ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
หลังจากที่ทุกพรรคการเมืองได้ไปสมัครเลือกตั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนว่าจะมีความน่าเป็นห่วงว่าหลังเลือกตั้งแล้วประเทศไทยก็คงจะต้องไม่สงบต่อไป
สิ่งที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้เคยกล่าวเอาไว้ว่าจะเข้ามาแก้ไขการเมืองที่ล้มเหลว นั้นถึงวันที่ยุบสภาไปแล้วการเมืองที่ล้มเหลวก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง
การทุจริตการเลือกตั้ง การทุจริตคอร์รัปชั่น การตระบัดสัตย์ การลุแก่อำนาจ การใช้อำนาจและการแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง และเป็นปัญหาทางการเมืองที่นักการเมืองทุกพรรคเลิกพูดกันไปนานแล้วว่า...
“จะทำสงครามกับการทุจริตคอร์รัปชั่น”?
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระบุว่าทุกพรรคการเมืองควรเอาเรื่องวาระของประชาชนเป็นที่ตั้งมากกว่าที่จะเป็นเรื่องอื่น อยากให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ด้วยเหตุผลนี้พรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นพรรคที่ไม่ต่างจากพรรคการเมืองอื่นที่ชักชวนประชาชนด้วยนโยบายลดแลกแจกแถม โดยมองข้ามวิกฤติปัญหาของประเทศกันไปเสียหมด
เพราะหลายปีที่ผ่านมาผลสำรวจหลายครั้งได้ยืนยันว่าประชาชนในประเทศส่วนใหญ่ ได้ชาชินกับการทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้นทุกปี จนถึงขั้นยอมรับการคอร์รัปชั่นได้แต่ขอให้ตัวเองได้ด้วย หรือยอมรับการคอร์รัปชั่นได้แต่ขอให้ทำงานเป็น
แสดงให้เห็นว่าไม่ว่านักการเมืองขั้วไหนต่างก็เข้ามาโกงบ้านกินเมืองกันทั้งสิ้น !
สังคมที่รู้สึกชาชิน และเคยชินกับการทุจริตคอร์รัปชั่นจะเป็นเสมือนการกัดกร่อนสังคมให้อ่อนแอ เปราะบางให้สังคมพังทลายเร็วขึ้น เพราะคนที่ทำงานหนัก ขยัน มีประสิทธิภาพ ก็จะไม่สามารถก้าวหน้าได้ ตราบได้ที่คนทั้งสังคมหาแต่ “เส้นสาย” ทางการเมือง
ลูกหลานเราในอนาคตคงมีแต่นักวิ่งเต้น หาเส้น ต่อให้โง่ ขี้เกียจ หรือชั่ว ก็จะสามารถเจริญเติบโตก้าวหน้าได้ ในขณะที่คนฉลาด ขยัน และเป็นคนดีก็จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของคนมีเส้น แต่โง่ ขี้เกียจ และเลวทราม คิดดูเอาเถิดว่าสังคมจะน่าหดหู่มากขนาดไหน?
เวลานักการเมืองบอกว่าเลือกตั้งให้เลือกคนดีมาปกครองบ้านเมือง แต่ทำไมเวลายกมืออภิปรายไม่ไว้วางใจ คนที่ประชาชนคิดว่าเป็นคนดีเวลาเป็นรัฐบาลต่างยอมจำนนต่อพรรคการเมืองไว้วางใจให้คนชั่วปกครองบ้านเมืองต่อไปทั้งสิ้น
แสดงว่าคนดีถ้าสมมุติว่ามีมากกว่าคนชั่วจริงในพรรคการเมือง เหตุใดคนดีเหล่านั้นต่างยอมจำนนให้กับผู้ทรงอิทธิพลในพรรคเพียงไม่กี่คนและยกมือไว้วางใจคนชั่วกันทั้งสิ้น
เพราะเหมือนเป็นประเพณีกันไปแล้วที่ว่านักการเมืองขายตัวและมีคนพร้อมซื้อหัวละ 40-60 ล้านบาท และยังมีผู้ทรงอิทธิพลในพรรคจ่ายเงินเดือนให้นักการเมืองอีกเดือนละไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท นักการเมืองที่ทำตัวไม่ต่างอะไรกับลูกจ้างจึงยอมทำตามผู้ทรงอิทธิพลในพรรค และคนรวยในพรรคที่หาเงินมาจ่ายให้กับนักการเมืองจึงเป็นผู้ที่ชี้นำในพรรคการเมืองที่แท้จริง
คนยิ่งโกงยิ่งรวย คนยิ่งรวยยิ่งโกง ยิ่งใช้เงินไปสร้างอำนาจ ก็ยิ่งใช้อำนาจไปสร้างเงิน ภายใต้ระบบนี้คนรวยและคนโกงจะเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร
เพราะในระบบการเมืองที่เป็นอยู่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วนักการเมืองที่รวมกันเสียงข้างมากตราบใดที่ผลประโยชน์ลงตัว การเมืองฝ่ายค้านก็ไม่สามารถจะทำอะไรรัฐบาลในระบบได้ทั้งสิ้น เพราะยกมือกันเมื่อใด นักการเมืองที่โกงบ้านกินเมืองต่างก็ได้รับคะแนนเสียงสภาอย่างท่วมท้น
ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะโดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย หรือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่นายกรัฐมนตรีรอบสอง ประเทศไทยต่างก็ยังคงมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไม่รู้จบสิ้น
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกมองเป็นหุ่นเชิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร!
ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกมองเป็นหุ่นเชิดให้กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ/หรือ นายเนวิน ชิดชอบ!
ตัวแทนคู่ชิงนายกรัฐมนตรีที่แท้จริงจึงเสมือนเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ข้างหนึ่ง และนายสุเทพกับนายเนวิน อีกข้างหนึ่ง ที่มีการเลือกตั้งตัวแทนคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับนายอภิสิทธิ์ ที่ไม่ว่าจะเลือกใครมาประเทศชาติก็ยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองต่อไปอย่างไม่ต้องสงสัย
ประชาธิปไตยของประเทศไทย แม้ว่าจะยังอยู่ในวงจรอุบาทว์ แต่อย่างน้อย “ต้นทุน”ประชาธิปไตยในรอบ 6-7 ปีที่ผ่านมา ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภาคประชาชนได้มีบทบาทสำคัญต่อการตรวจสอบและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
นั่นทำให้นักการเมืองในระบบรัฐสภาไม่สามารถทำอะไรตามอำเภอใจได้อีกต่อไป เพราะอย่างน้อยที่สุดก็มีบทเรียนราคาแพงในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการถูกรัฐประหาร การถูกตุลาการภิวัฒน์ และการที่ประชาชนคนไทยด้วยกันเองต้องเสียเลือดเนื้อจำนวนมาก ต้นทุนที่ประเทศไทยต้องสูญเสียไปเชื่อว่าอย่างน้อยนักการเมืองก็น่าจะลดความเหิมเกริม ลุแก่อำนาจลงและต้องหากลไกอื่นที่จะทำให้ความขัดแย้งน้อยลง มิเช่นนั้นก็อาจมีเดิมพันไม่ใช่แต่เพียงการรักษาอำนาจไม่ได้เท่านั้น แต่อาจหมายถึงการไม่มีแผ่นดินจะอยู่เสียด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุผลที่มองเห็นปัญหาอยู่ข้างหน้าอย่างชัดเจน การที่ภาคประชาชนอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เชิญชวนประชาชนไปเลือกตั้งแต่กากบาทลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน หรือ “โหวต โน” นั้นเป็นจุดเริ่มต้นในการแสดงออกของประชาชนในการไม่ยอมจำนนต่อระบบการเมืองที่ล้มเหลว เพื่อเรียกร้องการเดินหน้าการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่
การเดินหน้าทางการเมืองโดยปราศจากความขัดแย้งจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปการเมืองที่ลดความขัดแย้งนอกระบบ และหากลไกในการตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจ ทางการเมืองที่มีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม รวมถึงการให้อำนาจทางการเมืองประชาชนที่มีความหลากหลายได้มีโอกาสตัดสินใจมากขึ้น ก็จะเป็นหนทางในการลดความขัดแย้งทางการเมืองให้ลดลง
เพราะอย่างน้อยคะแนน “โหวต โน” เป็นคะแนนที่ไม่ได้เลือกใครเป็นรัฐบาล แต่คะแนน “โหวต โน” เป็นคะแนนที่เป็น “หลักประกัน”ที่จะ“กำหนดอายุของรัฐบาล” หากมีการกระทำที่ขาดความชอบธรรมลุแก่อำนาจ และทำลายหลักนิติรัฐ เพราะการเมืองในระบบฝ่ายค้านไม่มีทางที่จะทำอะไรพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลอยู่แล้ว
การไม่เลือกพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด ก็แสดงว่าประชาชนต้องการปฏิรูปการเมือง ต้องการเปลี่ยนแปลง และไม่ยอมจำนนต่อระบบการเมืองที่ล้มเหลว
การรณรงค์ของภาคประชาชนให้ไม่เลือกใคร อาจไม่มีทุนทรัพย์มากเท่ากับพรรคการเมืองอื่น ไม่มีนายทุนที่จะไปสนับสนุนเหมือนนักการเมืองที่กำลังจะเข้าสู่อำนาจ แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นการรณรงค์ที่บริสุทธิ์ที่ไม่ได้แสวงหาอำนาจให้กับตัวเองและพวกพ้อง ที่มีประชาชนกลุ่มหนึ่งจะพยายามเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศให้ได้อย่างถึงที่สุดเท่าที่จะมีกำลังทำได้
ได้ทำแล้วดีกว่าเสียใจที่ไม่ได้ลงมือทำ!
อย่างน้อยนักการเมืองที่พฤติชั่วเลวทราม หรือนักการเมืองที่ทำตัวเหมือนว่าดีกลับสนับสนุนคนชั่วให้ปกครองบ้านเมือง ก็ไม่ได้มาจากคะแนนของประชาชนที่กาในช่องไม่เลือกใคร ที่ประชาชนเหล่านั้นจะได้ไม่ต้องมาเสียใจที่ต้องมามีส่วนในการสนับสนุนการเมืองที่ล้มเหลวเหมือนที่เป็นอยู่?
และอย่างน้อยที่สุด ก็จะได้สบายใจว่าคะแนนของเราจะไม่ถูกนำไปอ้างเพื่อให้นักการเมืองทำบาปและทำร้ายต่อประเทศชาติ!!!