xs
xsm
sm
md
lg

จะเกิดเหตุที่ปากบารา (3)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 19 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสตูล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดยนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. และในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรได้จัดให้มีการประชุมติดตามผล กรณีที่ชาวบ้านร้องเรียนขอให้ตรวจสอบโครงการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบและผู้ที่สนับสนุนโครงการดังกล่าวมาประชุมร่วมกัน บรรยากาศจะเป็นไปค่อนข้างตึงเครียดและสับสนในแง่ของการชี้แจงให้ข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบพยายามที่จะจำกัดขอบเขตในการชี้แจงเฉพาะตัวเฉพาะส่วนของตัวเอง

แต่ในส่วนของชาวบ้านที่กังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เขาอยากรู้ภาพรวมทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นกับบ้านและชุมชนของเขาว่ามีกี่โครงการและอะไรบ้าง หนึ่งวันเต็มๆ พวกเขาไม่ได้รับคำตอบ โจทย์จึงมีว่าแล้วใคร? หน่วยงานไหน? ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความสับสนที่เกิดขึ้น และใครหรือหน่วยงานใดที่สามารถอธิบายภาพรวมทั้งหมดให้กับพวกเขาได้?

ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่ในบทบาทหน้าที่ต่างปฏิเสธที่จะรับรู้หรือร่วมรับผิดชอบร่วมกับส่วนอื่นๆ แยกอธิบายเป็นเรื่องๆ เป็นชิ้นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตัวเองเท่านั้น แต่สำหรับชาวบ้านหรือชุมชนหมู่บ้านของพวกเขา เขาอยู่ในพื้นที่เดียวกันเขาต้องการคำตอบต้องการคำอธิบายจากทุกๆ ส่วนที่มาเกี่ยวข้องกับชุมชนหมู่บ้านของเขา ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือเราพบว่าโครงการนี้หน่วยงานราชการต่างๆ ออกแบบโครงการโดยวิธีว่าจ้างบริษัทเอกชนให้เข้ามามีบทบาทและหน้าที่สำคัญๆ ไม่ว่าการออกแบบ การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการร่วมมือกันทำมาหากินจากงบประมาณแผ่นดิน ด้วยงบประมาณก้อนโต

คำถามจึงมีว่าแล้วบุคลากรของหน่วยงานราชการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่เป็นทั้งนักออกแบบ เป็นวิศวกร เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ท่านทำอะไร ที่มากไปกว่ารอตรวจการบ้านจากบริษัทเอกชนที่มารับงานจากท่านไปทำ และท่านก็ทำบทบาทหน้าที่เพียงเป็นฝ่ายออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบที่ท่านได้เฉลยคำตอบและมอบไปให้กับพวกไว้แล้วก่อนส่งคำตอบใช่หรือไม่?

การที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ต่อคณะรัฐมนตรีไปเมื่อ 4 มีนาคม 2532 และครม.เห็นชอบให้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ขึ้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2532 ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในระยะต่อมา

แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งมีสาระสำคัญของแผน คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมีเป็นหลัก โดยวางวัตถุประสงค์ไว้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง และกำเนิดโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจไทย-มาเลเชีย-อินโดนีเซีย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle Development Project (IMT-GT) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการเร่งรัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยให้ภาคเอกชนเป็นแกนนำ รัฐบาลมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคนี้ โดยการส่งเสริมการลงทุน ลดต้นทุนการขนส่ง ลดต้นทุนการผลิตและการกระจายสินค้า

โดยรูปธรรมอันหนึ่งของโครงการนี้ก็คือ แผนแม่บทและแผนปฏิบัติการในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจปีนัง-สงขลา ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้ที่การใช้ประโยชน์จากก๊าชธรรมชาติตามโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย เพื่อขยายอุตสาหกรรมให้ครอบคลุมในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีการเร่งรัดก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียและโรงไฟฟ้าที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จนสำเร็จตามเป้าหมาย

ในการจัดทำกรอบแนวทางการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นระยะแรกว่าควรพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ พัฒนาท่าเรือน้ำลึกเป็น Gateway การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งพบว่าในปี 2551 มีการศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 3 พื้นที่ คือ นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 2 พื้นที่ที่ตำบลทุ่งปรัง อ.สิชล และในเขตพื้นที่ตำบลกลาย อ.ท่าศาลา

นอกจากนั้นยังมีการวางแผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมทางเกษตร 1 พื้นที่ ในตำบลแก้วเสน อ.นาบอน ตามมาด้วยในปีเดียวกันก็มีการศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างสะพานเศรษฐกิจ (Land bridge) ระหว่างพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งมีอยู่หลายเส้นทางเลือก แต่ก็มีการสรุปว่าเส้นทางที่เหมาะสม คือ เส้นทางระหว่างตำบลปากราบา อ.ละงู จ.สตูล กับตำบลนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา และในปี 2553 การศึกษาเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราก็แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการขอใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติเกาะเภตรา

ภาพรวมเช่นนี้รับรู้กันภายในเฉพาะเหล่าหน่วยงานราชการและบรรดาบริษัทผู้รับเหมาที่ต่างคาดหมายกันว่า นี่คือโอกาสทองและกลุ่มธุรกิจที่สนับสนุนผลักดันโครงการกันเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านทั่วๆ ไปไม่มีโอกาสได้รับรู้รับทราบ อยู่ๆ ก็มีคนมาเดินส่องกล้อง ปักหมุด ในสวนยาง ใต้ถุนบ้านของพวกเขา เป็นเราๆ ท่านๆ คิดว่าเราจะนิ่งดูสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอย่างวางเฉยหรือไง?

โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับการส่งสินค้าออกและนำเข้า มีเขตอุตสาหกรรมสนับสนุน มีแผนการสร้างอู่ซ่อมหรือต่อเรือ โรงซ่อมและล้างตู้ขนส่งสินค้าบริเวณท่าเรือ คลังสินค้าจากการนำเข้าวัตถุดิบ สร้างทางรถไฟ คลังน้ำมันและท่อน้ำมันสู่นิคมอุตสาหกรรมน้ำสำหรับนิคมอุตสาหกรรม บ่อบำบัดน้ำเสีย โรงงานกำจัดขยะ ฯลฯ และยังมีการระบุการพัฒนาการอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม 150,000 ไร่ ในบริเวณอำเภอละงู จ.สตูล เป็นอุตสาหกรรมนัก อุตสาหกรรมเบา

ชาวบ้านในที่ประชุมถามด้วยคำถามง่ายๆ ซื่อๆ ว่า ปัญหาผลกระทบเรื่องสูญเสียพื้นที่ทำการประมง การใช้พื้นที่สร้างเขตอุตสาหกรรมที่ใช้พื้นที่มากขนาดนั้น พวกเขาจะไปอยู่กันอย่างไรและที่ไหน จะให้ความเจริญที่พ่วงมากับมลพิษรอบตัว การพึ่งตัวเองลดลง การเป็นได้แค่แรงงานรับจ้าง เกียรติและศักดิ์ศรีของอาชีพและความเป็นคนที่เขามีอยู่ในปัจจุบัน เขาบวกลบคูณหารดูแล้วพวกเขาเห็นพ้องต้องกันว่าเขาไม่ต้องการโครงการนี้ครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น