xs
xsm
sm
md
lg

“ไตรรงค์”เปิดลงทุนไฮสปีดเทรน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-เตรียมยกเครื่องพ.ร.บ.ร่วมทุนรื้อเกณฑ์คำนวณมูลค่าลงทุน ลดขั้นตอนดำเนินงานเหลือไม่เกิน 24 เดือน รับโปรเจ็กต์ร่วมทุนไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท"ไตรรงค์"ยันลงทุน PPPs เปิดกว้างเอกชนร่วมประมูล
นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPPs ว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุนหรือ MARKET SOUNDING โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 221 กม.และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 754 กม. มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท โดยพบว่า ภาคเอกชนหลายราย รวมทั้งนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นสอบถามความชัดเจนว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนด้วยหรือไม่ และจะเป็นการร่วมทุนแบบใด ซึ่ง ได้ยืนยันว่า ทั้ง2โครงการนี้ จะเป็นการโครงการร่วมทุนแบบPPPs โดยรัฐบาลจะเปิดให้เอกชนจากทุกประเทศเข้าร่วมประกวดราคาแบบนานาชาติ (INTERNATIONAL BIDDING)
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการโลจิสติกส์แห่งชาติ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะเสนอทางเลือกต่อที่ประชุมให้พิจารณาตัดสินใจแนวทางการการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระหว่างการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาดำเนินการหรือให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เป็นผู้ดำเนินการ พร้อมทั้งเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุน สัดส่วนการร่วมทุนและแหล่งที่มาของเงินลงทุนให้พิจารณาด้วย
"ภาคเอกชนหลายรายให้ความสนใจในการลงทุนรถไฟความเร็วสูง แต่ต้องการความชัดเจนแนวทางในการร่วมลงทุน โดยเฉพาะเส้นทาง กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เนื่องจากขณะนี้ รัฐบาลไทยมีความร่วมมือกับรัฐบาลจีนในโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงด้วย ซึ่งต้องย้ำว่าไทยจะร่วมทุนกับทางการจีนเพื่อก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย
และกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์เท่านั้น ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน"นายไตรรงค์กล่าว
*** ยกเครื่องพ.ร.บ.ร่วมทุนรื้อเกณฑ์คำนวณมูลค่าลงทุน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงกรอบกฎหมายในการร่วมทุนแบบ PPPs โดยพิจารณารายละเอียดของพ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการของรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ปรับปรุง มาจากพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานและดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) โดยจะนิยามคำว่า"การร่วมทุน"ให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น หลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าการลงทุนที่เข้าข่ายการร่วมทุนนั้น ควรพิจารณาจากปัจจัยใดบ้าง เช่น มูลค่าสินค้าคงคลัง แต่ยังคงกรอบวงเงินเดิม คือเป็นโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาท ขณะเดียวกันจะพิจารณาปรับปรุงระยะเวลาการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวด้วย
ด้าน แหล่งข่าวจากที่ประชุม กล่าวว่า การดำเนินโครงการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 พบว่ามีขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นโครงการมาก โดยต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 48 เดือน ดังนั้นที่ประชุม เห็นว่าควรลดระยะเวลาในการดำเนินการลงเหลือไม่เกิน 24 เดือน โดยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เร่งพิจารณารายละเอียดเพื่อเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาต่อไป
สำหรับผลการศึกษาการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 754 กม. ค่าก่อสร้างประมาณ 232,409 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 13.58% หากรัฐลงทุนงานโยธาและให้เอกชนลงทุนระบบรถ จะมีผลตอบแทนทางการเงินที่ 35.65% แต่หากรัฐและเอกชนลงทุนฝ่ายละ 50% ผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ 2.30% และกรณีที่รัฐลงทุน 70% เอกชนลงทุน 30% ผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ 4.68%
ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 221 กม. ค่าก่อสร้างประมาณ 74,865 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 13.5% หากรัฐลงทุนงานโยธาและเอกชนลงทุนระบบรถ จะมีผลตอบแทนทางการเงินที่ 34.58% แต่หากรัฐและเอกชนลงทุนฝ่ายละ 50% ผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ 2.90% และกรณีที่รัฐลงทุน 70% เอกชนลงทุน 30% ผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ 5.19%
/////////////
กำลังโหลดความคิดเห็น