xs
xsm
sm
md
lg

“ซาเล้ง”ขายฝันส่งท้ายก่อนยุบสภา อ้อนคนเชียงรายเลือก ภท.แลกรถไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชียงราย- “โสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม” ขึ้นเวทีขายฝันรถไฟเด่นชัย-เชียงรายส่งท้ายรัฐบาลก่อนยุบสภาฯ บอกคนเชียงรายให้เลือก "พรรคภูมิใจไทย"แล้วจะได้รถไฟตามฝัน หลังถลุงงบศึกษาซ้ำซากมาครึ่งศตวรรษ

วานนี้(4 เม.ย.)ที่อาคารคชสาร องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เชียงราย นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ได้เดินทางไปเป็นประธานในการประชุมรับความเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟสาย อ.เด่นชัย จ.แพร่ ไปยัง จ.เชียงราย ซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 53 ปียังไม่มีการก่อสร้าง โดยมีประชาชนไปร่วมประมาณ 1,000 คน แต่การประชุมกลับเป็นลักษณะการกล่าวปราศรัยจากนายโสภณ เป็นส่วนใหญ่ ส่วนการรับฟังความเห็น เป็นการแจกเอกสารแสดงความเห็นเท่านั้น

ทั้งนี้ ก่อนการปราศรัยนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)ได้กล่าวรายงานความคืบหน้าของโครงการว่า การศึกษาเพื่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงรายมีมาตั้งแต่ปี 2503 และมีการสำรวจเบื้องต้นในปี 2512 จากเด่นชัย-แพร่-สอง-เชียงม่วน-ดอกคำใต้-พะเยา-ป่าแดด-เชียงราย ระยะทางรวม 273 กิโลเมตร

ต่อมาปี 2537-2538 ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทำการทบทวนผลการศึกษาเดิมได้ข้อสรุปให้ก่อสร้างตามแนวเด่นชัย-แพร่-สอง-งาว (ลำปาง)-พะเยา-เชียงราย ระยะทางรวม 246 กิโลเมตร กระทั่งปี 2539-2541 ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างเอกชนให้สำรวจออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบและปี 2547 ได้ว่าจ้างให้ศึกษาความเหมาะสมอีกครั้งเพื่อเชื่อมกับจีนตอนใต้ ซึ่งผลสรุปคือเส้นทางเดิมมีความเหมาะสมมากที่สุด

นายโสภณ กล่าวว่า ปี 2553 ตนไปปักธงว่าจะผลักดันรถไฟมาเชียงราย และวันนี้ก็มีความคืบหน้าตามลำดับ โดยเส้นทางเด่นชัย-เชียงราย เป็น 1 ใน 3 แผนเร่งด่วนแล้ว ซึ่งตนขอบอกด้วยความจริงใจว่าก่อสร้างแน่นอน หลังจากก่อนหน้านี้ได้ผลักดันโครงการถนนหลายสายมูลค่าหลายหมื่นล้าน ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสน 2 มูลค่า 1,500 ล้านบาท สะพานแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว ฯลฯ โดยมีนายวันชัย จงสุทธนามณี ที่ปรึกษาชาวเชียงรายเป็นผู้ผลักดัน ซึ่งสาเหตุที่ยุคตนผลักดันงบประมาณมากมายมาเชียงรายเพราะผูกพัน ส่วนจังหวัดใกล้เคียง เช่น พะเยาก็รู้จักกันช้ากว่าเชียงราย

"อย่าได้สงสัยว่าผมจะมาหลอกท่าน เพราะที่ผ่านมาล้วนแต่มีข่าวว่าทำไมผมจึงไปแต่เชียงรายบ่อย อย่างไรก็ตามท่านนายกฯ ก็จะยุบสภาแล้ว แต่ผมอยากบอกว่าการเมืองก็ปล่อยให้ว่ากันไป แต่ถ้าอยากจะให้โครงการสานต่อก็ต้องเลือกพรรคผมเพื่อจะได้สานต่อ เพราะรัฐบาลชุดต่อๆ ไปก็ขึ้นอยู่กับความชอบของเขาว่าจะทำต่อไปหรือไม่" นายโสภณ กล่าว

นายโสภณ กล่าวย้ำว่า โครงการนี้มีการศึกษาและออกแบบหมดแล้วเหลือเพียงก่อสร้างได้เลย แต่เมืองไทยแปลกรัฐบาลใหม่ที่ขึ้นไปหากมีแผนงานของรัฐบาลเก่าก็มักไม่สานต่อเพราะกลัวเสียหน้า

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 17 พ.ย.52 เห็นชอบให้พัฒนาโครงข่ายระบบรางและให้บริการรถไฟของ ร.ฟ.ท.และเห็นชอบแผนการลงทุนระยะเร่งด่วนในวันที่ 27 เม.ย.53 โดยโครงการรถไฟสายเด่นชัย-เชียงรายเป็นหนึ่งในแผนดังกล่าวควบคู่กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม สปป.ลาว-ไทยเข้าทาง จ.หนองคาย และเส้นทางอีสาน-มหาสารคาม-นครพนม มูลค่าทั้งหมด 176,808 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในยุคนายโสภณ เป็น รมว.คมนาคม ก็ยังไม่มีการก่อสร้าง ขณะที่ในปี 2554 กระทรวงคมนาคมได้จัดสรรงบประมาณราว 200 ล้านบาท เพื่อศึกษารถไฟรางคู่ต่อไปจนถึง อ.เชียงของ ชายแดนไทย-สปป.ลาว ระยะทาง 326 กิโลเมตรอีก โดย ร.ฟ.ท.เพิ่งลงนามจ้างเอกชนให้ศึกษาเมื่อวันที่ 29 เม.ย.54 ระยะเวลาศึกษา 14 เดือน

ขณะที่โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ท่าเรือแม่น้ำโขงมูลค่า 1,500 ล้านบาท อนุมัติให้ก่อสร้างสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ถนนโครงข่ายสะพานแม่น้ำโขง สะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย ฯลฯ ล้วนเป็นโครงการที่อยู่ในแผนของรัฐบาลชุดก่อนๆ และพัฒนาการด้านงบประมาณมาตามลำดับจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น