นายกฯ มอบ สคร.ศึกษาให้เอกชนร่วมบริหาร โครงการรถไฟความเร็วสูง แทนการรถไฟฯ เนื่อจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูงถึง 2 ล้านล้านบาท จึงต้องการความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม และช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ ขณะที่ภาครัฐยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการนี้
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร.ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ทำการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ที่รัฐบาลมีแผนดำเนินการก่อสร้าง เพื่อพิจารณาว่า รูปแบบใดจะมีประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดีกว่ากัน ระหว่างให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้บริหาร หรือให้เอกชนเป็นผู้บริหาร โดยการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น
“โครงการลงทุนลักษณะนี้ถือเป็นโครงการใหม่ รูปแบบการบริหารจัดการควรเป็นสากล หากให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่เป็นผู้ดูแล จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ เพราะจะมีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นด้วย โดยการจัดตั้งอาจใช้เงินไปมาก แต่ขณะนี้ สคร.ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว”
ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวให้เหตุผลเสริมว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้มีวงเงินลงทุนสูง และเป็นโครงการที่ต้องใช้เทคโนโลยีในรูปแบบที่ทันสมัยและใหม่สำหรับประเทศไทย ดังนั้น เพื่อให้การลงทุนดังกล่าวประสบผลสำเร็จ การให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนจึงเป็นทางเลือกหลัก
ทั้งนี้ ภายใต้แผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงนี้ ประกอบด้วย 5 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-หนองคาย กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ โดยรัฐบาลได้ทำการทดสอบตลาดใน 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่และกรุงเทพฯ-ระยอง มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 3 แสนล้านบาท
โครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูง เป็นหนึ่งในแผนการลงทุนระยะ 5 ปีของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตามแผนจะมีวงเงินลงทุนรวม 2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในภาคต่างๆ เช่น ขนส่งพลังงาน และการสื่อสาร โดยวงเงินลงทุนนี้ส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน แต่ยังไม่ได้กำหนดสัดส่วนชัดเจน
“เราพยายามให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนมากที่สุด เพื่อให้จัดสรรงบประมาณแผ่นดินไปใช้ในโครงการอื่นและขณะที่กฎหมายการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ เราจะใช้กฎหมายเดิมไปก่อน และนำผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัญหาต่าง ที่เคยเกิดขึ้นมาใช้เกณฑ์”
ขณะนี้กำลังพิจารณาขายทั้งหุ้นที่จดและไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดมีกว่า 50 บริษัท มูลค่า 3 พันล้านบาท ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ สคร.ขายได้ทันทีหากมีความพร้อม ส่วนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะขายเฉพาะหุ้นส่วนที่ถือเกิน
“เราจะให้บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินช่วยดูข้อมูลก่อนขายออกไปซึ่งหลักทรัพย์ที่ถือนอกตลาด คงได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือน ส่วนหลักทรัพย์ที่ถือในบริษัท ซึ่งอยู่ในตลาดหุ้นจะขายในเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อหุ้นนั้นๆ ส่วนราคาต้องไม่ต่ำกว่าที่ซื้อมา”