xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” เชื่อศาลโลกรับอุทธรณ์เขมรไม่ได้ แนะรัฐตัดฟ้อง ค้านยูเอ็นจุ้นแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (แฟ้มภาพ)
โฆษกพันธมิตรฯ แฉเขมรขอ 3 ข้อศาลโลกพิจารณา ตีความคำพิพากษาพระวิหาร ให้ทหารไทยถอนพ้น 4.6 ตร.กม. ดึงยูเอ็นยึดพื้นที่ริมแดน คาดศาลใช้ 2 สัปดาห์รับคำร้องหรือไม่ เชื่อศาลรับอุทธรณ์ไม่ได้ แนะรัฐตัดฟ้อง ไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก จี้ค้านยูเอ็นเอสซีจุ้นแดน - สับ ครม.ทิ้งทวนน่าเกลียด ซัด “มาร์ค” ทำผิดกฎเหล็ก เล็งทำบิลบอร์ดยักษ์โหวตโน



 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ให้สัมภาษณ์  

วันนี้ (4 พ.ค.) ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่ประเทศกัมพูชาได้เผยแพร่คำร้องที่มีต่อศาลระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก ในกรณีปราสาทพระวิหารว่า คำร้องดังกล่าวทางกัมพูชาได้ขอให้ศาลโลกพิจารณาใน 3 ประเด็น คือ (1.ขอให้ขยาย หรือตีความในขอบเขตคำพิพากษาเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยอาศัยธรรมนูญศาลโลก ในมาตรา 60 (2.ขอให้ทหารไทยถอนตัวออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร (3.ขอให้กองกำลังสหประชาชาติได้เข้ามาปฏิบัติการหรือขึ้นมาประจำการบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อไม่ให้มีการปะทะกัน โดยขั้นตอนการยื่นคำร้องเพิ่มเติมนี้ ศาลโลกจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการรับฟ้องหรือไม่ ก่อนแจ้งมายังประเทศกัมพูชา หากรับฟ้องก็จะให้เวลาในการส่งคำชี้แจงไปภายใน 2 เดือน หลังจากนั้นจะให้สิทธิ์ฝ่ายไทยในระยะเวลา 2 เดือนเช่นเดียวกันในการส่งคำชี้แจงในส่วนของฝ่ายไทย

นายปานเทพกล่าวต่อว่า โดยในคำร้องนั้นฝ่ายกัมพูชาพยายามอ้างถึงคำพิพากษาของศาลโลกเดิม ในหน้าที่ 21 ที่อ้างถึงเฉพาะในส่วนของกฎหมายปิดปากว่า ไทยต้องยอมรับในเรื่องของพื้นที่และเส้นเขตแดนด้วย ดังนั้น พันธมิตรฯ และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทยจึงจำเป็นต้องหยิบยกถ้อยคำในท้ายของคำพิพากษาศาลโลกเมื่อปี 2505 ซึ่งปรากฏอยู่ในหน้าที่ 29 ซึ่งระบุว่า คำแถลงของกัมพูชาที่ขอให้ศาลชี้ขาดเรื่องสภาพทางกฎหมายของแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 และเรื่องเส้นเขตแดนในพื้นที่พิพาทนั้นจะรับฟังได้ในชั้นของการแสดงเหตุผล ซึ่งไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของคำพิพากษาเดิม

นายปานเทพกล่าวอีกว่า แสดงว่าขอบเขตของคำพิพากษานั้นไม่ได้รับรองแผนที่ 1 ต่อ 200,000 รวมทั้งเรื่องเส้นเขตแดนด้วย ซึ่งรัฐบาลไทยในยุคนั้นก็ไม่ยอมรับคำร้อง โดยอ้างเหตุว่าถ้อยความในคำร้องไม่ชัดเจน ไม่สามารถระบุได้ว่าพื้นที่ที่กัมพูชาเรียกร้องอยู่ที่ใด โดยเฉพาะขอบเขตคำพิพากษาตัดสินเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น เราจึงไม่มีความกังวลหากศาลโลกมีการตีความแม่นยำอย่างถูกต้องยุติธรรมแล้ว หมายความไม่สามารถวินิจฉัยเกินขอบเขตเดิมได้ และตามธรรมนูญศาลโลก มาตรา 60 ที่ระบุให้มีการยื่นอุทธรณ์ภายใน 10 ปี ซึ่งปัจจุบันเลยมากว่า 39 ปีแล้ว การอุทธรณ์จึงทำไม่ได้ ส่วนการตีความในคำพิพากษาเดิมก็ทำไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะคำพิพากษาเดิมระบุขอบเขตที่ชัดเจนเหนือตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น

“สิ่งที่รัฐบาลที่ต้องทำตอนนี้คือ การตัดฟ้อง ไม่ยอมรับในอำนาจของศาลโลก แต่ที่เราเป็นห่วงมากที่สุดคือการหลงผิดที่นำคณะทนายชาวฝรั่งเศสเข้ามาทำหน้าที่ เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกัมพูชาในหลายเรื่อง จึงไม่สามารถไว้วางใจทีมทนายชุดนี้ได้ เพราะการต่อสู้ครั้งนี้มีความสำคัญต่อประเทศชาติมาก” นายปานเทพกล่าว

โฆษกพันธมิตรฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คำร้องขอของกัมพูชาในส่วนของการส่งกองกำลังสันติภาพของสหประชาชาติเข้ามาในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชานั้น ไม่น่าจะใช้อำนาจของศาลโลก แต่ต้องอยู่การพิจารณาและตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติ (ยูเอ็นเอสซี) เท่านั้น โดยหากสมาชิกถาวรประเทศใดประเทศหนึ่งคัดค้าน ก็ไม่สามารถส่งกองกำลังเข้ามาแทรกแซงได้ โดยในเวทียูเอ็นเอสซีนี้ ไทยจึงควรยืนยันตามกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 2 (7) ที่ห้ามสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศใด รวมทั้งมาตรา 51 ที่ให้สิทธิประเทศในการป้องกันตัวเอง หากถูกโจมตีโดยอาวุธ หมายความว่าหากถูกรุกรานจากประเทศอื่น เราก็มีสิทธิในการตอบโต้โดยชอบธรรม

นายปานเทพยังได้กล่าวถึงกรณีที่การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (3 พ.ค.) ซึ่งคาดว่าจะเป็นนัดสุดท้ายก่อนที่จะมีการยุบสภา จึงมีการอนุมัติโครงการและงบประมาณมหาศาลว่า การพิจารณาถึงกว่า 200 วาระ ถือเป็นเรื่องที่น่าเกลียดและกระทำผิดประเพณี เสมือนเป็นการเร่งรีบทิ้งทวนในการอนุมัติงบประมาณแผ่นดินในช่วงสุดท้าย เป็นการกระทำที่ลุแก่อำนาจ ขาดความรอบคอบในการพิจารณา ซึ่งผิดปกติจากมนุษย์ทั่วไปที่จะพิจารณาได้ถึง 200 เรื่องภายใน 1 วัน เท่ากับว่ารัฐบาล โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กระทำการผิดกฎเหล็ก 9 ข้อของตัวเอง ที่บอกว่าจะทำงานโปร่งใส และซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด แต่กลับปล่อยผ่านงบประมาณมหาศาลอย่างมีเงื่อนงำ

จึงต้องบันทึกไว้ว่า สิ่งนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่นักการเมืองไม่สามารถเป็นผู้แก้ไขปัญหาของประเทศได้ ไม่เป็นที่พึ่งของประชาชน จึงยืนยันที่จะรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง แล้วกาในช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” หรือ “โหวตโน” โดยเร็วๆ นี้จะมีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่ เพื่อติดตั้งบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ หันหน้าไปทางที่ทำการสหประชาชาติประจำประเทศไทย โดยจะแจ้งกำหนดการให้ทราบอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น