xs
xsm
sm
md
lg

ยึดอำนาจ (3) : ขายฝากชาติ ยึดอำนาจยุค 3

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ในอดีต อธิปไตย ไทยถูกปล้น
แถมฉ้อฉล ปัจจุบัน กันไปหมด
ซ้ำจะบั่น เบื้องหน้า อนาคต
เอาไปจด จำนอง สิทธิของไทย

                 ปราโมทย์ นาครทรรพ
               นิวยอร์ก 24 มิถุนาน 2528

การยึดอำนาจยุคที่ 3 เลวกว่ายุคที่ 2 และยุคที่ 2 เลวกว่ายุคที่ 1 หากมีการยึดแบบ 2 กับ 3 อีก จะเลวยิ่งกว่าเดิม

นักยึดยุค 2 เป็นพันธุ์ไทยแท้ๆ ไม่เคยเรียนหรือสัมผัสประชาธิปไตยในต่างประเทศ ไม่ใช่พันธุ์ผสมแบบยุค 1 ที่มีพลเรือน-ทหารบก-ทหารเรือครบ ซ้ำมีนักคิดนักวิชาการแนวหน้าของตนเองเป็นผู้นำ เช่น ปรีดี พนมยงค์ ยุคหลังเป็นทหารบกล้วนๆ ต้องไประดมนักวิชาการจากข้างนอกมาใช้ ได้มาทั้งคนดีและนักฉวยโอกาส

ยุคที่ 3 ครั้ง 6 ตุลาคม 2519 เป็นผู้สืบสันดานมาจากยุคที่ 2 แท้ๆ เป็นอำนาจนิยมตามก้นอเมริกัน หลังจากล้างรอยแค้น 14 ตุลา เข่นฆ่าไล่ล่านักศึกษาเข้าป่าและจัดการกับทหารทรยศแล้ว ก็กลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์และวัฏจักรน้ำเน่าอย่างเดิม

บังเอิญ พลเอกกฤษณ์ตายไปก่อน พลโทวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ เล่าให้ผมฟังว่า “มันจะฆ่าพี่อยู่แล้ว โชคดีครูเกรียงมาทัน” พลเอกเกรียงศักดิ์ช่วยให้หัวหน้าเทพไปลี้ภัยในญี่ปุ่นตำแหน่งผู้ดูแลนักเรียนไทย

หากเราย้อนกลับไปอ่านคำแถลงการณ์ยึดอำนาจทุกฉบับ ยกเว้นของคณะราษฎร คำแถลงการณ์นอกนั้นล้วนแต่โกหก วิเคราะห์ปัญหาบ้านเมืองผิด แล้วยังทำสิ่งที่สัญญาไว้เกือบจะไม่ได้สักอย่าง คำแถลงการณ์ของจอมพลสฤษดิ์เท่านั้นที่สั้นเพียง 84 คำ มิได้ด่าใครหรือสัญญาอะไรเลย นอกจากจะบอกว่า “ขอให้พี่น้องประชาชนทั้งหลายจงตั้งอยู่ในความสงบ และคอยฟังประกาศของคณะทหารต่อไป”

มาตรา 17 ปรากฏโฉมใน “ธรรมนูญราชอาณาจักร” ให้อำนาจสิทธิ์ขาดจอมพลสฤษดิ์ยิงเป้าคนที่เห็นว่าเป็นภัยต่อบ้านเมืองได้ มาตรา 17 กลายเป็น “ดาบนี้คืนสนอง” ยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม และจอมพลประภาส เมื่อหมดอำนาจ

การยึดอำนาจยุคที่ 3 ช่วงแรกมี 3 ครั้ง ทั้งๆ ที่ในตำรามีเพียง 2 คือ 6 ต.ค. 2519 รัฐมนตรีกลาโหมรัฐบาลประชาธิปัตย์ (พลเรือเอกสงัด ชลออยู่) ยึดอำนาจจากรัฐบาลตนเอง พลเอกเปรมและยังเติร์ก จปร.7 เข้าร่วมเป็นครั้งแรก ครั้งที่ 2 มี 2 ครั้งในวันเดียวกัน คือ 20 ต.ค. 2520 อุปโลกน์พลเรือเอกสงัด เป็นผู้นำอีก แต่ยังไม่ทันข้ามคืนก็โดนยังเติร์ก จปร.7 ใช้ปืนจี้ ยกตำแหน่งนายกฯ ให้พลเอกเกรียงศักดิ์ และ 28 ก.พ. 2523 จปร.7 จี้พลเอกเกรียงศักดิ์ออก ให้พลเอกเปรมขึ้นเป็นนายกฯ ในสภา 3 วันต่อมา 3 มีนาคม

ช่วงที่ 2 รสช. พลเอกสุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. 26 ก.พ. 2534 เชิดพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้า และครั้งล่าสุด 19 ก.ย. 2549 คมช. พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ไล่รัฐบาลเผด็จการเลือกตั้งครบวงจรของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

การยึดอำนาจและครองอำนาจ มีบทแทรกหรือรัฐบาลสลับฉากต่างรูปแบบ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นิสิตนักศึกษาชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญขับไล่รัฐบาล มิใช่ยึดอำนาจ แต่เกิดช่องว่าง ทรงโปรดเกล้าฯ นายกรัฐมนตรีอาจารย์สัญญา สมัชชาสนามม้าและสภานิติบัญญัติ

สองพี่น้อง คือ ม.ร.ว.เสนีย์ กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (ต.ค. 2516-ต.ค. 2519) ขับเคี่ยวกันเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง หลงว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มไป แต่ไม่ใช่ เป็นยุคที่เริ่มต่อรองโควตารัฐมนตรีโดยสัดส่วนเก้าอี้ผู้แทน แต่อำนาจเผด็จการทหารยังครอบรัฐและชีวิตคนไทยอยู่ ทหารพังบ้านนายกรัฐมนตรี นักการเมืองฝ่ายซ้าย เช่น ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ผู้นำแรงงาน ชาวนา และนักศึกษาถูกลอบสังหาร รัฐบาลไม่สามารถบังคับใช้กฎหมาย

รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร (8 ต.ค. 2519 - 20 ต.ค. 2520) และอานันท์ ปันยารชุน (2 มี.ค. 2534 - 7 เม.ย. 2535 กับ 10 มิ.ย. 2535 - 23 ก.ย. 2535) ก็คล้ายๆ พระยามโนปกรณ์ฯ ในยุคที่ 1 และนายควง อภัยวงศ์ (10 พ.ย. 2490 - 8 เม.ย. 2491) กับนายพจน์ สารสิน (21 ก.ย. 2500 - 1 ม.ค. 2501) ยุคที่ 2 และ 3 ความแตกต่างในความเหมือนล้วนถูกอุปโลกน์ โดยทหารจะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด เขาไล่เมื่อไรก็ต้องไป ข้อยกเว้นคือรัฐบาลขิงแก่ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ยุค คมช.

นายกฯ อุปโลกน์เหล่านี้ สุจริตและเก่งแค่ไหน ก็เป็นเครื่องมือให้โครงสร้างและวัฒนธรรมการเมืองอำนาจนิยมแบบสมประโยชน์กับชนชั้นนำ เกิดวงจรอุบาทว์ (ยึดอำนาจ) และวัฏจักรน้ำเน่า (ซื้อเลือกตั้ง) เคียงคู่หรือสลับกันไปมาจนหยั่งรากลึกและสืบทอดกันมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 61 ปี (26 ปี+35 ปี)

ที่ว่า “เอาไปจดจำนองสิทธิของไทย” ไม่ใช่เสียแล้ว ที่ถูกคือขายฝาก เมื่อนายทุนผูกขาดอำนาจซื้อเลือกตั้งมากุมอำนาจรัฐด้วยทุนครั้งละหลายหมื่นล้าน เพื่อคืนทุนตุนกำไรจากเมกะโปรเจกต์เป็นแสนๆ ล้าน การเลือกตั้งเป็นเพียงหุ่นเชิดของประชาธิปไตย

ตำราสรุปว่าไทยยึดอำนาจสำเร็จ 10 ครั้ง ครั้งสุดท้าย คือ คมช. 9 กันยายน 2549 ผมว่าไม่ถูก ควรนับเฉพาะยึดอำนาจที่อำนาจรัฐเปลี่ยนมือเท่านั้น ไม่ควรนับการยึดอำนาจจากลูกไล่ของทหาร เช่น นายควง และนายธานินทร์ กับการยึดอำนาจจากตนเองตอนจอมพล ป.พิบูลสงครามกับผิน และสฤษดิ์-ถนอมอีก 3 ครั้ง

30 พ.ย. 2514 ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนจดหมายเล่าการปฏิวัติหลอกๆ ของสฤษดิ์-ถนอม

“เกี่ยวกับการ “ปฏิวัติ” นั้น คำว่า ปฏิวัติ ทั้งคราวก่อนและคราวนี้ เป็นการหมิ่นประมาทพวก Revolutionaries จริงๆ ตั้งแต่ French Revolution ลงมาถึง Che Quevera เพราะเป็นเรื่องที่คนมีอำนาจแล้ว รวบอำนาจหมดเอาเอง ไม่ต้องผจญภัยอะไรเลย มองอีกแง่หนึ่งก็มหาโจร บ่นว่าโจรเล็กๆ น้อยๆ กวนใจเลยทำเสียให้เข็ด”

แต่ ส. ศิวรักษ์ ใน “ปริทัศน์รัฐไทย” เห็นว่าการเลือกตั้ง “กึ่งดิบกึ่งดี” “ก็ยังดีกว่าเผด็จการ ไม่ว่าจะในรูปแบบ รสช.อันมีสุจินดา คราประยูร เป็นตัวหลัก หรือในแบบรัฐประหารอันมี ผิน ชุณหะวัณ เป็นตัวชูโรง ที่สุดจนในแบบปฏิวัติ ซึ่งมี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นวีรบุรุษที่มอมเมาคนไทยได้อีกมิใช่น้อย มิไยต้องเอ่ยถึงการเมือง การปฏิรูปของธานินทร์ กรัยวิเชียร หรือประชาธิปไตยครึ่งใบในแบบอภิชนจอมปลอมอย่างเปรม ติณสูลานนท์”

แท้จริง ประชาธิปไตยครึ่งใบเกิดก่อนยุคเปรม คือยุคที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นิยามเผด็จการที่ยึดอำนาจเอาดื้อๆ ในยุค 2 แล้วก็จัดให้มีการเลือกตั้งเอา ส.ส.เข้ามารองบ่อน ตั้งพรรคของตนเองเอาไว้กวาดต้อนข้าทาส

ต่างกันกับพลเอกเปรม ซึ่งใช้กองทัพเป็นฐานอำนาจวางตัวอยู่เหนือการเมือง ไม่มีพรรคของตนเอง ปล่อยให้พรรคเลือกตั้งแข่งขันกันเข้ามา แล้วก็จัดสรรปันตำแหน่งและแบ่งขั้วให้เสร็จสรรพ ตามสมการอำนาจของตน การซื้อเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นระบบโดยพรรคจึงเกิดขึ้นในยุคนี้

เมื่ออำนาจขาดสมดุลและอยู่นานเกินไป รัฐบาลพลเอกเปรมจึงเป็นรัฐบาลที่ยุบสภามากที่สุดและมีการก่อกบฏมากที่สุด รวมทั้งกบฏยังเติร์กซึ่งเป็นผู้นำพลเอกเปรมขึ้นสู่อำนาจโดยตรง

รายนามคณะรัฐมนตรี คึกฤทธิ์-เปรม-ทักษิณ และชุดปัจจุบัน จึงเต็มไปด้วยนักการเมืองพันธุ์ใหม่พวกเดียวกัน คือ พ่อค้าใหญ่น้อยทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ปฏิสนธิในครรภ์รัฐบาลคึกฤทธิ์และเติบใหญ่เป็นหนุ่มฉกรรจ์ในยุคพลเอกเปรม

ตัวอย่างต้นตระกูลและผู้สืบสันดานรวมทั้ง ร.ต.ท.ทักษิณ หน้าห้องของปรีดา พัฒนถาบุตร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลคึกฤทธิ์ มีบิดาของจาตุรนต์ ฉายแสง พงศ์เทพ เทพกาญจนา ปองพล อดิเรกสาร ประวิทย์ รัตนเพียร สรอรรถ กลิ่นประทุม และบิดาการเมืองของ มั่น พัธโนทัย คือ วัฒนา อัศวเหม รวมอยู่ใน ครม.เดียวกันครบครัน

ส่วนบรรหาร ศิลปอาชา วีระ มุสิกพงศ์ มนตรี พงษ์พานิช ล้วนแต่มีโยงใยสัมพันธ์เกิดและโตในยุคเปรมทั้งสิ้น

ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ สรุปว่า กฎหมายบังคับ ส.ส.สังกัดพรรค และกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส.ทำให้เกิดเผด็จการทุนนิยมผูกขาดยากที่จะแก้ได้ เพราะ 1. ส.ส.ที่ไหนจะมาแก้ทำลายประโยชน์ตนเอง 2. นักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์เมืองไทยยังโง่ สังคมไทยจึงถูกอวิชชาครอบงำ 3. เมืองไทยไม่มี statesman ที่จะนำการปฏิรูป จึงยังมองไม่เห็นทางที่จะเป็นประชาธิปไตย ดร.อมรหลีกเลี่ยงไม่แปล statesman เป็นไทยเพราะไม่อยากพาดพิงพลเอกเปรม

ยึดอำนาจ 2 ครั้งหลัง คือ รสช.กับ คมช. นายทุนกลับเข้มแข็งขึ้น ระบบ “กงจักร-กวนน้ำเน่า” เบ่งบาน เพราะลำพังทหารไม่สามารถทานปัญญากับอามิสของทักษิณได้ แม้แต่รุ่นอภิสิทธิ์ ทหารยังตบแถวขอพึ่งใบบุญนายทุนการเมืองมากขึ้น

กองทัพไทยมิใช่กองทัพโปรตุเกส หรือตุรกีที่มีปัญญากล้าหาญ เมื่อนักการเมืองปล้นประชาธิปไตยไปได้ กองทัพก็กล้าที่จะยึดอำนาจนำประชาธิปไตยมาคืนให้ประชาชน

ยกเว้นครั้งแรก การยึดอำนาจของไทยล้วนแต่สร้างเปรตให้กองทัพและระบอบการเมืองทั้งสิ้น (ต่อฉบับหน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น