 46,373 ล้านบาท ให้เป็นของแผ่นดิน

เงินก้อนนี้ มีเงินที่อยู่ในบัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาพหลโยธิน เลขที่ 014-1-11300-9 ของยิ่งลักษณ์รวมอยู่ด้วย เป็นเงินที่ยิ่งลักษณ์อ้างว่า ได้จากการขายหุ้นชินคอร์ป 20 ล้านหุ้น ให้บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทของกลุ่มเทมาเส็ก ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นผุ้ซื้อหุ้นชินคอร์ป เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ได้เงินมา 928 ล้านบาท นำเข้าบัญชีนี้ และในวันที่ถูก คตส. อายัด มีเงินเหลืออยู่ในบัญชี 602 ล้านบาท

ยิ่งลักษณ์ซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 4 ในคดีนี้ ให้การว่า ซื้อหุ้นชินคอร์ป 2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท จาก นช.ทักษิณ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 เพื่อเป็นทุนในอนาคต โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นการชำระค่าหุ้น 20 ล้านบาท

คตส.ไม่เชื่อว่า ยิ่งลักษ์ณซื้อหุ้นชินคอร์ป 2 ล้านหุ้นนี้จริง แต่เป็นการถือไว้แทนพี่ชาย และพี่สะใภ้ ที่ต้องการซุกหุ้นไว้ในระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี และเหตุที่ต้องมาซุกหุ้น 2 ล้านหุ้นไว้ตรงนี้เพราะทั้ง นช.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ได้โอนหุ้น ให้นายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายไปแล้ว รวม 73 ล้านหุ้น เท่ากับร้อยละ 24.99 ของหุ้นชินคอร์ปทั้งหมด หากจะโอนมากกว่านี้ก็จะเกินร้อยละ 25 เข้าข่ายการครอบงำกิจการ ต้องทำคำเสนอซื้อขายหุ้นหรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ตามกฎของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.

ดังนั้นจึงต้องเอาหุ้นที่เหลืออีก 2 ล้านหุ้นไปซุกไว้ที่ยิ่งลักษณ์ และอีก 26 ล้าน 8 แสนหุ้น ไปไว้ที่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์

การที่ คตส.เชื่อว่า ยิ่งลักษณ์รับซุกหุ้นให้พี่ชายก็เพราะว่า ยิ่งลักษณ์ซื้อหุ้นไปแล้วไม่ได้มีการชำระเงินตามตั๋วสัญญาใข้เงินที่อ้างว่าออกให้ ทั้งๆ ที่บอกว่าซื้อตามกำลังที่มีอยู่ แต่มาชำระให้เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 3 ปี คือเมื่อได้รับเงินปันผลจากชินคอร์ปงวดแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 จำนวน 9 ล้านบาท และงวดที่สอง 13.5 ล้านบาท ตอนปลายปีเดียวกัน

เงินปันผลทั้ง 2 งวด รวมกันแล้ว 22.5 ล้านบาท มากกว่าค่าหุ้นที่ยิ่งลักษณ์อ้างว่าซื้อมาจากพี่ชาย 20 ล้านบาท จึงมีการแก้ไขตัวเลขใหม่เป็น 11.5 ล้านบาท เพื่อให้ตัวเลขรวมเท่ากับ 20 ล้านบาท โดยยิ่งลักษณ์อ้างว่า เลขานุการเขียนตัวเลขในเช็คใบที่สองผิดไป 2.5 ล้านบาท

ตรงนี้เป็น “ข้อพิรุธหนึ่ง” ที่ คตส.จับได้ เหมือนกับที่พิรุธที่นายบรรณพจน์จ่ายเช็คให้คุณหญิงพจมาน โดยระบุในเช็คว่าเป็น “คุณหญิง” ทั้งๆ ที่ ณ วันที่ ปรากฏในเช็คนั้น พจมานยังไม่ได้เป็นคุณหญิง และทำให้อนุมานได้ว่ายิ่งลักษณ์เป็นเพียง “นอมินี” ของพี่ชายเท่านั้น เมื่อได้รับเงินปันผลมาแล้วก็ส่งต่อไปบัญชีพี่ชาย โดยไม่สนใจว่างินที่จ่ายไปนั้นเกินกว่าราคาซื้อหุ้น 20 ล้านหุ้นหรือไม่ เพราะไม่ใช่หน้าที่ และรู้อยู่แล้วว่าไม่มีการซื้อขายหุ้นจริง

เงินอีก 2.5 ล้านบาทที่เหลือหลังจากแก้ไขเช็คใบที่สองแล้ว ยิ่งลักษณ์บอกว่าจ่ายให้กับหลานสาว คือ พินทองทา เป็นค่านาฬิกาหรูหลายเรือนที่ฝากซื้อจากต่างประเทศ

ยิ่งลักษณ์ได้รับเงินปันผลชินคอร์ป 6 งวด เป็นเงิ น 97 ล้าน 2 แสนบาท สองงวดแรกจ่ายให้ทักษิณไปแล้ว งวดที่ 3 ชินคอร์ปจ่ายปันผล ให้วันที่ 21 พฤษภาคม 2547 เป็นเงิน 16.2 ล้านบาท งวดที่ 4 วันที่ 10 กันยายน 2547 จำนวน 16.56 ล้านบาท งวดที่ 5 วันที่ 12 เมษายน 2548 จำนวน 19.44 ล้านบาท และงวดที่ 6 วันที่ 7 กันยายน 2548 เป็นเงิน 22.5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน ประมาณ 74 ล้านบาท

ทุกครั้งที่รับเงินปันผลมา ถัดมาอีกไม่กี่วัน ยิ่งลักษณ์จะโยกเงินปันผลนี้ออกจากบัญชีเกือบหมด ด้วยการจ่ายเช็ค เบิกเงินสดทุกวัน โดยจ่ายเช็คหมายเลขต่อเนื่องกัน ครั้งละไม่เกิน 2 ล้านบาท จนกว่าเงินจะหมด รวมเป็นเช็ค 41 ฉบับ คิดเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 66.5 ล้านบาท

เงินก้อนนี้ ยิ่งลักษณ์เบิกไปทำอะไร!?

เธอให้การต่อศาลว่า เงินปันผลที่ได้มา นำมาตกแต่งบ้าน ทำสวน สนามฟุตบอล และสระว่ายน้ำ ประมาณ 20 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 6 ล้านบาท ซื้อทองคำแท่ง 13 ล้านบาท ซื้อเครื่องเพชรและเครื่องประดับ 11 ล้านบาท ซื้อเงินตราต่างประเทศ 10 ล้านบาท และสำรองไว้ที่ล้าน 8 ล้านบาท รวม 68 ล้านบาท แต่ ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินสดที่มากถึง 68 ล้านบาทมาแสดง ศาลจึงไม่เชื่อในข้ออ้างถึงที่ไปของเงิน 68 ล้านบาทนี้

คำให้การของยิ่งลักษณ์ จึงไม่อาจหักล้างข้อกล่าวหาของ คตส.ที่ว่า เธอรับซุกหุ้น 2 ล้านหุ้นให้พี่ชาย และรับเงินปันผลแทน เมื่อได้เงินปันผลมาแล้ว จึงเบิกถอนออกจากบัญชี เพื่อจ่ายคืนให้ผู้ถือหุ้นตัวจริง

นี่คือ ความจริงที่ยิ่งลักษณ์ตอบไม่ได้ และลิ่วล้อของ นช.ทักษิณ ไม่สามารถหักล้างได้เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น