xs
xsm
sm
md
lg

ฟันนักบินตบทรัพย์ผู้ค้าสินค้าก๊อป คาดปีนี้โอกาสไทยหลุดบัญชีPWLยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กรมทรัพย์สินทางปัญญา เล็งฟันกลุ่มมิจฉาชีพอ้างเป็นเจ้าของสิทธิ์สินค้าดังต่างประเทศ ออกจับกุมผู้ค้าสินค้าละเมิด ข่มขู่เรียกเงินค่ายอมความ เตรียมออกประกาศใหม่วางกฎคุมเข้ม คาดปีนี้ไทยหลุดบัญชี PWL ยาก เหตุกฎหมายป้องกันแอบถ่ายในโรงหนัง กันละเมิดบนเน็ต ยังไม่คลอด

นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มมิจฉาชีพบางกลุ่มแอบอ้างเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาชั้นนำของต่างประเทศ เช่น Levi’s, Sony, Nokia, Honda เป็นต้น ออกจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และข่มขู่เรียกรับเงินค่ายอมความจากผู้ค้าสินค้าละเมิด ทำให้ผู้ค้าและประชาชนได้รับความเดือดร้อน

“ขอประชาสัมพันธ์ว่า หากพบพฤติกรรมการจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า ที่มีการข่มขู่ เรียกรับเงินค่ายอมความ ขอให้ตรวจสอบไปยังสถานีตำรวจแต่ละท้องที่ เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ที่มาจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านั้น”

ทั้งนี้ ในช่วงผ่านมา กรมฯ ได้รับการร้องเรียนจากผู้ค้าจำนวนมากว่าถูกกลุ่มบุคคลเหล่านี้อ้างว่าเป็นตัวแทนเจ้าของสิทธิ์ออกจับกุม และข่มขู่เรียกรับเงินค่ายอมความ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง โดยกรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการออกประกาศฉบับใหม่ เพื่อควบคุมตัวแทนผู้รับมอบอำนาจให้เข้มงวดมากขึ้นจะกำหนดให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจต้องมาขอรับบัตรตัวแทน เพื่อใช้เป็นเอกสารแสดงตัวในการออกจับกุมสินค้าละเมิดทุกครั้ง หากมีการแอบอ้าง และถูกจับได้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

นางปัจฉิมากล่าวว่า สำหรับความคืบหน้ากรณีที่ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) อยู่ระหว่างทบทวนสถานะของไทยในด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ และจะประกาศผลทบทวนสิ้นเดือเม.ย.นี้นั้น คาดว่าสหรัฐฯ คงจะคงอันดับไทยในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ต่ออีก 1 ปี แม้ว่าไทยต้องการเลื่อนสถานะให้ดีขึ้นมาอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามอง (WL)และรัฐบาลไทยได้พยายามอย่างหนักในการป้องกัน และปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯในไทย

สาเหตุที่ทำให้เชื่อว่า สหรัฐฯ จะยังคงให้ไทยอยู่ในบัญชี PWL เหมือนเดิม เพราะจนถึงขณะนี้ สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการเห็นให้ไทยแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรมยังไม่เกิดขึ้น ทั้งการออกกฎหมายป้องกันการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ และการออกกฎหมายป้องกันการละเมิดบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่ยังอยู่ในขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งจากข้อมูลของสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐฯ (MPA) ระบุว่า ไทยมีการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์มากที่สุดในภูมิภาค โดยในปี 2553 มีภาพยนตร์ต่างประเทศถูกแอบถ่ายในไทยทั้งหมด 37 เรื่อง เพิ่มขึ้น 48% จากปี 2552 ที่มีภาพยนตร์ต่างประเทศถูกแอบถ่าย 25 เรื่อง รวมถึงยังไม่สามารถป้องกันการละเมิดทางเคเบิลทีวีได้

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนของสหรัฐฯ ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สมาคมทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (IIPA) สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์แห่งอเมริกา (PReMA) ได้เสนอความเห็นให้ไทยอยู่ในกลุ่ม PWL ต่ออีก 1 ปี เพราะไทยยังไม่สามารถออกกฎหมายป้องกันการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ กฎหมายเอาผิดเจ้าของสถานที่ที่ให้ผู้ค้าสินค้าละเมิดเช่าพื้นที่รวมถึงไม่มีกฎหมายป้องกันการละเมิดบนอินเตอร์เน็ต และไทยได้ต่ออายุการใช้สิทธิ์ในการผลิตยาที่มีสิทธิบัตรอยู่แล้ว (CL) โดยเฉพาะยารักษาโรคเอดส์ 2 รายการเมื่อปี 2553
กำลังโหลดความคิดเห็น