ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุดการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาผลบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) 3 ฉบับ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา ก็มีอันต้อง “ล่ม” อีกครั้ง หลังจากทำสภาล่มจนต้องเลื่อนมาแล้วเมื่อวันที่ 25 มีนาคม โดยหลังจากนับองค์ประชุมไม่ครบ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภา ก็สั่งปิดสภา และเลื่อนไปประชุมในวันอังคารที่ 5 เมษายน
ล่าสุด นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้ให้สัมภาษณ์ว่า วันอังคารที่ 5 เม.ย. คงไม่มีการประชุมแล้ว เพราะว่าต้องรอหนังสือจากศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเขียนวินิจฉัยเสร็จจะส่งเรื่องให้สภา คงติดวันเสาร์วันอาทิตย์ ประชุมวันอังคารที่ 5 เม.ย. คงไม่ทัน เพราะสภาต้องออกระเบียบวาระส่งให้ ส.ส. และ ส.ว. ก่อน 3 วัน ดังนั้นเวลาคงไม่ให้ ส่วนจะเลื่อนไปวันไหนนั้น อยู่ที่ความพร้อมของรัฐบาลด้วย
นี่คือปัญหาใหญ่ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่นอกจากจะถือเป็นความพ่ายแพ้ที่สมควร “ลาออก” หรือ “ยุบสภา” เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นปัญหาที่สะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดินจนฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเองตัดสินใจโดดประชุมสภาเนื่องเพราะเกรงจะร่วมขบวนการขายชาติขายแผ่นดินซึ่งมีโทษมหันต์ในทางกฎหมาย
**ส.ส.ตั้งใจโดดร่ม
เหตุหวั่นติดคุก
กรณีที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่สามารถลงมติรับทราบ หรือรับรองบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ( เจบีซี ) ทั้ง 3 ฉบับได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบนั้น มีรายงานว่า สมาชิกรัฐสภาหลายคนมีความไม่สบายใจพฤติกรรมของรัฐบาลที่ไม่ชัดเจน และเกิดความขัดแย้งกันเองภายในพรรคประชาธิปัตย์ สุดท้ายทำให้องค์ประชุมไม่ครบในที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่ ส.ส. หลายคนโดดประชุมสภา ถึงแม้บางรายอ้างว่าติดภารกิจลงพื้นที่ แต่เชื่อว่าลึกๆ แล้ว ส.ส. หลายคนผวาความผิด และกลัวติดคุก! ซึ่งแม้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะพยายามเกลี้ยกล่อม ข่มขู่ รวมถึงชักแม่น้ำทั้งห้ามาอธิบาย ก็ไม่สามารถทำให้สมาชิกผู้ทรงเกียรติแห่งรัฐสภาเห็นดีเห็นงามคล้อยตามไปด้วย กระทั่งนายกษิต ภิรมย์ลงทุนเสนอหน้าออกโทรทัศน์เพื่ออธิบายก่อนการประชุมสภา แต่ก็ไม่มีใครเชื่อถือ
ทั้งนี้ เนื่องจากบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ ได้มีการระบุให้มีการปักปันเขตแดนใหม่ตั้งแต่หลักเขตแดนที่ 23 -51 รวมทั้งจุดที่มีสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนด้วย ซึ่งถ้ารัฐสภาพิจาณารับรองบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ ก็เท่ากับว่ารัฐสภาไปให้การรับรองการปักปันเขตแดนใหม่ทั้งหมด สละสิทธิของไทยที่มีการปักปันเขตแดนแล้วเสร็จตั้งแต่สยามกับฝรั่งเศสเมื่อ 103 ปีที่แล้ว ซึ่งจะถือเป็นการรับรองโดยรัฐสภาไทยเป็นครั้งแรก และเป็นการสูญเสียดินแดนอย่างเป็นทางการ!
เชื่อแน่ว่าคงไม่มี ส.ส.และส.ว. คนใดอยากจะถูกตราหน้าว่าได้ทำให้ประเทศชาติสูญเสียดินแดนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ดีไม่ดียังจะได้ไปนอนในคุกฟรีๆ ตลอดชีวิต อีกด้วย ดังนั้น การประชุมเจบีซีที่ผ่านมา ส.ส.และส.ว. หลายคน รวมถึง ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ บางส่วน จึงอยากให้รอฟังผลชี้ขาดจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน ตามที่นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะ ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแห่งราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา 190 หรือไม่
แต่รัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ก็ดื้อตาใส ดันทุรัง จะให้รับทราบข้อสังเกตกรรมาธิการฯ ให้ได้ จนโดน ส.ว. บางรายบอกว่า บริหารบ้านเมืองเหมือนเล่นไฮโล !
"การที่จะมาพูดว่า รับทราบก็ได้ รับรองก็ได้ แบบนี้เหมือนกับออกสูง ออกต่ำ เจ้ามือกินหมด หกสี่เอี่ยวกินหมด เหมือนเล่นไฮโล แต่เราจะบริหารบ้านเมืองกันแบบนี้หรือ ถ้าเข้ามาตรา 190 สภาก็ต้องพิจารณาเท่านั้น ถ้าไม่เข้า ก็เป็นเรื่องของข้าราชการไปทำงาน สภาไม่ต้องรับรู้อะไร แต่เนื้อในทางเทคนิค ก็ยังมีการแตะเนื้อหาเรื่องการปักปัน การปักหมุดอยู่ดี เมื่อมีข้อขัดแย้งสู่ศาลแล้ว ก็สมควรจะรอ แต่รัฐบาลยังจะให้สภารับทราบอีก" นายสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว. สมุทรสงคราม ให้ความเห็น
ล่าสุด, คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปราย และมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้องที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของนายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กับพวกรวม 80 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่า บันทึกการประชุมคณะกรรมการธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) รวม 3 ฉบับ เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ โดยเห็นว่า คณะรัฐมนตรีได้นำบันทึกการประชุมดังกล่าว เสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยมีข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องว่า กรณียังไม่ถึงขั้นตอนที่จะต้องเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เนื่องจากยังมีขั้นตอนอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องพิจารณาดำเนินการเสียก่อน
ในชั้นนี้จึงยังไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคหก ประกอบมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ที่จะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายว่าในการพิจารณา คณะตุลาการฯ เห็นว่าบันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวนั้น มีเนื้อหาสาระที่บอกแค่ว่า เป็นผลการประชุมของเจ้าหน้าที่ 2 ฝ่ายจะมีการดำเนินการอะไรบ้าง เพื่อแก้ไขปัญหา โดยที่ฝ่ายบริหารก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ต่อ เช่น ยังไม่มีการที่ผู้นำรัฐบาลของแต่ละฝ่ายไปตกลงกัน หรือทำเป็นหนังสือสัญญาร่วมกัน ที่มีการลงนามของประมุขแห่งรัฐ หัวหน้ารัฐบาล หรือ รมว.ต่างประเทศ ของทั้ง 2 ประเทศว่าจะมีการดำเนินการตามที่ตกลงกันไว้ จึงถือว่าบันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับ ยังไม่ใช่หนังสือสัญญา ที่จำต้องเสนอเข้าประชุมรัฐสภาด้วยซ้ำ
ขณะเดียวกัน การที่ประธานรัฐสภาจะส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 นั้น ก็ต้องเป็นกรณีที่มีการโต้แย้งว่า หนังสือสัญญาที่ประชุมแห่งรัฐ หัวหน้ารัฐบาล หรือ รมว.ต่างประเทศ จะไปลงนามร่วมกับหัวหน้ารัฐบาลของอีกฝ่ายหนึ่งนั้น มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอธิปไตยของไทย เหตุใดจึงไม่นำมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน แต่กรณีนี้ไม่ได้มีการโต้แย้ง เพราะรัฐบาลก็เอาบันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับ เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา ทั้งที่ก็ไม่จำเป็น
"แม้ว่าที่สุดแล้วรัฐสภาจะให้ความเห็นชอบกับบันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับ ก็ไม่มีผลให้บันทึกนั้นกลายเป็นหนังสือสัญญาได้ เพราะการจะถือเป็นหนังสือสัญญานั้น คนลงนามต้องเป็นประมุขแห่งรัฐ หรือหัวหน้ารัฐบาล หรือ รมว.ต่างประเทศ หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายชัดแจ้งจากรัฐบาล แต่บันทึกการประชุม 3 ฉบับ ที่เสนอนั้น คนไปประชุมเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี อย่างนี้แล้วจะไปถือเป็นหนังสือสัญญาได้อย่างไร เรื่องนี้มันจึงเป็นการหาเชือกพิงกัน เพราะมันกลายเป็นการเมือง กลัวจะถูกเล่นกลับ ทั้งที่เป็นแค่บันทึกการประชุม หัวหน้ารัฐบาลยังไม่ได้ไปเซ็นตกลงอะไรกับเขา ก็เอาเข้าสภาไว้ก่อน ขณะที่สภาก็กลัว ก็เตะมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราก็ไม่ใช่ที่ปรึกษาของใคร" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งให้ความเห็น
เห็นได้ชัดว่าเล่ห์กลของเจ้ามือไฮโลอย่างนายอภิสิทธิ์และลูกน้อง เอามาหลอกกินศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้!
และนั่นแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมที่มาถึงขีดต่ำสุดของรัฐบาลอย่างแท้จริง!
**อภิสิทธิ์จับแพะชนแกะ
และความพ่ายแพ้อีกครั้งของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ประชุมในวันที่ 29 มีนาคม ไว้อย่างน่าสนใจว่า ...เกิดขึ้นแบบซ้ำรอยเดิมกับวันที่ 25 มีนาคม โดยรัฐบาลพยายามแยกเรื่องที่เกี่ยวข้องกันสองส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการรับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ และส่วนที่สองเป็นความเห็นชอบข้อบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ การประชุมในวันนั้นนายอภิสิทธิ์พยายามโน้มน้าวจูงใจให้สมาชิกรัฐสภารับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการให้ได้ และอ้างว่าเป็นการยืนยันให้เห็นว่าไทยยังให้ความสำคัญกับกลไกทวิภาคี แต่ถ้าหากรัฐสภาไม่พิจารณาจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน
ที่จริงในการประชุมรัฐสภาก่อนหน้านั้นนายอภิสิทธิก็เคยกล่าวในทำนองนี้และใช้ตรรกะประหลาดเชื่อมโยงว่าหากรัฐสภาไม่พิจารณาอะไรอาจทำให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงไทยได้พร้อมกับยกเรื่องการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้อินโดนีเซียมาเป็นผู้สังเกตการณ์การเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชามาเป็นข้อสนับสนุน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้เกิดจากการทำหน้าที่บกพร่องและความอ่อนแอของรัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเอง ไม่เกี่ยวกับการที่รัฐสภาจะให้การรับรองหรือไม่รับรองบันทึกเจบีซีแต่ประการใด ทั้งนี้ การพูดแบบข่มขู่ให้กลัวและการจับโน่นผสมนี่และเรียงร้อยเรื่องราวแบบใช้เหตุผลเทียม เป็นความเชี่ยวชาญของนายอภิสิทธิ์ หากใครฟังแล้วคิดตามไม่ทันก็จะกลัวและหลงเชื่อได้ง่าย แต่หากคิดสักนิดก็จะเห็นได้ชัดว่าการวาดภาพให้น่ากลัวและการใช้เหตุผลของนายอภิสิทธิ์นั้นเป็นการใช้เหตุผลแบบจับแพะชนแกะซึ่งขาดความสมเหตุสมผลอย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลพยายามแยกทั้งสองเรื่องออกจากกัน และระบุว่าเป็นการประชุมเพื่อให้มีมติรับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ แต่สมาชิกรัฐสภาบางคนมีความเห็นว่าไม่ควรรับทราบไปก่อนเพราะหากเกิดความเสียหาย สมาชิกรัฐสภาอาจรับไม่ได้ และบางคนก็เห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่ต้องมารับทราบ และหากนายกรัฐมนตรีต้องการนำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการไปออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีก็สามารถทำได้เลย ในที่สุดรัฐสภาก็ต้องยุติการประชุม เมื่อมีการเสนอให้นับองค์ประชุมแล้วปรากฏว่ามีสมาชิกอยู่ไม่ครบองค์ประชุม และมีการเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ไปในวันที่ 5 เมษายน 2554
เหตุการณ์วันที่ 29 มีนาคม จึงเป็นการพ่ายแพ้ในสภาอีกครั้งของรัฐบาลซึ่งไม่สามารถผลักดันในสิ่งที่ตนเองต้องการให้ผ่านสภาได้... (อ่านฉบับเต็มได้ในบทความเรื่อง “แพ้แล้วยังจะแถต่อไป” หน้า 49)
**ความไม่ลงรอยกันของฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาบันทึกเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับ ก็คือ วาระการประชุมของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งและความสับสน โดยเห็นได้ชัดว่ามีความไม่ลงรอยกันของฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ โดยรัฐบาลต้องการให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบบันทึกการประชุมเจบีซี และข้อตกลงชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 แต่ฝ่ายนิติบัญญัติจะรับทราบเฉพาะผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ ที่มีนายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เป็นประธาน เพียงอย่างเดียว โดยไม่ลงมติเห็นชอบในส่วนบันทึกเจบีซี โดยอ้างว่า จะรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าทั้งบันทึกเจบีซี และร่างข้อตกลงชั่วคราวเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ ตามที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นตีความไว้
ซึ่งแนวทางนี้เป็นเพียงการ “แก้เกี้ยว” เพราะแท้ที่จริงแล้ว สมาชิกรัฐสภาจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยแนวทางในการเห็นชอบบันทึก เจบีซี 3 ฉบับ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าไปได้ เนื่องจากเกรงกลัวต่อการกระทำผิดกฎหมาย และเห็นข้อบกพร่องมากมายที่ทำให้กัมพูชาได้เปรียบ หากรัฐสภาผ่านการเห็นชอบบันทึกเจบีซี
ส่วนวิธีคิดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่พยายามเดินหน้าการประชุมเจบีซี และคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนทั่วไปไทย - กัมพูชา ( จีบีซี ) ซึ่งกำหนดการประชุมที่ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ เห็นได้ชัดว่า ขัดแย้งกับแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ต่อกรณีการส่งทหารอินโดนีเซีย เข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ชายแดนไทยกับกัมพูชา เพื่อไม่ให้มีการปะทะกัน ทำให้ฝ่ายทหารรู้สึดอึดอัด เพราะเงื่อนใขในการไม่ปะทะกัน ทำให้กัมพูชา มีสิทธิ์ยึดครองแผ่นดินไทยได้ต่อไปในทางพฤตินัยอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา หรือเป็นการถาวร เนื่องจากการประชุมไม่จบสิ้นเสียที
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าประเทศอินโดนีเซีย มีความใกล้ชิดกับกัมพูชาอย่างมาก ทั้งในด้านการทหาร และธุรกิจ อีกทั้งประเทศไทย ยังเคยส่งทหารเข้าร่วมกับกองกำลังสันติภาพของสหประชาชาติ ที่ร่วมปลดปล่อยประเทศติมอร์จากอินโดนีเซียอีกด้วย ดังนั้น เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยไม่ควรให้อินโดนีเซียเข้ามาเป็นสักขีพยาน ฝ่ายไทยควรจำกัดเฉพาะการประชุมและการวางกำลังทหาร ระหว่างไทยกับกัมพูชาเท่านั้น โดยชาติอื่นไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า พวกเราคัดค้านบันทึกผลการประชุมครั้งนี้ เพราะรัฐบาลโดยมติครม. เสนอเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 (2) ซึ่งหมายความว่า หากรัฐสภาเห็นชอบ ทำให้รัฐบาลสามารถลงนามเดินหน้าในข้อตกลงชั่วคราว ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ทางสมาชิกรัฐสภาก็เห็นปัญหานี้ จึงขอให้แยกร่างข้อตกลงชั่วคราวออกจากบันทึกเจบีซี ทำให้ไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ทำให้ความเห็นในที่ประชุมรัฐสภาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย
"เมื่อรัฐบาลทำให้เกิดความวุ่นวาย และสับสนในที่ประชุมรัฐสภา โดยปกติแล้วรัฐบาลต้องลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะนายกฯ ไปเสนอเงื่อนไขที่รัฐสภาไม่สามารถให้ความเห็นชอบได้" นายปานเทพ กล่าว
ดังนั้น หากรัฐบาลยังตะแบง และดึงดันต่อไป จะทำให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพขึ้นในรัฐบาล โดยเฉพาะในพรรคประชาธิปัตย์ ที่เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง โดยมีรายงานระบุว่า มีความพยายามหาทางกดดันให้นายอภิสิทธิ์ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ในการประชุมใหญ่ของพรรค ที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่นานนี้ ชี้ให้เห็นว่านายอภิสิทธิ์ และคณะรัฐมนตรี ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้การประชุมบรรลุผลตามความตั้งใจได้
**อภิสิทธิ์ทนหายห่วง!
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลคงพยายามดันทุรังให้รัฐสภารับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการอีกก็ได้ และคงเตรียมการระดมจัดตั้ง ส.ส. ของพรรคร่วมรัฐบาลเข้าประชุมเพื่อผลักดันมติในเรื่องนี้ออกมา แต่ขณะเดียวกัน แม้จะมีความพยายามอย่างไร โอกาสที่สมาชิกรัฐสภาจะไม่ยอมรับเรื่องนี้ก็ยังคงมีอยู่สูง และอาจเกิดเหตุการณ์ “สภาล่ม” ซ้ำรอยสองครั้งที่ผ่านมา เมื่อถึงเวลานั้น หากนายอภิสิทธิ์ยังมีความทนทาน, ทนอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ก็คงเป็น เหตุการณ์ที่แสนแปลกประหลาด พิกลผิดปกติจากธรรมดาของประเทศที่มีประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตย
“หากเป็นประเทศที่มีการยึดมั่นในบรรทัดฐานของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เมื่อรัฐบาลประสบปัญหากับรัฐสภาซ้ำซากเช่นนี้ มีทางออกสองทางคือ การยุบสภา และการลาออก แต่เราจะไปคาดหวังอะไรกับนักการเมืองของไทยในปัจจุบัน พวกเขายังคงกอดอำนาจไว้อย่างกระชับแน่น และไม่มีวันตัดสินใจตามครรลองของประชาธิปไตย ตราบใดที่ยังแถไปได้ ก็แถต่อไป จนกว่าประชาชนลุกฮือมาขับไล่หรือทหารลากรถถังออกมานั่นแหละพวกเขาจึงยอมขยับก้นตนเองลงจากเก้าอี้แห่งอำนาจ...” ผศ.ดร.พิชาย ให้ความเห็น
**รับบัญชาฮุนเซน
ขณะเดียวกัน เมื่อหันไปทางฝั่งเขมร เว็บไซต์ ฟิฟทีนมูฟ ก็ได้รายงานโดยอ้างหนังสือพิมพ์เกาะสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2554 รายงานว่า ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ประกาศเน้นย้ำว่า กัมพูชาสนับสนุนแต่เฉพาะการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) และการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ที่เมืองบอกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ที่จะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้เท่านั้น ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงและกัมพูชาจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ส่วนฝ่ายไทยไปร่วมด้วยหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของไทย
นอกจากนี้ นายฮุนเซน ยังบอกอีกว่า นายกรัฐมนตรีไทยและกระทรวงต่างประเทศไทย เสนอว่าไปร่วมประชุม แต่ระดับนำอีกจำนวนหนึ่งบอกว่าไม่ไป เขายังคงต้องการหารือทวิภาคีที่ไร้ประโยชน์ ไม่ได้การเหมือนเดิม เป็นเหมือนเดิม
ทั้งนี้ นายฮุนเซนได้อธิบายว่า ถ้าหากฝ่ายไทยคิดแต่เรียกร้องทวิภาคี ขณะที่ประเทศอาเซียนพยายามจัดภารกิจแบบนี้ เสมอเหมือนกำจัดผู้นำอาเซียน โขกหัวอาเซียน เตะอาเซียนออก แต่กัมพูชาไม่ขอมีส่วนร่วมกับไทยด้วย ขอยืนยันว่าการประชุมจีบีซีและเจบีซีนี้ จะจัดขึ้นที่เมือง บอกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 7-8 เม.ย. ที่จะถึงนี้เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า นายฮุนเซนได้ขอให้ตัวแทนสถานทูตไทยนำข้อความของตนไปแจ้งกับรัฐบาลไทยด้วยว่า การกระทำทั้งหมดที่ตัวเองได้กระทำไป ไทยต้องรับผิดชอบต่อหน้าอาเซียน และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศก็รับบัญชานายฮุนเซนทันที หลังจากที่ประชุมรัฐสภาหนีตายไม่ขอร่วมสังฆกรรมลงมติรับร่างเจบีซี โดยนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ ได้ให้ความเห็นว่า แม้วาระดังกล่าวจะเลื่อนออกไป แต่การแจ้งมติของคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาบันทึกการประชุมเจบีซี 3 ฉบับ ใน 5 ข้อนั้น กระทรวงการต่างประเทศ เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะไม่มีผลกระทบกับการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม หรือ เจบีซี ไทย-กัมพูชา ที่เมืองบอกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ เพราะในที่ประชุมไม่จำเป็นต้องหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาบันทึกผลการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ สามารถคุยในเรื่องอื่นๆ ได้
“มีความยินดีที่ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ออกมาระบุว่า ยินดีที่จะร่วมประชุมเจบีซีกับไทย เพื่อแก้ปัญหาเขตแดน ไม่ว่าผลการประชุมรัฐสภาเป็นอย่างไร ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ส่งมาจากทางฝ่ายกัมพูชา โดยจากนี้กระทรวงการต่างประเทศจะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าการประชุมดังกล่าวต่อไป” นายชวนนท์ กล่าว
สิ่งที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงความกลับไปกลับมาของรัฐบาล เพราะก่อนหน้าการพิจาณาของรัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ออกมาระบุเองว่า หากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบจะทำให้ไม่สามารถเปิดการประชุมทวิภาคีต่อกันได้ แต่ภายหลังนายชวนนท์ กลับออกมาบอกว่า สามารถประชุมได้ เพียงเท่านี้ก็เห็นได้ว่า รัฐบาลพยายามข่มขู่รัฐสภา และประชาชนว่า หากไม่ให้ความเห็นชอบ ประเทศชาติจะเดือดร้อน ทั้งที่ไม่เป็นความจริง เพราะอยู่ที่ท่าทีของการวางเกมการเมืองระหว่างประเทศมากกว่า การที่มีประเทศอินโดนีเซียเข้ามา ถือเป็นความผิดพลาดในทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐบาลจะกลัวคำขู่จนต้องน้อมรับคำบัญชาของนายฮุนเซนอย่างไร แต่ความจริงที่ปรากฏอยู่ในวันนี้ก็คือ ยังไม่มีวี่แววว่า “บันทึกเจบีซีอัปยศ” จะผ่านการรับรองจากรัฐสภาอย่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และพรรคพวก “กระสัน” อยากให้เป็น!
สุดท้าย ด้วยความห่วงใย จึงอยากให้รัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ เลือกเอาว่าอยากพบจุดจบแบบไหน ระหว่างJ = Jailed (ติดคุก) B = Banished (ถูกเนรเทศ) C = Chopped off the head (โดนตัดหัว) สะดวกแบบไหน ก็เลือกเอาแบบนั้น!