xs
xsm
sm
md
lg

พึงเตือนตนด้วยตน : ข้อเตือนใจนักปราชญ์การเมือง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“อตฺตนา โจทยตฺตานํ” แปลโดยใจความว่า บุคคลพึงเตือนตนด้วยตน หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ คนควรเตือนตนเอง โดยการสำรวจ ตรวจสอบพฤติกรรม หรือการกระทำทั้งทางกาย และทางวาจาตลอดเวลา หากพบว่ามีความบกพร่อง ผิดพลาดอันเกิดจากการกระทำของตนก็ควรเร่งรีบปรับปรุงแก้ไขด้วยตนเอง ไม่ต้องรอให้คนอื่นมาตักเตือนหรือทักท้วง นี่คือพุทธพจน์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 ขุททกนิกาย ธัมมบท

ถึงแม้ว่าคำสอนของพระพุทธองค์ได้เกิดขึ้นมา 2,500 กว่าปีแล้ว แต่ทว่ายังมีเนื้อหาและสาระทันสมัย ควรแก่การนำมาปฏิบัติ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะกับนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่อาสาเข้ามาทำงานรับใช้ปวงชนในฐานะบุคคลสาธารณะ และงานที่นักการเมืองทำก็ด้วยการพูดมากกว่าลงมือทำเอง

เริ่มด้วยงานแรกคือ การปราศรัยหาเสียงแนะนำตนเองให้ประชาชนรู้จักว่าเป็นใคร มาจากไหน มีผลงานอะไรบ้าง อันเป็นเสมือนการประกาศสรรพคุณของตัวเองว่าถ้าประชาชนเลือกเข้าไปเป็นตัวแทนแล้ว จะได้อะไรบ้างจากการกระทำของตน เป็นการให้ความรู้เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งทางการเมือง

ลำดับต่อจากนี้ก็คงหนีไม่พ้นการพูดถึงนโยบายของพรรคที่ตนเองสังกัดในแต่ละด้านว่ามีอะไรบ้าง และจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรแก่ปวงชน

จากความจริงที่ปรากฏในอดีตที่ผ่านมาในการปราศรัยหาเสียงของนักการเมืองทุกคน และทุกพรรคมักจะหนีไม่พ้นเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีคู่แข่งทางการเมือง และในจำนวนนี้มีอยู่ไม่น้อยที่ตนเองก็มีจุดด้อยหรือจุดบอดทางคุณธรรมไม่น้อยไปกว่าคนที่ตนเองวิพากษ์วิจารณ์โจมตี แต่ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะ 2 ประการดังต่อไปนี้

1. ตนเองไม่เคยมองหาความผิด ความบกพร่องที่มีอยู่ในตน และไม่เคยเตือนตนเอง ได้แต่มองเห็นความผิด ความบกพร่องของคนอื่น จึงได้แต่ด่า ได้แต่ประณามคนอื่น เข้าทำนองที่นักปราชญ์ท่านหนึ่งเขียนไว้เป็นกลอนว่า

“โทษคนอื่น เราเห็น เป็นภูเขา
โทษของเรา มองเห็น เท่าเส้นขน
ตดคนอื่น เหม็นเบื่อ จนเหลือทน
ตดของตน ถึงเหม็น ไม่เป็นไร”

ด้วยเหตุที่คนเรามองแต่ความผิดของคนอื่น และไม่มองหาความผิดของตนเองนี้เอง จึงเป็นเหตุให้ตนเองด่าตัวเองไปพร้อมกับด่าคนอื่น ในกรณีที่การด่านั้นเป็นเรื่องที่ตนเองและผู้ที่ตนเองด่านั้นมีความผิดเหมือนกัน หรือในบางครั้งคนด่ามีความผิดมากกว่าคนถูกด่าด้วยซ้ำไป

2. โดยปกติในโลกของโลกียชนคนมีกิเลส คนทั่วๆ ไปชอบฟังการด่ามากกว่าฟังการชม ทั้งนี้น่าจะด้วยมีอารมณ์แห่งความริษยาอยู่ในส่วนลึกของคนที่ไม่ชอบเห็น ไม่ชอบฟังความดีของคนอื่น

ทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้นที่เป็นเหตุให้นักปราศรัยทางการเมือง หรือแม้กระทั่งนักพูดที่เน้นความสนุกเฮฮามากกว่าเนื้อหาสาระ จึงนิยมการด่าทอคนอื่น ตัวอย่างเช่น นักการเมืองฝ่ายค้านที่นิยมนำเอาจุดด้อยของการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือการเมืองคู่แข่งมาโจมตี

อะไรคือเหตุที่ทำให้นักการเมืองนิยมการวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมคู่แข่งในเชิงลบแต่ถ่ายเดียว โดยไม่มองสองด้านคือ ด้านเสีย และด้านดีควบคู่กันไป เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่ผู้ถูกโจมตี โดยให้ผู้ฟังตัดสินเองว่าใครผิดและถูกหรือไม่อย่างไร

ก่อนที่จะตอบปัญหาข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านที่ชอบฟังการปราศรัยทางการเมือง ลองย้อนไปดูพฤติกรรมของนักการเมืองในฐานะปัจเจกบุคคล และพฤติกรรมองค์กรของพรรคการเมือง ก็พอจะอนุมานเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นได้ดังต่อไปนี้

1. ในฐานะเป็นปัจเจกบุคคล นักการเมืองประเทศไทยจะเริ่มต้นชีวิตทางการเมืองด้วยการพูด การเขียน และการเป็นผู้นำทางความคิดเพื่อสร้างการยอมรับจากประชาชนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในสังคมเมือง

แต่ก็มีอยู่ส่วนหนึ่งที่เริ่มการเมืองด้วยการเป็นผู้นำท้องถิ่น เช่น นำการประท้วง รวมไปถึงการนำในฐานะเป็นหัวโจกในท้องถิ่นในด้านสังคม และเศรษฐกิจจนเป็นที่ยอมรับนับถือของชาวบ้าน นักการเมืองประเภทนี้จะลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่ชนบทหรือเขตห่างความเจริญ

ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่ลงสมัครในเขตเมืองหรือเขตชนบท ถ้าจะเป็นดาวสภาเพื่อแสวงหาการยอมรับ จะต้องเริ่มด้วยบทบาทแห่งการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีคู่แข่งทางการเมือง หรือไม่ก็ด้วยบทบาทของผู้พิทักษ์รักษาผู้นำพรรค หรือผู้นำกลุ่มให้รอดพ้นจากการถูกโจมตีทางการเมืองจากฝ่ายตรงกันข้าม ดังที่มีให้เห็นในการประชุมสภาในนัดสำคัญ และมีการถ่ายทอดทางทีวี

2. ในฐานะเป็นพรรคการเมือง อันเป็นองค์กรหรือเป็นสถาบันทางการเมือง พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจที่มีลักษณะบริหารจัดการเหมือนบริษัทครอบครัว พฤติกรรมองค์กรของพรรคการเมืองลักษณะนี้มีรูปแบบเหมือนหรือไม่แตกต่างไปจากพฤติกรรมของนักการเมืองในฐานะเป็นปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พฤติกรรมปัจเจกของหัวหน้าพรรคที่เป็นทั้งหัวหน้าพรรค และเจ้าของพรรคในฐานะเป็นนายทุนทางการเมือง

ด้วยเหตุที่นักการเมืองและพรรคการเมืองของไทยเกือบทุกพรรคยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ จะมีทิศทางทางการเมืองที่เหมือนกัน คือ เน้นบทบาทของปัจเจกบุคคลมากกว่าเน้นบทบาทของพรรค

ดังนั้น เมื่อมีการแข่งขันทางการเมือง ไม่ว่าในระดับชาติหรือในระดับท้องถิ่น ผู้หาเสียงจะมุ่งโจมตีคู่แข่งทางการเมือง โดยยกเอาจุดด้อยของคู่แข่งขึ้นมาวิพากษ์เพื่อทำลายศรัทธา ในขณะเดียวกันก็นำเอาความดีของตนเองออกมาอวด โดยไม่ได้มองดูว่าสิ่งที่ตนเองวิพากษ์คู่แข่งนั้นเป็นสิ่งที่ตนเองก็มีอยู่ และในบางเรื่องอาจมีมากกว่าคู่แข่งด้วย ในทางตรงกันข้าม ความดีที่ตนเองหยิบยกขึ้นมา คู่แข่งก็มีและอาจมีมากกว่าด้วย และที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนเลือกตั้งที่ฟังปราศรัยไม่ใช้สติปัญญาในการเลือกฟัง และเลือกเชื่อ จึงตกเป็นเหยื่อแห่งการด่า การประณามเพื่อผลทางการเมือง โดยที่นักการเมืองก็ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ตนเองด่าคนอื่นนั้น แท้จริงตนเองก็มีอยู่ไม่น้อยไปกว่าคนที่ตนเองด่า และที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะนักการเมืองไม่เคยเตือนตนด้วยตนนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น