ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - พรรคภูมิใจไทยของ “เสี่ยเน-หนู” งัดโปรเจกต์เก่าค้างมานานกว่าครึ่งศตวรรษ “รถไฟเด่นชัย-เชียงราย” ที่ศึกษาแล้ว ศึกษาอีกมาหลายรัฐบาล หวังเจาะฐานเสียงเสื้อแดงฝั่งล้านนาตะวันออก “โสภณ-รักษาการ รมว.คมนาคม”บอก “จะให้สานต่อต้องเลือกพรรคผม”
ยกแรกของการเลือกตั้ง ส.ส.54 หลายพรรคการเมืองแข่งกันผุดนโยบาย “ซื้อ...ใจ”ผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนรากหญ้า ทั้งเรื่องการจำนำ/ประกันราคา ผลผลิตทางการเกษตร บัตรเครดิตเกษตรกร ฯลฯ
แต่ดูเหมือนทั้งหมดเป็นเพียงนโยบาย “เฉพาะหน้า” ให้ได้คะแนนเสียงในวันเลือกตั้งเท่านั้น ยังไม่มีพรรคการเมืองใดขายแนวคิดในเชิงยุทธศาสตร์ ที่มีผลต่ออนาคตของประเทศชาติในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก
ขณะที่ในสนามเลือกตั้งโซนล้านนาตะวันออก ทั้งเชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน ที่ได้ชื่อว่า เป็นถิ่นเสื้อแดงหนาแน่น ที่พรรคไทยรักไทย / พลังประชาชน ต่อเนื่องมาถึงเพื่อไทย ครองเก้าอี้ ส.ส.มาตลอดนั้น พรรคภูมิใจไทย ของ 2 เสี่ย “เน-หนู” เนวิน ชิดชอบ/อนุทิน ชาญวีรกูล ที่กุมกระทรวงเศรษฐกิจ-กระทรวงเกรด A ในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ได้หยิบยกโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ ที่เป็นความฝันของคนในพื้นที่มานานกว่าครึ่งศตวรรษ มาหาเสียงอย่างจริงจัง
นายโสภณ ซารัมย์ แกนนำของพรรคภูมิใจไทย ที่ทำหน้าที่รักษาการ รมว.คมนาคม อยู่ ได้จั่วหัวหาเสียงตั้งแต่ก่อนรับสมัครเลือกตั้งเที่ยวนี้ เมื่อคราวเดินทางมาเป็นประธานการประชุมรับฟังความเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย ซึ่ง อบจ.เมืองพ่อขุนฯ ซึ่งมีนางรัตนา จงสุทธนามณี สามีของนายวันชัย จงสุทธนามณี ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 ชร. พรรค ภท.เป็นนายกฯ จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ก่อนที่จะไปร่วมเปิดสำนักงานพรรค ภท.สาขาพะเยา เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2554 ว่า ตั้งแต่ปี 53 เขาบอกว่าจะปักธงโครงการนี้ ซึ่งขณะนี้ก็คืบหน้าแล้ว
“แต่ถ้าจะให้โครงการสานต่อ ก็ต้องเลือกพรรคผม เพราะรัฐบาลชุดต่อๆ ไปก็ขึ้นอยู่กับความชอบของเขาว่าจะทำต่อไปหรือไม่”
ทั้งนี้ การศึกษาเพื่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย มีมาตั้งแต่ปี 2503 และมีการสำรวจเบื้องต้นในปี 2512 จากเด่นชัย-แพร่-สอง-เชียงม่วน-ดอกคำใต้-พะเยา-ป่าแดด-เชียงราย ระยะทางรวม 273 กิโลเมตร ต่อมาปี 2537-2538 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทำการทบทวนผลการศึกษาเดิมได้ข้อสรุปให้ก่อสร้างตามแนวเด่นชัย-แพร่-สอง-งาว (ลำปาง)-พะเยา-เชียงราย ระยะทางรวม 246 กิโลเมตร กระทั่งปี 2539-2541 ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างเอกชนให้สำรวจออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบและปี 2547 ได้ว่าจ้างให้ศึกษาความเหมาะสมอีกครั้ง เพื่อเชื่อมกับจีนตอนใต้ ซึ่งผลสรุปคือเส้นทางเดิมมีความเหมาะสมมากที่สุด
เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้พัฒนาโครงข่ายระบบรางและให้บริการรถไฟของ ร.ฟ.ท.และเห็นชอบแผนการลงทุนระยะเร่งด่วนในวันที่ 27 เม.ย.2553 โดยมีรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย เป็นหนึ่งในแผนดังกล่าวควบคู่กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม สปป.ลาว-ไทย เข้าทาง จ.หนองคาย และเส้นทางอีสาน-มหาสารคาม-นครพนม มูลค่าทั้งหมด 176,808 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในยุคนายโสภณ เป็น รมว.คมนาคม ก็ยังไม่มีการก่อสร้าง ในปี 2554 กระทรวงคมนาคมได้จัดสรรงบประมาณราว 200 ล้านบาท เพื่อศึกษารถไฟรางคู่ต่อไปจนถึง อ.เชียงของ ชายแดนไทย-สปป.ลาว ระยะทาง 326 กิโลเมตร โดย ร.ฟ.ท.เพิ่งลงนามจ้างเอกชนให้ศึกษาเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมาระยะเวลาศึกษา 14 เดือน
ขณะที่โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ท่าเรือแม่น้ำโขงมูลค่า 1,500 ล้านบาท อนุมัติให้ก่อสร้างสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ถนนโครงข่ายสะพานแม่น้ำโขง สะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย ฯลฯ ล้วนเป็นโครงการที่อยู่ในแผนของรัฐบาลชุดก่อนๆ และพัฒนาการด้านงบประมาณมาตามลำดับจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน