xs
xsm
sm
md
lg

อัดเขมรดึงต่างชาติจุ้นชายแดนค้านขึ้นศาลโลก"สมปอง"ปัดรับหน.ทีมทนาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ส.ว.คำนูณ" อัดเขมรบิดเบือน หวังดึงนานาชาติจุ้นปัญหาชายแดน ชี้ไทยไม่เป็นภาคีบังคับขึ้นศาลโลกไม่ได้ หากยอมไปมีแต่เสียเปรียบ เผยรัฐจีบ "สมปอง" เป็นหัวหน้าทีมทนายแต่ถูกปฏิเสธ กลัวถูกหลอกใช้ "ปานเทพ"ไม่ไว้ใจทนายฝรั่งเศส แนะไทยตัดฟ้อง ไม่รับอำนาจศาลโลก ขณะที่"บัวแก้ว" ตั้ง"วีรชัย พลาดิศรัย" เป็นหน.ทีมทนาย "กษิต" เผยศาลโลกรับคดีไว้พิจารณา นัดไทย-กัมพูชา ชี้แจงด้วยวาจา 30-31 พ.ค.นี้ ชายแดนไทย-กัมพูชาด้านสุรินทร์ไร้เสียงปืนปะทะคืนแรก แต่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง มทภ.2 ถก "พล.ท.เจีย มอน” ที่ “กาสิโนโอร์เสม็ด รีสอร์ท” ตรงข้ามช่องจอม อ.กาบเชิง พร้อมสั่งเปิด “ด่านช่องจอม ช่องสะงำ ให้ประชาชนสองประเทศเข้า-ออกได้ตามปกติ

วานนี้ (4 พ.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ เตรียมตั้งทีมทนายความ เพื่อต่อสู้ในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ ) หรือศาลโลก จากกรณีที่ประเทศกัมพูชายื่นคำร้องให้ศาลโลกพิจารณาตีความคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 เพิ่มเติมว่า ตนเห็นว่ารัฐบาลควรทำทุกวิถีทาง เพื่อปฏิเสธที่จะเข้าสู่กระบวนการของศาลโลก โดยในเบื้องต้นรัฐบาลต้องไม่ยอมรับอำนาจขอบเขตของศาลโลกในคดีดังกล่าวอีก เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ต่ออายุการร่วมเป็นภาคีของศาลโลก แม้ว่าประเทศกัมพูชาจะอ้างว่า การยื่นเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเก่า คือการขอให้ทบทวนคำพิพากษา กรณีพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ที่ได้ตัดสินไปแล้วเมื่อปี 2505

แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดคำร้องของประเทศกัมพูชาแล้วมีลักษณะขอให้พิจารณาคุ้มครองฉุกเฉิน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นสถานะของประเทศไทย ไม่ได้ร่วมเป็นภาคีของศาลโลก จึงไม่สามารถใช้สิทธิแบบบังคับให้ประเทศไทยขึ้นศาลโลกได้ อีกทั้งวิธียื่นคำร้องต่อศาลโลกครั้งนี้ กัมพูชาต้องการให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการใช้อำนาจทางความมั่นคง และอธิปไตยในดินแดนของไทย

นายคำนูณ กล่าวว่า จากการศึกษาเรื่องดังกล่าวพบว่า กัมพูชาได้เตรียมเรื่องนี้มาก่อน และที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศของไทย ก็แสดงความกังวลเรื่องการขึ้นศาลโลกมาโดยตลอด เพราะเกรงว่าประเทศไทยจะเสียหายไปมากกว่าการที่ต้องยกตัวปราสาทพระวิหารให้กับประเทศกัมพูชา และที่ผ่านมาประเทศกัมพูชาได้ใช้ความกังวลดังกล่าวเป็นข้ออ้างว่า หาก 2 ประเทศไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะนำเรื่องไปศาลโลก ทางกระทรวงการต่างประเทศ จึงมีการทำข้อตกลงในหลายเรื่อง รวมถึงเป็นต้นเหตุให้มีการทำเอ็มโอยู 2543

ตนไม่แน่ใจว่าการนำเรื่องสู่ศาลโลกครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยได้ หรือเสียเปรียบ เพราะข้อเท็จจริงไม่จบเพียงแค่คำพิพากษาเมื่อปี 2505 เท่านั้น แต่กลับมีหลักฐานที่ปรากฏต่อมาในเชิงความสัมพันธ์ของประเทศไทยและกัมพูชา พ่วงเข้ากับเอ็มโอยู 2543

ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการจะตั้งทนายเพื่อต่อสู้คดีดังกล่าวกับกัมพูชาจริง ตนมองว่าควรที่จะให้ผู้ที่มีประสบการณ์ซึ่งมีความอาวุโสเข้ามาร่วมทำงาน อาทิ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตผู้ร่วมทำคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศได้ทาบทาม ศ.ดร.สมปอง ให้มาเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายในคดีนี้ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ

"ศ.ดร.สมปอง กังวลว่าจะเป็นเพียงเครื่องมือ หรือเป็นแค่ยันต์กันผีให้รัฐบาลเท่านั้น แต่ไม่สามารถแสดงความเห็นที่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้ เบื้องต้นผมสนับสนุนให้รัฐบาลตั้ง ศ.ดร.สมปอง เป็นหัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมายเพื่อทำคดีนี้" นายคำนูณ กล่าว

เขมรขอให้ศาลโลกพิจารณา 3 เรื่อง

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า คำร้องของกัมพูชาได้ขอให้ศาลโลกพิจารณาใน 3 ประเด็น คือ 1. ขอให้ขยายหรือตีความในขอบเขตคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 โดยอาศัยธรรมนูญศาลโลกในมาตรา 60 2. ขอให้ทหารไทยถอนตัวออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร และ 3. ขอให้กองกำลังสหประชาชาติได้เข้ามาปฏิบัติการหรือขึ้นมาประจำการบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อไม่ให้มีการปะทะกัน

โดยขั้นตอนการยื่นคำร้องเพิ่มเติมนี้ ศาลโลกจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ในการรับฟ้องหรือไม่ ก่อนแจ้งมายังประเทศกัมพูชา หากรับฟ้อง ก็จะให้เวลาในการส่งคำชี้แจงไปภายใน 2 เดือน หลังจากนั้นจะให้สิทธิ์ฝ่ายไทย ในระยะเวลา 2 เดือนเช่นเดียวกัน ในการส่งคำชี้แจงในส่วนของฝ่ายไทย

นายปานเทพ กล่าวว่า ในคำร้องนั้นฝ่ายกัมพูชาพยายามอ้างถึงคำพิพากษาของศาลโลกเดิม ในหน้าที่ 21 ที่อ้างถึงเฉพาะในส่วนของกฎหมายปิดปากว่า ไทยต้องยอมรับในเรื่องของพื้นที่ และเส้นเขตแดนด้วย ดังนั้นพันธมิตรฯ และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องหยิบยกถ้อยคำในท้ายของคำพิพากษาศาลโลก เมื่อปี 2505 ซึ่งปรากฏอยู่ในหน้าที่ 29 ซึ่งระบุว่า คำแถลงของกัมพูชาที่ขอให้ศาลชี้ขาดเรื่องสภาพทางกฎหมายของแผนที่ มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน และเรื่องเส้นเขตแดนในพื้นที่พิพาทนั้น จะรับฟังได้ในชั้นของการแสดงเหตุผล ซึ่งไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของคำพิพากษาเดิม

ไทยต้องตัดฟ้องไม่รับอำนาจศาลโลก

นายปานเทพ กล่าวอีกว่า แสดงว่าขอบเขตของคำพิพากษานั้น ไม่ได้รับรองแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน รวมทั้งเรื่องเส้นเขตแดนด้วย ซึ่งรัฐบาลไทยในยุคนั้นก็ไม่ยอมรับคำร้อง โดยอ้างเหตุว่าถ้อยความในคำร้องไม่ชัดเจน ไม่สามารถระบุได้ว่าพื้นที่ที่กัมพูชาเรียกร้องอยู่ที่ใด โดยเฉพาะขอบเขตคำพิพากษาตัดสินเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น เราจึงไม่มีความกังวลหากศาลโลกมีการตีความแม่นยำอย่างถูกต้องยุติธรรมแล้ว หมายความไม่สามารถวินิจฉัยเกินขอบเขตเดิมได้ และตามธรรมนูญศาลโลก มาตรา 60 ที่ระบุให้มีการยื่นอุทธรณ์ภายใน 10 ปี ซึ่งปัจจุบันเลยมากว่า 39 ปีแล้ว การอุทธรณ์จึงทำไม่ได้ ส่วนการตีความในคำพิพากษาเดิมก็ทำไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะคำพิพากษาเดิม ระบุขอบเขตที่ชัดเจนเหนือตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น

" สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำตอนนี้ คือ การตัดฟ้อง ไม่ยอมรับในอำนาจของศาลโลก แต่ที่เราเป็นห่วงมากที่สุดคือ การหลงผิดที่นำคณะทนายชาวฝรั่งเศสเข้ามาทำหน้าที่ เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกัมพูชาในหลายเรื่อง จึงไม่สามารถไว้วางใจทีมทนายชุดนี้ได้ เพราะการต่อสู้ครั้งนี้มีความสำคัญต่อประเทศชาติมาก" นายปานเทพกล่าว

โฆษกพันธมิตรฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คำร้องขอของกัมพูชาในส่วนของการส่งกองกำลังสันติภาพของสหประชาชาติเข้ามาในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชานั้น ไม่น่าจะใช้อำนาจของศาลโลก แต่ต้องอยู่ที่การพิจารณาและตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) เท่านั้น โดยหากสมาชิกถาวรประเทศใดประเทศหนึ่งคัดค้าน ก็ไม่สามารถส่งกองกำลังเข้ามาแทรกแซงได้ โดยในเวทียูเอ็นเอสซีนี้ ไทยควรยืนยันตามกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 2 ( 7 ) ที่ห้ามสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศใด รวมทั้งมาตรา 51 ที่ให้สิทธิประเทศในการป้องกันตัวเอง หากถูกโจมตีโดยอาวุธ หมายความว่า หากถูกรุกรานจากประเทศอื่น เราก็มีสิทธิในการตอบโต้โดยชอบธรรม

"เทือก"อ้างต้องไปศาลโลกเพราะเป็นเรื่องเก่า

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง กล่าวถึงการที่ทางกัมพูชายื่นฟ้องต่อศาลโลกว่า กระทรวงการต่างประเทศได้มารายงานให้ที่ประชุมครม.ทราบ ซึ่งทางเราก็เตรียมสู้คดี โดยเตรียมว่าจ้างทนายความผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายระหว่างประเทศ ทางเขตแดน เตรียมประเด็นต่างๆ ในการสู้คดีอย่างเต็มที่ และถือเป็นการทำหน้าที่ของเรา

เมื่อถามว่าทำไมไทยต้องไปยอมรับคำฟ้องของกัมพูชา เพราะเรื่องจบไปนานแล้ว และคำฟ้องก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ประเด็นอยู่ที่ว่า เขาไม่ได้ฟ้องประเด็นใหม่ เขาเอาคดีเก่าที่ตัดสินเมื่อปี 2505 เข้ามายื่นคำร้อง ขอให้ศาลโลกได้พิจารณาคำวินิจฉัย เมื่อปี 2505 ของศาลโลก คือ พยายามให้ศาลวินิจฉัยว่า เมื่อปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ที่ดินข้างๆ ก็ต้องเป็นของกัมพูชาด้วย โดยพยายามบอกว่า กัมพูชาเข้าใจอย่างนั้น แต่ไทยเข้าใจอย่างนี้ จึงให้ศาลโลกพิจารณาว่า ความเข้าใจของใครถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า กฎหมายของศาลโลกกับของไทย จะเหมือนกันหรือไม่ เพราะหากพระวิหารเป็นของเขา แต่ถ้าไม่มีทางเข้าออก จะถือว่าที่ดินข้างๆ เป็นของเขาได้อย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า เราก็ต้องไปสู้กัน ไปพิสูจน์กันในศาลโลก

ป้อง"เสนีย์"ไม่ได้ทำให้ไทยแพ้

เมื่อถามว่าเกรงจะเข้าทำนองว่า สมัยเป็นทนาย เสียเขาพระวิหาร สมัยเป็นรัฐบาล จะเสียอะไร รองนายกฯ กล่าวว่า โชคร้ายที่บังเอิญ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถูกรัฐบาลไทยในขณะนั้นขอร้องให้ไปเป็นทนายความ ก็เลยกลายเป็นการถูกกล่าวหามาจนถึงทุกวันนี้ ว่าทำให้แพ้คดี คิดว่าเรื่องมันคงมีหลายเหตุ หลายปัจจัย จะไปโทษ ม.ร.ว.เสนีย์ไม่ได้

เมื่อถามว่า รัฐบาลยังมีความมั่นใจแค่ไหน นายสุเทพ กล่าวว่า รัฐบาลก็มั่นใจว่าเราสามารถที่จะสู้คดีได้ เราก็ต้องปกป้องแผ่นดินของเรา ประเทศของเรา เมื่อถามถึงกรณีที่ทางกัมพูชาไปฟ้องศาลโลก ว่าไทยไปตั้งกองกำลังที่บริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหารนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ทางกัมพูชาก็พูดไปเรื่อย
" กัมพูชาเขาพูดเยอะแยะเลย แต่วันนี้สื่อมวลชนที่เป็นคนไทย ก็ต้องเอาข้อเท็จจริงที่แท้ไปรายงานต่อชาวโลก และสื่อมวลชนที่มาจากทั่วโลกก็จะได้เห็น" รองนายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าใครเป็นตัวแทนทีมกฎหมายของฝ่ายไทย นายสุเทพ กล่าวว่า คงเปิดเผยไม่ได้ตอนนี้ บางเรื่องยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ คงไม่พูด แค่ที่สื่อถามนี่ ตนก็จะพูดมากไปแล้ว

เมื่อถามว่าในที่ประชุมครม.ได้อนุมัติ ทนายความชาวฝรั่งเศส เหตุผลที่ต้องเป็นชาวฝรั่งเศสเพื่อเอาไว้ไปต่อสู้ ใช่หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า อยากให้อดใจรอ เพราะเมื่อมีการดำเนินการเสร็จ รัฐบาลก็ต้องนำมาเปิดเผยให้ประชาชนทราบ แต่ถ้าเราฟังข่าวลือกันไปเอง แล้ววิพากษ์วิจารณ์ไป ก็จะทำให้คลาดเคลื่อน รัฐบาลจะทำด้วยความรอบคอบ แต่ที่ไม่สามารถพูดรายละเอียดได้ในวันนี้ เพราะมันมีขั้นตอน

ตั้ง"วีรชัย พลาดิศรัย"หน.ทีมทนาย

นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการการประชุม ซึ่งมีการพิจารณาเกี่ยวกับข้อพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชา ที่ล่าสุดกัมพูชาได้ยื่นเรื่องต่อศาลโลกให้ตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 กรณีปราสาทพระวิหารเพิ่มเติมว่า ทางผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ โดยนายธัชชยุติ ภักดี รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย มาชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ ต่อกรณีนี้ โดยนายธัชชยุติ เปิดเผยว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายของรัฐบาลไทย โดยจะมีการว่าจ้างนักกฎหมายชาวฝรั่งเศส 3 คน เข้าร่วมดำเนินการ โดยมี นายวีรชัย พลาดิศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นหัวหน้าทีม

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งคณะทำงานกลไกระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับข้าราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการประสานงานและป้อนข้อมูลให้กับทีมทนาย ในการต่อสู้ในศาลโลก

นายธัชชยุติ ยังได้เปิดเผยต่อที่ประชุม กมธ.การต่างประเทศด้วยว่า ในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการเสนอแนะให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ งดให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ในระหว่างนี้ เพราะกังวลว่า อาจจะกระทบต่อรูปคดี

หวั่นบานปลายเป็นสงคราม

นายต่อพงษ์ กล่าวถึงข้อคิดเห็นของคณะ กมธ.ต่างประเทศ ว่า จากการประชุมคณะ กมธ. มีมติคัดค้านการตั้งทนายเพื่อต่อสู้คดีนี้ กับประเทศกัมพูชา เพราะกังวลว่า อาจทำให้เกิดความขัดแย้งที่บานปลาย กลายเป็นสงครามในที่สุด โดยขอเสนอให้ใช้ระยะเวลาที่เหลืออีกประมาณ 1-3 สัปดาห์ก่อนที่ศาลโลกจะพิจารณาว่าจะรับคำร้องของกัมพูชาหรือไม่ ในการเดินหน้าเจรจาระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อหาข้อยุติในข้อพิพาทโดยเป็นการเจรจาใน 3 มิติ ทั้งด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการปะทะตามแนวชายแดน เพื่อให้ทัศนคติของรัฐบาล และประชาชนของทั้ง 2 ชาติ เป็นบวก นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ลดความขัดแย้ง และการเผชิญหน้าแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน จึงขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายร่วมกันนำไปสู่แนวทางดังกล่าว

ศาลโลกนัดชี้แจงคดี 30 พ.ค.นี้

นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวหลังพบปะหารือทีมทนายความต่างชาติ 3 คนที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ว่า เป็นการหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องการดำเนินการของไทยเกี่ยวกับการต่อสู้คดี ที่กัมพูชา ยื่นศาลโลกเรื่องปราสาทพระวิหาร

ทั้งนี้ ได้แจ้งให้ทีมกฏหมายต่างชาติของไทยทราบว่าเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการแจ้ง ครม. เรื่องการจัดตั้งทีมทนายฝ่ายไทย ประกอบด้วย นายวีรชัย พลาดิศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ อธิบดีกรมสนธิสัญญา ทีมกฏหมายของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นฝ่ายจัดเตรียมข้อมูล และทำงานควบคู่ไปกับทีมทนายความต่างชาติ

นายกษิต กล่าวด้วยว่าวันที่ 30-31 พ.ค. นี้ ศาลโลกได้นัดให้ไทย-กัมพูชา เข้าชี้แจงด้วยวาจาต่อองค์ประกอบคณะผู้พิพากษาศาลโลก ซึ่งฝ่ายไทยคนที่จะไปชี้แจงคือ นายวีระชัย โดยการชี้แจงครั้งนี้ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง และหลังจากการชี้แจงแล้ว แต่ละฝ่ายจะจัดทำเอกสารเพื่อชี้แจงประเด็นข้อกล่าวหา ยื่นต่อศาลโลก ก็ประกอบด้วยเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ไทยได้ศึกษาค้นคว้า

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ใช้ เวลา 4-5 เดือน คาดว่าการตัดสินของศาลโลกจะเกิดขึ้นต้นปีหน้า ก็ต้องให้เวลาศาลโลกเนื่องจากมีการเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกเพราะบางท่านครบวาระการดำรงตำแหน่ง และมีหลายคดีที่ต้องพิจารณาไม่เพียงกรณีของไทยและกัมพูชา

"สุวิทย์" เตรียมข้อมูลแจงมรดกโลก

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลก กล่าวถึงกรณีครม. ได้ตั้งคณะกรรมการดูแลปัญหาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกว่า เป็นทีมงานที่จะไปทำงานการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของปราสาทพระวิหาร ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งเราจะต้องมีการเตรียมกระบวนการขั้นตอนข้อมูลต่างๆ ที่จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับคณะกรรมการมรดกโลก และคิดว่าเรามีประเด็นปัญหา ข้อเท็จจริงต่างๆ ค่อนข้างมากที่จะไปรวบรวมนำเสนอ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจะต้องมีขั้นตอนต่อเนื่องกัน เพราะในส่วนที่ดำเนินการไปแล้ว ทางคณะกรรมการส่วนใหญ่จะทราบปัญหาดี ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน อย่างไร และสุดท้ายเชื่อมั่นว่าคณะกรรมการชุดนี้ ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งและเกิดปัญหาความรุนแรงจนทำให้เกิดเสียเลือดเนื้อ และชีวิต ตลอดจนทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของคณะกรรมการมรดกโลก และภาคีอนุสัญญามรดกโลก

นายสุวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่มีคณะกรรมการดูแลตรงนี้ มีแต่คณะผู้แทนไทย เวลาไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเท่านั้น ฉะนั้น กระบวนการเตรียมการและรูปแบบจะเป็นคนละรูปแบบกัน ตอนนี้เมื่อมีคณะทำงานที่กำหนดขึ้นเพิ่มเติมนอกเหนือจากอนุกรรมการภายใต้คณะอนุกรรมการมรดกโลก คิดว่าจะครอบคลุมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินการครั้งนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นที่จะพูดคุยกับทางกัมพูชา ในวันที่ 25 พ.ค.นี้ คืออะไร นายสุวิทย์ กล่าวว่า คงจะคุยกันในกระบวนการขั้นตอนที่จะมีการพิจารณากันในเดือนมิ.ย. โดยจะดูว่าไทยกับกัมพูชา จะร่วมกันหาข้อยุติปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ถือเป็นกระบวนการเริ่มต้นสำหรับการดำเนินการที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณามรดกโลก

เรื่องศาลโลกเป็นหน้าที่ของกต.

เมื่อถามว่าข้อเสนอของไทย คืออะไร นายสุวิทย์ กล่าวว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ทางผู้แทนพิเศษของผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ที่มาเมืองไทยได้บอกกับนายกรัฐมนตรีว่า การประชุมของทั้งสองฝ่าย เป็นการประชุมที่จะมีเงื่อนไขในการดำเนินการเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจกันและหาทางออกร่วมกันก่อนที่มีการพิจารณาในที่ประชุมมรดกโลก ซึ่งจะนำไปสู่การเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่ของกัมพูชาในเวทีมรดกโลก ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นของผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ที่ได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี

เมื่อถามว่าเมื่อมีประเด็นในการเลื่อนการพิจาณาดังกล่าว ทำให้ทางกัมพูชาเดินแผนร้องไปที่ศาลโลก เพื่อให้มีการเคลื่อนทหารออกจากรอบพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร นายสุวิทย์ กล่าวว่า เรื่องศาลโลกกัมพูชาพูดมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาพูดตอนนี้ และเขาก็ไปดำเนินการ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ ที่จะต้องดูแลเรื่องของศาลโลก

เมื่อถามว่า การขอคุ้มครองชั่วคราวให้ไทยเคลื่อนทหารออกจากรอบพื้นที่ปราสาทพระวิหารในพื้นที่ 4.6 ตร.กม. จะส่งผลต่อคณะกรรมการมรดกโลกหรือไม่ นายสุวิทย์ กล่าวว่า ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศาลโลก ต้องให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ชี้แจง ตนไม่สามารถก้าวล่วงไปได้ แต่ในส่วนของคณะกรรมการมรดกโลก เราก็ทำงาน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางศาล กระทรวงต่างประเทศควรชี้แจงเอง เพราะข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ มีรายละเอียดค่อนข้างมาก หากตนพูดอะไรในขณะนี้ อาจะมีผลต่อรูปคดีที่ทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ ฉะนั้น ตนคงพูดในเฉพาะคณะกรรมการมรดกโลกเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาต่างๆ ในเวทีมรดกโลกขึ้นอยู่กับคณะกรรมการมรดกโลก 20 คน รวมทั้งกัมพูชาด้วย จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งคิดว่าทุกคนเห็นปัญหาแล้วในสิ่งที่เราบอกตั้งแต่แรกว่าการขึ้นทะเบียน โดยที่ยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนในเรื่องของเขตแดน และขอบเขตการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ภายใต้เงื่อนไขอนุสัญญาและกฎกติกาที่กำหนดไว้ ก็ไม่สามารถที่จะพิจารณาต่อไปได้ รวมทั้งรายละเอียดของแผนบริหารจัดการ ถ้าขอบเขตยังไม่ชัดเจน แผนบริหารจะชัดเจนคงเป็นไปไม่ได้
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า การเดินทางไปฝรั่งเศสคราวนี้ ไม่ได้ไปดำเนินการเรื่องมรดกโลกโดยตรง แต่ไปในฐานะผู้รับเชิญให้ไปพูดเรื่องการเคลื่อนย้ายของถิ่นฐานของมนุษย์ ในส่วนของคณะกรรมการองค์กรวินัยเอกชนของ ยูเนสโก

มรดกโลกชนวนไทยปะทะกัมพูชา

เมื่อถามว่าจะใช้โอกาสนี้ทำความเข้าใจกับประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกด้วยหรือไม่ นายสุวิทย์ กล่าวว่า ถ้าเจอเพื่อๆ ที่เป็นสมาชิกก็จะพูดคุยถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น และพยายามทำความเข้าใจกับเขาอีกที ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นอย่างไร เพราะอะไร เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นวันนี้ต้องยอมรับว่าก่อนที่จะมีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวได้ โดยไม่มีปัญหาเรื่องความตึงเครียด หรือ ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา จนมีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ขึ้นเป็นมรดกโลก ก็มีการปิดตัวไม่ให้มีการท่องเที่ยว จากนั้นก็มีเหตุการณ์ตึงเครียด และการปะทะกันถึง 7-8 ครั้ง บริเวณชายแดนและบริเวณพื้นที่ในปราสาทพระวิหาร

ดังนั้น เห็นชัดเจนว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทำให้เกิดปัญหาและการปะทะกัน จนเสียเลือดเนื้อ ชีวิต ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน

ชายแดนสุรินทร์ไร้ปะทะคืนแรก

วานนี้(4 พ.ค.)สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาด้านปราสาทตาควาย ช่องกร่าง ต.บักได และปราสาทตาเมือนธม ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ซึ่งเกิดการสู้รบกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.นั้น ตลอดทั้งคืนวันที่ 3 พ.ค.จนถึงช่วงเช้าวันที่ 4 พ.ค.พื้นที่ชายแดนทั้งบริเวณปราสาทตาควาย ช่องกร่าง และปราสาทตาเมือนธมไม่มีเสียงปืนจากการปะทะของทหารทั้ง 2 ฝ่ายดังขึ้นเช่นทุกวันที่ผ่านมา นับเป็นคืนแรกที่ไร้เสียงปืนหลังจากปะทะติดต่อกันมานาน 12 วัน

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงหัวค่ำคืนวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีกระแสข่าวความเคลื่อนไหวของทหารกัมพูชาที่บริเวณช่องกร่าง บ้านรุน ต.บักได ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างปราสาทตาควาย บ้านไทยนิยมพัฒนา ต.บักได กับปราสาทตาเมือนธม บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก โดยมีรายงานข่าวทางการทหารไทยระบุว่าพบความเคลื่อนไหวของทหารกัมพูชาที่บริเวณบ้านทมอโดน ต.โคกมอน อ.บันเตียอำปึล จ.อุดรมีชัย ตรงข้ามกับช่องกร่าง คาดว่าทหารกัมพูชาจะเคลื่อนกำลังเข้าปะทะกับทหารไทยในคืนดังกล่าว จึงทำให้ประชาชนในหมู่บ้านชายแดนไทยใกล้ช่องกร่าง เช่น บ้านหนองตาเลิฟ บ้านอุอำเปาว์ บ้านดอนน้ำตาล และบ้านรุน ต.บักได อ.พนมดงรัก โดยเฉพาะบรรดาเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ ต้องเก็บข้าวของขึ้นรถเร่งอพยพออกจากหมู่บ้านกันกลางดึก เพื่อเดินทางไปพักยังที่ปลอดภัยส่วนหลัง ซึ่งทางอำเภอพนมดงรักได้จัดเตรียมพื้นที่ไว้รองรับตลอดเวลาหากเกิดการณ์ฉุกฉินหรือ มีการปะทะกันเกิดขึ้น

แต่สุดท้ายไม่ได้มีเหตุการณ์ปะทะเกิดขึ้น ชาวบ้านชายแดนด้านช่องกร่าง ต.บักได จึงจากได้เดินทางกลับเข้าเรือนเช่นเดิม ซึ่งหากสถานการณ์เป็นเช่นวันนี้ต่อไปประชาชนหมู่บ้านแนวชายแดนไทยด้าน อ.พนมดงรัก คงสามารถประกอบอาชีพและใช้ชีวิตได้เป็นปกติ

มทภ.2 ถกแม่ทัพเขมรที่บ่อนโอร์เสม็ด

ขณะที่เช้าวานนี้ (4 พ.ค.)ช่วงเวลาประมาณ 08.00 น.พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) เดินทางโดยรถยนต์ข้ามแดนเข้าไปยังฝั่งประเทศกัมพูชาที่บริเวณด่านผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชา ช่องจอม-โอร์เสม็ด ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ เพื่อเจรจาหารือร่วมกับ พล.ท.เจีย มอญ ผู้บัญชาการทหารภูมิภาคที่ 4 กัมพูชา อีกครั้งที่โอร์เสม็ด รีสอร์ท สถานกาสิโนชายแดนขนาดใหญ่ 1 ใน 2 แห่ง ของกัมพูชา เพื่อย้ำถึงความร่วมมือของทหารทั้ง 2 ฝ่ายในการทำความเข้าใจกับทหารที่ประจำการตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาด้าน อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ในจุดที่มีการปะทะกันได้ควบคุมกำลังให้อยู่ในขอบเขตของการเจรจายุติการปะทะ และยึดมั่นในหลักการดังกล่าวร่วมกัน

จากนั้น มทภ.2 ได้ประสานงานกับนายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์และรายงานผู้บังคับบัญชาทราบ เพื่อเปิดด่านผ่านแดนถาวรช่องจอม-โอร์เสม็ด ซึ่งได้ทำการเปิดประตูด่านผ่านแดนให้ประชาชน 2 ประเทศผ่านเข้า-ออก เพื่อค้าขายและท่องเที่ยวได้ตามปกติในเวลา 10.00 น.ของเดียวกันหลังถูกสั่งปิดด่านชั่วคราวต่อเนื่องมากว่า 10 วันจากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา ที่บริเวณชายแดนด้าน อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ดังกล่าว

ต่อมาเวลา 10.30 น. พล.ท.ธวัชชัย และคณะได้เดินทางเข้าเยี่ยมทหาร ที่ได้รับบาดเจ็บจาการสู้รบชายแดนไทย-กัมพูชาที่โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน จังหวัดทหารบกสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งมีทหารไทยได้รับบาดเจ็บรักษาตัว อยู่ในขณะนี้ 10 นาย

พล.ท.ธวัชชัย เปิดเผยว่า สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน จ.สุรินทร์ ขณะนี้คลี่คลายลงซึ่งดำเนินมาตั้งแต่วันที่ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)ได้ให้ตนไปเจรจากับผู้บัญชาการทหารกัมพูชา เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา เมื่อผู้ใหญ่คุยกันแล้วก็ให้นายทหารในพื้นที่ไปคุยกัน และเราได้ประเมินสถานการณ์เป็นประจำวันว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เมื่อหน่วยทหารในพื้นที่จับมือกันซึ่งก็เรียบร้อยดีไม่ระแวงกันก็จะทดลองไปสักระยะหนึ่งโดยให้อยู่ด้วยกันในพื้นที่เพื่อให้การประสานงานได้ดี และผู้บังคับบัญชาระดับสูงทั้ง 2 ฝ่ายก็เห็นตรงกันที่จะให้ประชาชนได้รับความสงบได้ทำมาหากินไม่มีปัญหากัน

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ได้เจรจากันแล้วและให้ย้ำถึงความร่วมมือในการยุติการปะทะ มีปัญหาอะไรก็ให้คุยกันอย่าไปใช้อาวุธ มีโทรศัพท์ มีวิทยุ สามารถพูดคุยกันได้ มีอะไรต้องคุยกัน เราพยายามไม่ให้มีการปะทะ

"ส่วนการเปิดด่านผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชาช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ที่ให้เปิดได้วันนี้ (4) ได้เรียนผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ว่าหากเรียบร้อยเมื่อไร ก็เปิดด่านได้ ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่ต้องเดินสายกลางทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตเป็นปกติ" มทภ.2 กล่าว

ผู้ว่าฯศรีสะเกษสั่งเปิดด่านช่องสะงำ

ด้านนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า กรณีที่ได้เกิดการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา ที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านปราสาทตาเมือนธมและปราสาทตาควาย จ.สุรินทร์ ได้ส่งผลกระทบต่อจุดผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชา ช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ต้องปิดเป็นการชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยของประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น

ขณะนี้สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาด้าน จ.สุรินทร์ เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แม้บรรยากาศยังคงเป็นไปด้วยความเงียบเหงา ทั้งตลาดชายแดนและด่านช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ แต่เนื่องจากทหารกองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ได้เห็นว่าเหตุการณ์ปลอดภัยแล้ว ตนจึงได้สั่งให้เปิดจุดผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชาช่องสะงำ ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั่วไปผ่านเข้า-ออกได้ตามปกติตั้งแต่เวลา 08.00น.วานนี้ 4 พ.ค.เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามบรรยากาศที่จุดผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชา ช่องสะงำวานนี้ยังคงเงียบเหงา เนื่องจากเป็นการเปิดในวันแรกยังไม่มีพ่อค้า แม่ค้าเข้ามาเปิดร้านขายสินค้าแต่อย่างใดท่ามกลางการรักษาความสงบเรียบร้อยของกำลังทหาร ตำรวจ อย่างเข้มงวด ทั้งนี้คาดพอถึงช่วงวันเปิดตลาดนัดชายแดนในวันอาทิตย์ที่ 8 พ.ค.นี้การค้าและการท่องเที่ยวช่องสะงำคงจะเข้าสู่ภาวะปกติเช่นเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น