โฆษกพันธมิตรฯ ชี้ฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติไม่ลงรอยกรณีเจบีซี 3 ฉบับ ระบุแนวคิด “มาร์ค” เดินหน้าเจบีซีอินโดฯ ขัด “ประยุทธ์” ชัด ติงอย่าลืมอิเหนาซี้เขมรแค้นไทยส่งทหารแบ่งแยกติมอร์ ด้าน “ประพันธ์” ชี้รัฐเดินเกมพลาดหวังเอาใจกัมพูชา อ้างรอคำวินิจฉัยศาลหาทางลง ปูด ปชป.เล็งบีบลาออก หน. ซัด “กษิต-เจริญ” พล่ามบิดเบือน
คลิกที่นี่ เพื่อฟังนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (29 มี.ค.) ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวในการแถลงถึงกรณีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ทั้ง 3 ฉบับว่า วาระการประชุมของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันนี้ยังเต็มไปด้วยความสับสน เห็นได้ชัดว่ามีความไม่ลงรอยกันของฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ โดยรัฐบาลต้องการให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบบันทึกการประชุมเจบีซี และข้อตกลงชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 แต่ฝ่ายนิติบัญญัติจะรับทราบเฉพาะผลการศึกษาของผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการที่มีนายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เป็นประธานเพียงอย่างเดียว โดยไม่ลงมติเห็นชอบในส่วนบันทึกเจบีซี โดยอ้างว่าจะรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าทั้งบันทึกเจบีซีและร่างข้อตกลงชั่วคราวเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ ตามที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นตีความไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งพันธมิตรฯ จะติดตามการประชุมในวันนี้อย่างใกล้ชิดว่าสุดท้ายจะจบอย่างไร เพราะวาระการประชุมนี้ยังมั่วอยู่มาก
“แนวทางนี้เป็นเพียงการแก้เกี้ยว เพราะแท้ที่จริงแล้วสมาชิกรัฐสภาจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยแนวทางในการเห็นชอบบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าไปได้ เนื่องจากเกรงกลัวต่อการกระทำผิดกฎหมาย และเห็นข้อบกพร่องมากมายที่ทำให้กัมพูชาได้เปรียบ หากรัฐสภาผ่านการเห็นชอบบันทึกเจบีซี” นายปานเทพกล่าว
โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนวิธีคิดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่พยายามเดินหน้าการประชุมเจบีซี และคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี) ซึ่งกำหนดการประชุมที่ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ เห็นได้ชัดว่าขัดแย้งกับแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ต่อกรณีการส่งทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ชายแดนไทยกับกัมพูชา เพื่อไม่ให้มีการปะทะกัน ทำให้ฝ่ายทหารรู้สึดอึดอัด เพราะเงื่อนใขในการไม่ปะทะกันทำให้กัมพูชามีสิทธิยึดครองแผ่นดินไทยได้ต่อไปในทางพฤตินัยอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา หรือเป็นการถาวร เนื่องจากการประชุมไม่จบสิ้นเสียที ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าประเทศอินโดนีเซียมีความใกล้ชิดกับกัมพูชาอย่างมาก ทั้งในด้านการทหารและธุรกิจ อีกทั้งประเทศไทยยังเคยส่งทหารเข้าร่วมกับกองกำลังสันติภาพของสหประชาชาติที่ร่วมปลดปล่อยประเทศติมอร์จากอินโดนีเซียอีกด้วย
“เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยไม่ควรให้อินโดนีเซียเข้ามาเป็นสักขีพยาน ฝ่ายไทยควรจำกัดเฉพาะการประชุมและการวางกำลังทหารระหว่างไทยกับกัมพูชาเท่านั้น ชาติอื่นไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว” นายปานเทพกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากนี้ท่าทีของกลุ่มพันธมิตรฯจะเป็นอย่างไรต่อไป นายปานเทพกล่าวว่า พวกเราคัดค้านบันทึกผลการประชุมครั้งนี้ เพราะรัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีเสนอเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 (2) ซึ่งหมายความว่าหากรัฐสภาเห็นชอบ ทำให้รัฐบาลสามารถลงนามเดินหน้าในข้อตกลงชั่วคราว ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ทางสมาชิกรัฐสภาก็เห็นปัญหานี้ จึงของให้แยกร่างข้อตกลงชั่วคราวออกจากบันทึกเจบีซี ทำให้ไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ทำให้ความเห็นในที่ประชุมรัฐสภาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย
“เมื่อรัฐบาลทำให้เกิดความวุ่นวายและสับสนในที่ประชุมรัฐสภา โดยปกติแล้วรัฐบาลต้องลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะนายกฯไปเสนอเงื่อนไขที่รัฐสภาไม่สามารถให้ความเห็นชอบได้” นายปานเทพกล่าว
ด้าน นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า การนำผลบันทึกการประชุมเจบีซี 3 ฉบับ ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบนั้น ถือเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลและนายอภิสิทธิ์มาตั้งแต่ต้น เพราะกรณีนี้มี ส.ว.บางส่วน และประชาชนคัดค้านมาตั้งแต่ต้น ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมของรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับยืนยันที่จะเดินหน้าให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ เพราะรัฐบาลเห็นแล้วว่าเข้าองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญ มาตรา 190(2) ซึ่งเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ที่สำคัญยังออกมาเป็นมติคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเรื่องให้ประธานรัฐสภาบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมด้วยซ้ำ แสดงว่าได้ผ่านการกลั่นกรองมาโดยละเอียดแล้วก่อนเสนอสู่รัฐสภา
นายประพันธ์กล่าวอีกว่า เมื่อเข้าสู่การประชุมรัฐสภาแล้วพบว่า เรื่องนี้มีข้อบกพร่องที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และถูกสมาชิกรัฐสภาอภิปรายคัดค้านมาโดยตลอด รัฐบาลจึงแก้เกี้ยวด้วยการให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูตีความ รวมทั้งถ่วงเวลาโดยให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแล้วนำความเห็นมา เสนอที่ประชุม เพื่อเป็นทางออกในกรณีที่ไม่สามารถดันไปต่อไม่ได้ ซึ่งความพยายามของรัฐบาลก็เพียงเพื่อเอาใจกัมพูชาที่ขู่ว่าหากเรื่องไม่ผ่านรัฐสภาไทย ก็จะไม่มีการประชุมเจบีซีและจีบีซี เมื่อไม่สามารถไปต่อได้ ก็หาทางลงเพื่อรักษาหน้าตัวเอง โดยอ้างศาลรัฐธรรมนูญ
“บัดนี้รัฐบาลไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้ต่อไปได้ เพราะมีปัญหาสุ่มเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี สมาชิกรัฐสภาจึงไม่ให้ความร่วมมือ รัฐบาลจึงต้องแก้เกี้ยวว่าต้องรอฟังผลศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รัฐบาลได้พ่ายแพ้ต่อการนำเสนอเรื่องนี้ในรัฐสภา และพ่ายแพ้ต่อความเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แม้จะดันต่อไปก็ไม่สำเร็จ จึงต้องหาทางถอยออกไปในลักษณะนี้” นายประพันธ์กล่าว
โฆษกคณะกรรมการฯ ยังเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้หากรัฐบาลยังตะแบงและดึงดันต่อไป จะทำให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพขึ้นในรัฐบาล โดยเฉพาะในพรรคประชาธิปัตย์ที่เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง โดยมีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ติดต่อมายังตน โดยระบุว่าจะพยายามหาทางกดดันให้นายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคในการประชุมใหญ่ของพรรคที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่นานนี้ ชี้ให้เห็นว่านายอภิสิทธิ์และคณะรัฐมนตรีไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้การประชุมบรรลุผลตามความตั้งใจได้
นายประพันธ์ยังได้ตอบโต้ข้อมูลของผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ที่พูดผ่านการถ่ายทอดสดรายการไขปริศนา JBC ว่ามีความพยายามในการบิดเบือนข้อเท็จจริงหลายประการ อาทิ การยืนยันว่าเอ็มโอยู 2543 ไม่ใช่สัญญา ทั้งที่เป็นสัญญาอย่างชัดเจน และยังยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่เสียดินแดน ทั้งที่ในทางปฏิบัติเราได้เสียไปแล้ว เหลือเพียงกระบวนการในการปักปันเขตแดนใหม่เท่านั้น ทั้งยังให้ข้อมูลอีกว่าพวกเรามาปลุกระดมให้เกิดความคลั่งชาติ โดยข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งในความเป็นจริงภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเพราะความรักชาติ และนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผย สิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามให้ข้อมูลต่อประชาชนผ่านการใช้เวลาถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์นั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจมากในการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ
ขณะที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวเสริมว่า จากการที่ ส.ส.และ ส.ว.ทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเองต่อความผิดหากยกมือให้ความเห็นชอบบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับที่จะทำให้ไทยต้องสูญเสียดินแดน จึงไม่สามารถยกมือให้ความเห็นชอบได้
คลิกที่นี่ เพื่อฟังนายประพันธ์ คูณมี ให้สัมภาษณ์