xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจพลิกวิกฤตความไม่มั่นคงของชีวิตแรงงาน

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ในความไม่มั่นคงของชีวิต โศกนาฏกรรมจากการพากเพียรทำการงานแต่กลับมีรายได้ไม่พอยังชีพนับเป็นเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้มนุษย์รู้ซึ้งถึงความไม่มั่นคงของชีวิตสูงสุด สังคมไทยที่รายได้ในหมู่ผู้ร่ำรวยหยิบมือกับจำนวนมหาศาลที่ยากจนข้นแค้นต่างกันเกือบร้อยเท่าจึงไม่ใช่แค่การขยายความเข้มข้นของเหตุปัจจัยความไม่มั่นคงในชีวิตผู้คนจนความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมถ่างกว้างเกินกว่าจะกระชับกลับมาได้ในเร็ววัน อันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มักนำความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ตามมามากมายเท่านั้น ทว่ายังหมายถึงการที่สังคมไทยไม่เรียนรู้ว่าความมั่นคงของชีวิตแรงงานเป็นหนึ่งปรารถนาสูงสุดของมนุษย์ด้วย

ด้วยเหตุนี้ การคลี่คลายหรือขจัดวิกฤตการณ์สังคมเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมจึงต้องตั้งต้นที่การปฏิรูประบบแรงงานในปัจจุบัน เพราะแรงงานราว 23 ล้านคนที่อยู่นอกภาคเกษตรตามแรงเหวี่ยงของการพัฒนาประเทศตามแนวทางธุรกิจอุตสาหกรรมกำลังเผชิญความไม่มั่นคงของชีวิตจากการมีรายได้ไม่พอยังชีพเพราะมีรายได้ประจำไม่ถึงเดือนละ 6,000 บาท ขณะตนเองต้องกินอยู่และแบกรับภาระครอบครัวข้างหลัง

ความหวังที่จะประคองครอบครัวให้อยู่รอดจึงต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงงานส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกเวลาเป็นวันละ 10-12 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ เพื่อหารายได้ให้เพียงพอพยุงชีวิตตนเองและจุนเจือครอบครัว กระทั่งสังขารเสื่อมทรุดจากการตรากตรำทำงาน ครอบครัวก็ล่มสลายเพราะไม่มีเวลาและกำลังที่จะดูแลลูก รวมถึงอนาคตก็มืดมนเพราะไร้โอกาสและเวลาที่จะพัฒนาตนเองและครอบครัว

แนวทางสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านแรงงานของคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบแรงงาน โดยคณะกรรมการปฏิรูป (ครป.) ในห้วงขณะที่ตัวเลข GDP ที่สูงขึ้นไม่ได้ยึดโยงกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงานแต่อย่างใดนั้น จึงไม่ใช่แค่การแก้ไขวิกฤตการณ์สังคมสูงอายุที่สัดส่วนผู้สูงวัยในอนาคตจะเพิ่มถึง 1 ใน 4 ของประชากร ทั้งๆ ที่ปัจจุบันแรงงาน 1 คนก็ต้องรับภาระเลี้ยงดูคนอย่างน้อย 2 คน คือ ตนเองและผู้สูงวัยอีกหนึ่งคนแล้ว แต่ยังหมายถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย เพราะกำลังซื้อในตลาดภายในของไทยร้อยละ 42 มาจากเงินเดือนและค่าจ้าง การยกระดับกำลังซื้อโดยการเพิ่มค่าจ้างจึงส่งผลต่อชีวิตผู้ทำมาหากินเกี่ยวกับกำลังซื้อภายใน ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตุ๊ก หาบเร่ เข็นของ และธุรกิจห้องแถว

การแก้วิกฤตไม่มั่นคงของชีวิตแรงงาน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ จึงให้เพิ่มรายได้ให้เพียงพอที่จะดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างน้อยต้องได้วันละ 250 บาท หรือเดือนละ 6,500 บาท (250 บาท x 26 วัน) สำหรับแรงงานไร้ฝีมือและเพิ่งทำงาน ซึ่งตรงกับรายได้จากค่าจ้างบวกกับค่าล่วงเวลาของลูกจ้างในเวลานี้ เพราะการลดชั่วโมงทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมงตามมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จะทำให้ลูกจ้างไม่ต้องตรากตรำทำงานนอกเวลาและมีโอกาสพัฒนาศักยภาพตนเอง โดยยังคงมีรายได้เพียงพอเลี้ยงดูครอบครัว ขณะที่แรงงานมีฝีมือก็ควรได้รับค่าตอบแทนที่เป็นค่าฝีมือและประสบการณ์ เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างขั้นต่ำด้วย

ขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพแรงงานผ่านการยกระดับการศึกษาและเพิ่มทักษะการทำงานโดยการผสานความร่วมมือเชิงบูรณาการระหว่างภาครัฐกับเอกชนอันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวแรงงาน นายจ้าง และประเทศโดยรวมจากการมี ‘ทรัพยากรแรงงานที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าการลงทุน’

พร้อมกับเพิ่มสวัสดิการแรงงาน 4 มิติ ทั้งด้านการบริการสังคม โดยเฉพาะการศึกษา สาธารณสุข ที่พักอาศัย และความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้านการประกันสังคมเพื่อที่แรงงานทุกคนจะมีหลักประกันในชีวิตจึงควรครอบคลุมแรงงานทุกประเภททั้งที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมและอาชีพอิสระ ด้านสังคมสงเคราะห์กรณีที่ช่วยตัวเองไม่ได้หรือในยามเกิดพิบัติภัย รวมทั้งรัฐควรจัดตั้งธนาคารแรงงาน โดยรัฐขายพันธบัตรให้แก่กองทุนประกันสังคม และนำเงินมาปล่อยกู้แก่คนงานในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดทอนภาระหนี้สินนอกระบบของแรงงานซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูง แต่จำกัดวงเงินกู้และมีส่วนบังคับการออมอยู่ด้วย

นอกจากนั้นยังต้องเพิ่มอำนาจการต่อรองด้วย โดยอำนาจการเจรจาต่อรองของแรงงานนอกจากจะมาจากความรู้และทักษะที่สูงขึ้นแล้ว ยังมาจากการรวมกลุ่มกันจัดตั้งองค์กรเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานด้านต่างๆ ด้วย ทั้งค่าล่วงเวลา ค่าชดเชย ค่าทดแทน จนถึงความมั่นคงปลอดภัยในการทำงาน โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดการข่มขู่คุกคามของนายจ้าง ควบคู่กับเรียกร้องรัฐไทยให้ลงสัตยาบันแก่อนุสัญญาเลขที่ 87 และ 98 ของ ILO ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวเพื่อการต่อรองของแรงงานโดยเร็ว และรัฐต้องให้เสรีภาพในการรวมตัวของคนงานกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเสมอมา

มากกว่านั้นยังเสนอว่าต้องปฏิรูประบบการออกเสียงเลือกตั้งในระบบไตรภาคีที่กอปรด้วยลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ให้เป็นระบอบประชาธิไตย ‘1 คน 1 เสียง’ โดยเฉพาะในระบบไตรภาคีที่มีส่วนได้เสียโดยตรงต่อลูกจ้าง เช่น ไตรภาคีกองทุนประกันสังคม ศาลแรงงาน และคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ต้องทำควบคู่กับการจัดตั้งกองทุนพิทักษ์สิทธิ์แรงงานที่นายจ้างสมทบเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อเลิกกิจการลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย และลูกจ้างมีสิทธิขอรับสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยต้องปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมในศาลแรงงานไปพร้อมๆ กันด้วย

ถึงกระนั้นภารกิจพลิกวิกฤตความไม่มั่นคงของชีวิตแรงงานจะสัมฤทธิผลจน ‘งานได้ผล คนงานมีความสุข’ ไม่ได้ ตราบใดไม่ปรับสัมพันธภาพเชิงอำนาจระหว่างรัฐ ทุน กับประชาชนให้เกิดดุลยภาพจนสามารถเปิดโอกาสพื้นที่เจรจาต่อรอง และให้ความเป็นธรรมเท่าเทียมแก่ทุกคน
กำลังโหลดความคิดเห็น