xs
xsm
sm
md
lg

ชี้3โจทย์รัฐบาลหลังเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส2มีโอกาสหดตัว1%-ขยายตัว 0.2% รับผลกระทบวิกฤตญี่ปุ่น-น้ำท่วมใต้ ระบุ 3 ภารกิจหลักรัฐบาลหลังเลือกตั้ง "เลิกตรึงราคาน้ำมัน-ปรับเพิ่มค่าจ้าง-พัฒนาความสามารถการแข่งขัน"

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2554 มีแนวโน้มหดตัว 1% - ขยายตัว 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้า ที่ขยายตัว 2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่อัตราการขยายตัวที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อาจยังคงมีระดับต่ำอยู่ที่ 2.2-3.5% ใกล้เคียงกับประมาณ 2.8% ในไตรมาสแรก เป็นผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนและวัตถุดิบในการผลิต ทั้งจากปัญหาภัยพิบัติในญี่ปุ่นและอุทกภัยในภาคใต้

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 แม้คาดว่าปัญหาในด้านอุปทานน่าจะคลี่คลายลง ทำให้ภาคการผลิตกลับมาขยายตัวดีขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญยังคงเป็นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ จากราคาน้ำมันและอาหารที่ยังมีโอกาสปรับสูงขึ้น ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะมีผลชะลอเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 นี้อยู่ในกรอบร้อยละ 3.0-4.0 โดยกรณีพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.6

โดยประเด็นในระยะข้างหน้าที่ทุกฝ่ายเฝ้าติดตาม คือ ผลการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวแปรที่มีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โจทย์เศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญสำหรับรัฐบาลชุดใหม่มี 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

การถอยออกจากมาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าภาระที่ภาครัฐต้องเข้าไปแบกรับในการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคและราคาพลังงาน นับจากเดือนมกราคมไปจนถึงช่วงสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาพลังงานในเดือนกันยายน 2554 รวมทั้งสิ้นแล้วอาจสูงถึง 110,000 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนว่า ท้ายที่สุดแล้วรัฐคงต้องทยอยลดการอุดหนุนดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพการคลังในระยะยาว อีกทั้งจะกระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆ มีการประหยัดพลังงานมากขึ้น

การปรับเพิ่มค่าจ้าง เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจากปัญหาค่าครองชีพที่จะยิ่งสูงขึ้น หลังรัฐลดมาตรการอุดหนุนราคาลง แนวคิดปรับเพิ่มค่าจ้างจึงเป็นนโยบายที่หลายพรรคการเมืองชูขึ้นเป็นนโยบายหลัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างควรดำเนินควบคู่ไปกับมาตรการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อให้ไทยยังคงมีสถานะการแข่งขันในทางการค้าและการดึงดูดการลงทุนของไทยที่ไม่เสียเปรียบประเทศคู่แข่ง นอกจากนี้ยังต้องดูแลไม่ให้การส่งสัญญาณปรับขึ้นค่าจ้างก่อให้เกิดผลรุนแรงต่อคาดการณ์เงินเฟ้อ จากการที่ราคาสินค้าอาจปรับขึ้นไปรอก่อนหน้า ซึ่งจะกลายเป็นความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อ และเสถียรภาพราคาในประเทศ

และการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยนโยบายเศรษฐกิจในระยะต่อไปควรมุ่งให้ความสำคัญกับแนวทางเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวมากขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการเตรียมพร้อมสู่การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ซึ่งจะทำให้สภาพแวดล้อมในการแข่งขันของธุรกิจไทยมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น