xs
xsm
sm
md
lg

“อลงกรณ์”ผิดหวังสหรัฐฯคงPWLไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“อลงกรณ์”ผิดหวังสหรัฐฯ คงบัญชี PWL ไทย ทั้งๆ ที่เดินหน้าปราบปราบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเต็มที่และกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เตรียมส่งหนังสือคัดค้าน ยันแม้สหรัฐฯ คงสถานะเท่าเดิม แต่จะยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์และคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยต่อไป
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศผลการจัดอันดับไทย ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2554 โดยคงไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เช่นเดียวกับปี 2553 ซึ่งไม่รู้ว่าสหรัฐฯ เอาข้อมูลอะไรมาตัดสิน ทั้งๆ ที่ไทยได้มีการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และได้มีการดำเนินการป้องปราบการละเมิดอย่างเต็มที่
ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ไทยมีการออกกฎหมายป้องกันการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ กฎหมายเอาผิดเจ้าของพื้นที่ที่สนับสนุนการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อพัฒนาการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและดิจิทัล ตลอดจนให้อำนาจศุลกากรตรวจยึดสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้โดยไม่ต้องมีผู้ร้องขอ รวมทั้งมีการหารืออย่างโปร่งใส และต่อเนื่อง กับอุตสาหกรรมยาสหรัฐฯ ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญานั้น ไทยได้มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แต่การออกกฎหมายต้องใช้ระยะเวลา โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำหรับข้อกล่าวหา ในเรื่องไม่มีการหารือกับอุตสาหกรรมยาสหรัฐฯ ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างดีพอนั้น ยืนยันว่าไทยได้มีการหารือกับอุตสาหกรรมยาสหรัฐฯ 2 ครั้งในปี 2553 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรียังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการทรัพย์สินทางปัญญาด้านยาและเวชภัณฑ์ โดยให้มีผู้แทนจากอุตสาหกรรมยาสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วย
“ผมได้ขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ทำหนังสือคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการคง PWL ไปให้ USTR แล้ว และรู้สึกผิดหวังที่สหรัฐฯ พยายามหาเงื่อนไขใหม่ๆ มาเป็นข้ออ้างให้ไทยปฏิบัติตามเพื่อแลกกับการถอดจาก PWL แทนที่จะตระหนักถึงความพยายามของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ของไทย อีกทั้งไม่เข้าใจว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงต้องตั้งเงื่อนไขว่าไทยจะต้องผ่านกฎหมายเหล่านี้ก่อนถึงจะให้พ้นจาก PWL และทำไมไม่ดูว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยมีความก้าวหน้าเป็นลำดับอย่างเห็นได้ชัด ควรจะให้เครดิตและการริเริ่มของไทยบ้าง”นายอลงกรณ์กล่าว
นายอลงกรณ์กล่าวว่า ไม่ว่าสหรัฐฯ จะประเมินสถานะทรัพย์สินทางปัญญาของไทยอย่างไร แต่ไทยจะเดินหน้าในการสร้างสร้างศักยภาพด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นเศรษฐกิจบนพื้นฐานการสร้างสรรค์ (Creative Economy) และสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ล่าสุดไทยยังจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในทุกระดับชั้น และคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ได้มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการรับหลักสูตรดังกล่าวไปใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนในสังกัดแล้ว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้กับประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
สหรัฐฯ ได้จัดอันดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าเป็น 3 ประเภท คือ (1) ประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุด (PFC) ซึ่งในปีนี้สหรัฐฯ ไม่ได้จัดประเทศใดไว้ (2) ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) 12 ประเทศ คือ จีน รัสเซีย อาร์เจนตินา แคนาดา ชิลี อินเดีย อิสราเอล อินโดนีเซีย ปากีสถาน เวเนซุเอลา และไทย (3) ประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) 29 ประเทศ เช่น บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฟินแลนด์ อิตาลี และนอร์เวย์ เป็นต้น โดยในปีนี้ มีประเทศปีที่แล้วเป็น WL แต่ได้ปรับลดเป็น PWL ในปีนี้ คือ อิสราเอล
กำลังโหลดความคิดเห็น