xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯชี้ไทยไม่คืบปราบสินค้าปลอม คาดปีนี้โอกาสหลุดพ้นบัญชีPWLยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สหรัฐฯ รายงานรัฐสภา ชี้ไทยยังไม่มีความคืบหน้าการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา คาดประกาศผลทบทวนปีนี้ช่วงปลายเดือนเม.ย.นี้ ไทยยังอยู่ในบัญชี PWL เหมือนเดิมแน่
นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้รายงานประมาณการทางการค้า (NTE Report) ต่อรัฐสภาสหรัฐฯ โดยได้รวบรวมปัญหา อุปสรรค และการกีดกันทางการค้าในด้านต่างๆ ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งในส่วนของไทย สหรัฐฯ ได้ระบุว่า แม้จะได้รับความมั่นใจจากระดับนโยบายระดับสูงของไทย ที่ผลักดันการคุ้มครอง และปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ทั้งการดำเนินนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาควบคู่กับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การจัดตั้งทีมงานปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดทำแผนพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ แต่เอกชนสหรัฐฯ ยังคงกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครอง และการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย และเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชนสหรัฐฯ ในไทย
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังระบุอีกว่า การออกกฎหมายป้องกันการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ กฎหมายเอาผิดเจ้าของพื้นที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ และการให้อำนาจศุลกากรในการตรวจจับสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้โดยไม่ต้องมีการร้องทุกข์ ก็ยังไม่แล้วเสร็จ
"สหรัฐฯ จะใช้ข้อมูลในรายงาน NTE เป็นพื้นฐานสำหรับการประเมินสถานะไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ประจำปี 2554 ที่จะประกาศผลในช่วงปลายเดือนเม.ย.2554 โดยมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ จะยังคงจัดไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ต่อไป"นางปัจฉิมากล่าว
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้จัดอันดับไทยเป็น PWL ตามกฎหมายการค้ามาตรา 301 พิเศษ ตั้งแต่ปี 2550 และคงอันดับต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน และเมื่อเดือนก.พ.2554 ที่ผ่านมา เอกชนสหรัฐฯ ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ต่อ USTR สรุปได้ดังนี้ คือ สมาคมทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (IIPA) ซึ่งประกอบด้วยเอกชนสหรัฐฯ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับงานลิขสิทธิ์ เช่น สมาคมซอฟต์แวร์ (BSA) สมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์สหรัฐฯ (MPAA) และสมาคมแพร่ภาพแพร่เสียงผ่านดาวเทียมและเคเบิลทีวี (CASBAA) เสนอให้ไทยเป็น PWL เช่นเดิม เนื่องจากเห็นว่าไทยยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ในการออกกฎหมายป้องกันการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ กฎหมายเอาผิดพื้นที่ และการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์
ส่วนสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์แห่งอเมริกา (PhRMA) เสนอให้ลดอันดับไทยเป็นประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุด (PFC) เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงยาของประชาชนไม่มีความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมของเอกชน และไทยได้ต่ออายุการใช้ CL ยารักษาโรคเอดส์ 2 รายการเมื่อปี 2553
กำลังโหลดความคิดเห็น