xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ฉายภาพผลงาน ศก.ยุครัฐบาล “มาร์ค” คาดชุดหน้าเหนื่อยแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ฉายภาพผลงาน ศก.ยุครัฐบาล “มาร์ค” สินค้าแพง ค่าครองชีพพุ่ง แรงงานหนี้ท่วมหัว พร้อมคาด รัฐบาลใหม่ เจองานหนักแน่ ทั้งปัญหาการเมือง และโจทย์ทาง ศก.ที่สุดหิน ด้าน สภาพัฒน์ เผยผลสำรวจแรงงาน พบส่วนใหญ่สู้ค่าครองชีพในเมืองไม่ไหว 91.48% หนีกลับบ้านเกิดเป็นเกษตรกรแทน ภาคอีสานครองแชมป์ 65% ขณะที่ประกันรายได้ดันราคาพืชเกษตรสูงขึ้น เป็นแรงจูงใจที่สำคัญ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยรายงาน “ภารกิจรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ..แก้เงื่อนการเมือง คลายปมเศรษฐกิจ สร้างเสถียรภาพการเติบโต” โดยระบุว่า หลังจากรัฐบาลชุดปัจจุบันส่งสัญญาณการยุบสภา ส่งผลให้หลายฝ่ายเริ่มนับถอยหลังสู่วันเลือกตั้ง ซึ่งไม่ว่าผลของการเลือกตั้งจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลใหม่จะต้องเผชิญไม่แตกต่างกัน คือ ภาระปัญหาหนักอึ้งในการเข้ามาแก้เงื่อนทางการเมืองให้เกิดความสงบเรียบร้อย และคลี่คลายปมปัญหาทางเศรษฐกิจที่ยังค้างคาอยู่อีกมาก ทั้งการบริหารจัดการปัญหาภายในประเทศ

นอกจากนี้ ยังต้องรับมือกับความผันผวน ตลอดจนปัจจัยกระทบที่มาจากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะแนวโน้มราคาน้ำมันที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ความแปรปรวนทางธรรมชาติที่กระทบต่อภาวะอุปทานและราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลก และทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว

รัฐบาลใหม่ยังต้องให้ความสำคัญกับการวางรากฐานทางเศรษฐกิจเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ของไทยมีความพร้อมที่จะเดินหน้าสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจะมาพร้อมกับโอกาสและการแข่งขันที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ศูนย์วิจัยฯ ยังระบุอีกว่า ภาวะราคาน้ำมันแพง เงินเฟ้อในระดับสูง และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ยังถือเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของเศรษฐกิจไทย แม้ในไตรมาสแรกของปี 2554 เศรษฐกิจไทยเติบโตสูงเกินคาด โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการขยายตัวในภาคการส่งออก การบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว และรายได้ในภาคการเกษตร ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบของการหดตัวของกิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

ศูนย์วิจัยฯ ยังคาดอีกว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2554 ที่เทียบกับไตรมาสที่ 4/2553 น่าจะมีอัตราสูงถึงร้อยละ 2.6 (Quarter-on-Quarter ปรับฤดูกาล) สูงสุดในรอบ 4 ไตรมาส แม้ว่าหากมองในด้านอัตราการขยายตัวที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอาจมีระดับต่ำเพียงประมาณร้อยละ 2.8 (Year-on-Year) เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงมากในไตรมาสที่ 1/2553 ก็ตาม

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2554 คาดว่า จะได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนด้านอุปทาน ที่ทำให้กิจกรรมการผลิตของอุตสาหกรรมบางกลุ่มประสบปัญหา เช่น กลุ่มยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขาดชิ้นส่วนหลักที่ต้องนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น อันเนื่องมาจากผลของภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ

ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป ได้รับผลกระทบจากผลผลิตที่เสียหายจากอุทกภัยรุนแรงในภาคใต้ ปัญหาดังกล่าวน่าจะส่งผลให้กิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง รวมทั้งมีผลทำให้การส่งออกชะลอตัวลงค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ยอดขายสินค้าหมวดยานยนต์ที่ลดลงเนื่องจากผู้ผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคได้ตามกำหนด ประกอบกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ก็จะส่งผลให้ภาพรวมการใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัวลง

ดังนั้น ศูนย์วิจัยฯ จึงคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2553 อยู่ในกรอบระหว่างหดตัวร้อยละ 1.0 ถึงขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ ปรับฤดูกาล) ส่งผลให้อัตราการขยายตัวที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีระดับค่อนข้างต่ำอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.2-3.5 (YoY)

ปัญหาการแคลนชิ้นส่วนและวัตถุดิบในการผลิตน่าจะคลี่คลายลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 แต่เศรษฐกิจในช่วงระยะข้างหน้าจะยังคงมีแรงถ่วงรั้งจากราคาน้ำมัน ซึ่งแม้มีความผันผวนรุนแรงในช่วงนี้ และยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้อีก ท่ามกลางปัญหาความไม่สงบในกลุ่มประเทศอาหรับที่ยังไม่คลี่คลาย แรงกดดันเงินเฟ้อจึงยังมีอยู่สูง ซึ่งคงจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ทุกสายตาคงจับจ้องไปที่ผลการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึง ที่จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย

ศูนย์วิจัยฯ ยังประเมินด้านการเมืองต่อจากนี้ไป โดยคาดว่า หากปราศจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง เศรษฐกิจจะเติบโตสูงขึ้นอีกประมาณร้อยละ 0.5-1.0 ต่อปี อีกทั้งหากมีความต่อเนื่องในเชิงนโยบายในการผลักดันแผนการลงทุนระยะยาว และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตจากปัจจัยภายในประเทศมากขึ้น ก็น่าที่จะมีส่วนช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศ และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปสามารถเติบโตเหนือระดับศักยภาพที่ประมาณร้อยละ 5 ได้

โจทย์เศรษฐกิจด้านมหภาคของรัฐบาลชุดใหม่ยังคงมีประเด็นรอคอยอยู่หลายด้าน โดยประเด็นหลักๆ ที่สำคัญอาจสรุปได้ 3 ด้าน ดังนี้ 1.ปมปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่รออยู่ข้างหน้า คือ แนวทางลดมาตรการชั่วคราวในการช่วยเหลือค่าครองชีพรูปแบบต่างๆ ที่ใช้มาเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน ทั้งมาตรการรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี และยกเว้นค่าไฟฟ้าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซแอลพีจี และก๊าซเอ็นจีวี

“มาตรการเหล่านี้ แม้ในด้านหนึ่งมีส่วนช่วยลดภาระของผู้บริโภคและลดต้นทุนของภาคธุรกิจ รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยชะลอภาวะเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐต้องเข้าไปรับภาระแทนภาคเอกชนในการอุดหนุนราคาสินค้าและสาธารณูปโภคนี้ได้สร้างภาระทางการคลังมูลค่าสูงและใกล้ถึงจุดที่ฐานะการคลังของรัฐบาลอาจไม่สามารถรองรับต่อไปได้

ช่วงเดือนมกราคม 2554 ถึงเมษายน 2554 ภาครัฐต้องรับภาระจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพไปแล้วประมาณ 45,000 ล้านบาท และหากนับถึงช่วงสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาพลังงานในเดือนกันยายน 2554 คาดว่า รัฐจะต้องแบกรับภาระรวมกว่า 110,000 ล้านบาท ขณะที่หากมีการคงมาตรการไปตลอดทั้งปี 2554 รัฐจะต้องรับภาระทั้งสิ้นกว่า 140,000 ล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวย่อมบ่งชี้ว่า ในที่สุดแล้ว เมื่อครบกำหนดเวลาสิ้นสุดมาตรการในเดือนกันยายน รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งคงจะต้องตัดสินใจลดมาตรการอุดหนุนด้านราคาเหล่านี้ลง เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลัง ซึ่งแนวทางคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลใหม่ โดยหากมีการยกเลิกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จะทำให้ราคาดีเซลปรับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 34-36 บาทต่อลิตร (ณ ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ประมาณ 108-115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงเวลาที่ปล่อยลอยตัว)

ดังนั้น แนวทางถอนมาตรการอุดหนุนและทยอยลอยตัวราคาพลังงานซึ่งจะช่วยลดภาระทางการคลังนี้ ย่อมต้องแลกด้วยเม็ดเงินใช้จ่ายในฝั่งของภาคเอกชนที่อาจหายไปหลังจากมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงขึ้น แต่ถือว่าเป็นหนทางที่จำเป็นเพื่อลดการบิดเบือนในระบบเศรษฐกิจ และกระตุ้นให้ภาคเอกชนปรับตัวหันมาใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นสอดคล้องกับราคาที่เป็นจริง ซึ่งรัฐบาลคงทยอยปล่อยลอยตัวตามราคาที่แท้จริงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถมีเวลาในการปรับตัว

นอกจากนี้ ภาครัฐคงไม่อาจหลีกเลี่ยงแนวทางลดการอุดหนุนด้านราคา นโยบายที่จะเข้ามารองรับจึงเป็นการปรับเปลี่ยนจากการรักษาอำนาจซื้อของประชาชนด้วยมาตรการลดรายจ่าย เปลี่ยนมาเป็นมาตรการเพิ่มรายได้ ดังที่สังเกตเห็นได้ว่า ประเด็นการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานเป็นนโยบายหลักของหลายพรรคการเมือง ภาระต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นจึงน่าจะเป็นสิ่งที่ธุรกิจยากที่จะหลีกเลี่ยง

โดยหากพิจารณาจากนโยบายที่พรรคการเมืองมีการประกาศไว้ พบว่า เป้าหมายการปรับขึ้นค่าจ้างจะอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 25-35 ภายใน 2 ปี แต่ทั้งนี้ รัฐอาจมีมาตรการอื่นเข้ามาเสริมเพื่อช่วยลดต้นทุนให้ธุรกิจควบคู่กันไปด้วย หรืออีกนัยหนึ่ง คือ แทนที่รัฐจะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้วยการใส่เงินผ่านการตรึงราคาสาธารณูปโภคและพลังงาน รัฐก็จะใส่เงินผ่านการให้สิทธิประโยชน์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเข้าไปที่ธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย

การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 25-35 จะทำให้ค่าจ้างปรับขึ้นอีกประมาณ 50-75 บาทต่อวัน ต้นทุนโดยตรงของธุรกิจอาจเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3-4 อย่างไรก็ดี สิ่งที่อาจตามมานอกเหนือจากนั้นคือผลต่อคาดการณ์เงินเฟ้อภายในประเทศ ซึ่งมีโอกาสที่สัญญาณการปรับค่าจ้างจะทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นไปรอก่อนหน้า นั่นย่อมหมายความว่าเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าจะมีแรงกดดันมาจากทั้งในด้านอุปทานและอุปสงค์ (Cost-Push and Demand-Pull Inflation) ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคาในประเทศได้ ดังนั้น แนวทางดำเนินการในการปรับเพิ่มค่าจ้าง จึงต้องให้ความสำคัญต่อการดูแลคาดการณ์เงินเฟ้อพร้อมกันไปด้วย นอกจากนี้ ควรดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายเพิ่มศักยภาพแรงงาน

หากวิเคราะห์ถึงกลไกการปรับค่าจ้างที่รัฐบาลใหม่อาจมีการนำมาใช้ รัฐอาจมีการลดภาษี หรือเพิ่มสิทธิประโยชน์บางประการเพื่อลดต้นทุนให้แก่ธุรกิจ ซึ่งน่าจะชดเชยกับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นได้ วิธีการนี้ แท้ที่จริงก็เป็นการดึงเงินของภาครัฐเข้าไปสู่ภาคประชาชน แต่อาจมีข้อดีกว่ามาตรการอุดหนุนราคาตรงที่ไม่ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกราคา และกระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆ ตื่นตัวในการปรับพฤติกรรมหรือปรับกระบวนการทางธุรกิจต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มาตรการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะให้

ความช่วยเหลือตรงไปที่กลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยโดยตรงได้มากกว่าแนวทางอุดหนุนราคา ที่ผู้ได้รับประโยชน์อาจกระจายไปถึงกลุ่มผู้มีรายได้สูงด้วยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประสิทธิผลของมาตรการเพิ่มค่าจ้างพร้อมกับให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ธุรกิจนั้น ควรเป็นการให้สิทธิประโยชน์โดยมีเงื่อนไขเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะฝีมือและผลิตภาพแรงงาน มิเช่นนั้นแล้ว อาจไม่จูงใจให้ธุรกิจพยายามลดต้นทุนที่แท้จริงลง เนื่องจากไม่ว่าธุรกิจมีการพัฒนาประสิทธิภาพมากหรือน้อยก็ได้สิทธิประโยชน์จากภาครัฐเหมือนกัน

นอกจากนี้ ภาครัฐเองควรมีการวางยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อให้ประสิทธิภาพแรงงานไทยเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับกิจกรรมการผลิตของเศรษฐกิจไทยให้ก้าวขึ้นไปสู่การผลิตที่อาศัยเทคโนโลยีและสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งเป็นการรักษาสถานะการแข่งขันในทางการค้าและการดึงดูดการลงทุนของไทยไม่ให้เสียเปรียบประเทศคู่แข่ง

ทั้งนี้ ไทยต้องเร่งพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ผลักดันโครงการลงทุนเพื่อระยะยาวในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญมรสุมหลายด้าน ทั้งปัญหาทางการเมืองในประเทศและวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งความไม่แน่นอนจากสองปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน การที่รัฐบาลที่ผ่านมาต้องมุ่งแก้ไขปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้า ทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อเป้าหมายระยะยาวคืบหน้าไปค่อนข้างช้า

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 แม้คาดว่าปัญหาในด้านอุปทานน่าจะคลี่คลายลง ทำให้ภาคการผลิตกลับมาขยายตัวดีขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญยังคงเป็นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ จากราคาน้ำมันและอาหารที่ยังมีโอกาสปรับสูงขึ้น ประกอบกับการปรับขึ้นอัตรา

ด้านอัตราดอกเบี้ยสูง ก็จะมีผลชะลอเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 นี้อยู่ในกรอบร้อยละ 3.0-4.0 โดยกรณีพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ประเด็นในระยะข้างหน้าที่ทุกฝ่ายเฝ้าติดตาม คือ ผลการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวแปรที่มีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โจทย์เศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญสำหรับรัฐบาลชุดใหม่มี 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

- การถอยออกจากมาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าภาระที่ภาครัฐต้องเข้าไปแบกรับในการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคและราคาพลังงาน นับจากเดือนมกราคมไปจนถึงช่วงสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาพลังงานในเดือนกันยายน 2554 รวมทั้งสิ้นแล้วอาจสูงถึง 110,000 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนว่า ท้ายที่สุดแล้วรัฐคงต้องทยอยลดการอุดหนุนดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพการคลังในระยะยาว อีกทั้งจะกระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆ มีการประหยัดพลังงานมากขึ้น

- การปรับเพิ่มค่าจ้าง เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจากปัญหาค่าครองชีพที่จะยิ่งสูงขึ้น หลังรัฐลดมาตรการอุดหนุนราคาลง แนวคิดปรับเพิ่มค่าจ้างจึงเป็นนโยบายที่หลายพรรคการเมืองชูขึ้นเป็น

นโยบายหลัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างควรดำเนินควบคู่ไปกับมาตรการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อให้ไทยยังคงมีสถานะการแข่งขันในทางการค้าและการดึงดูดการลงทุนของไทยที่ไม่เสียเปรียบประเทศคู่แข่ง นอกจากนี้ยังต้องดูแลไม่ให้การส่งสัญญาณปรับขึ้นค่าจ้างก่อให้เกิดผลรุนแรงต่อคาดการณ์เงินเฟ้อ จากการที่ราคาสินค้าอาจปรับขึ้นไปรอก่อนหน้า ซึ่งจะกลายเป็นความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อ และเสถียรภาพราคาในประเทศ

- การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยนโยบายเศรษฐกิจในระยะต่อไปควรมุ่งให้ความสำคัญกับแนวทางเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวมากขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการเตรียมพร้อมสู่การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ซึ่งจะทำให้สภาพแวดล้อมในการแข่งขันของธุรกิจไทยมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้ศึกษาข้อเท็จจริงการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับคืนสู่ภาคเกษตรและการออมของภาคเกษตร ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี พบว่า ในปี 2553 มีแรงงานกลับคืนถิ่นมากถึง 91.48% ของจำนวนแรงงานที่ย้ายกลับภูมิลำเนา

ทั้งนี้ พบว่าแรงงานในภาคอีสานมีแรงงานย้ายกลับคืนถิ่นมากที่สุดที่ 65.98% ขณะที่ภาคกลางได้ย้ายถิ่นคืนสู่ภาคเกษตร 14.36% ภาคเหนือคืนถิ่นเพื่อทำการเกษตร 12.41% ภาคใต้ 7.24% โดยทั้งหมดมีเหตุผลของการย้ายคือค่าครองชีพเมืองใหญ่สูง สินค้าเกษตรมีราคาเพิ่มขึ้น รวมทั้งนโยบายประกันรายได้ของรัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแรงงานภาคอีสานจะกลับคืนถิ่นมากที่สุดแต่เหตุผลไม่ได้มาจากโครงการประกันรายได้ของรัฐบาล แต่เป็นการย้ายถิ่นตามฤดูกาลเท่านั้น โดยวิกฤตเศรษฐกิจทำให้มีการเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคการผลิตอื่นเข้าทำงานในภาคเกษตรกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ในปี 2552 มีแรงงานย้ายถิ่นกลับภาคเกษตรกรรมสูงกว่า 3 แสนราย ส่วนปี 2551 แรงงานย้ายถิ่นกลับภาคเกษตร 491,774 ราย

“การย้ายถิ่นคืนภาคเกษตร เกิดจากหลายปัจจัยทั้งภาวะค่าครองชีพในเมืองใหญ่สูงขึ้น การเลิกจ้างงานจากภาวะวิกฤต การย้ายถิ่นตามฤดูกาล รวมทั้งการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรและราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่าการออมเงินและการลงทุนทางการเกษตรมีเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน หลังจากที่ราคาสินค้าเกษตรในปี 51 ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ยอดเงินฝากของเกษตรกรที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพิ่มเป็น 31,240 ล้านบาท ซึ่งขึ้นจากปี 2550 ถึง 300% ที่มีการฝากเงิน 18,046 ล้านบาท ส่วนยอดเงินฝากต่อรายเพิ่มขึ้นเป็น 11,736 บาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นถึง 384.4% ที่มีการฝาก 3,053 บาทต่อปี ขณะที่ปี 2552 ยอดเงินฝากของเกษตรกรเพิ่มเป็น 56,592 ล้านบาท ลดลงเหลือเฉลี่ยรายละ 9,276 บาทต่อปี

สำหรับการชำระหนี้คืนระหว่างปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 300,567 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.61% ทำให้ยอดเงินชำระหนี้คืนเฉลี่ยต่อรายเพิ่มขึ้นเป็น 49,263 บาท ขณะที่เกษตรกรยังมีการกู้เงินเพิ่มเพื่อลงทุนเป็น 332,000 ล้านบาทขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.76% จากปี 2551 ที่มีการกู้เงิน 308,087 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดเงินกู้ต่อรายเพิ่มขึ้น 54,415 บาท ในปี 2552 สาเหตุเงินออมเพิ่มขึ้นส่งผลให้เกษตรกรตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้นในภาคเกษตร และส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ที่เกษตรกรจำนวน 3,956,177 รายได้รับเงินชดเชยในปีการผลิต 2552/2553 รอบแรกจำนวน 36,498 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น