กรมทรัพย์สินทางปัญญา ออกโรงเตือนผู้บริโภคระวังการแอบอ้างจำหน่าย “ชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้ง” สินค้าจีไอของจังหวัดเพชรบุรี ชี้ มีการนำชมพู่สายพันธุ์อื่นมาแอบอ้างโดยติดป้ายโฆษณา ชมพู่เพชร และวางขายในราคาสูงกว่าความจริง ระบุ มีการวางจำหน่ายในตลาด อ.ต.ก.จังหวัดนนทบุรี และเขตจตุจักร รวมถึงห้างเซ็นทรัล ชี้ ชมพู่เพชร ต้องเป็นพันธุ์เพชรสายรุ้งเท่านั้น ผู้ใดแอบอ้าง ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้รับการร้องเรียนจากผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ระบุว่า ได้มีผู้ค้าชมพู่ในตลาด อ.ต.ก.นนทบุรี และเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร รวมถึงห้างเซ็นทรัล ได้นำชมพู่สายพันธุ์อื่น คือ ชมพู่เพชรสุวรรณมา แอบอ้างติดป้ายว่าเป็น “ชมพู่เพชร” หรือ “ชมพู่เพชร พันธุ์สายรุ้ง” มาจำหน่ายในท้องตลาดในราคาที่ค่อนข้างสูง ซึ่งถือเป็นการแอบอ้าง และโฆษณาให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่าชมพู่ดังกล่าวเป็นชมพู่เพชรแท้ ซึ่งชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้ง นั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้ง” ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2551 ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546
“ช่วงเวลานี้ผลผลิตชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้ง ของจังหวัดเพชรบุรี ได้เริ่มทยอยออกสู่ตลาดบ้างแล้ว และจะทยอยออกสู่ตลาดมากตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม 2554 การที่จังหวัดเพชรบุรี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีได้ส่งจดหมายมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ค้าในตลาดดังกล่าวข้างต้น รวมถึงห้างเซ็นทรัลว่า มีพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้ การส่งจดหมายดังกล่าวนั้น เป็นเพราะมีการร้องเรียนจากเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูก ชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้ง ของจังหวัดเพชรบุรี อีกทั้งเพื่อป้องกันการแอบอ้างหลอกลวงจากผู้บริโภคให้สับสน หรือหลงผิดในสินค้า และเพื่อรักษาชื่อเสียงของสินค้าชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้ง” นางปัจฉิมา กล่าว
นางปัจฉิมา กล่าวต่อไปว่า จากการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้ง ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2551 ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 ระบุว่า การใช้ชื่อ ชมพู่เพชร ต้องเป็น พันธุ์เพชรสายรุ้ง เท่านั้น ห้ามมิให้ใช้กับชมพู่สายพันธุ์อื่น ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งขี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 มาตรา 27 ที่ระบุว่า การกระทำดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบ กล่าวคือ การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อแสดง หรือทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าสินค้าที่มิได้มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ระบุในคำขอขึ้นทะเบียนสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว และการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยประการใดที่ทำให้เกิดความสับสน หรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า และในคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะอื่นของสินค้านั้น เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบการค้ารายอื่น ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 39 ว่า ผู้ใดกระทำการตามมาตรา 27 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
สำหรับความแตกต่างระหว่างชมพู่เพชร พันธุ์สายรุ้ง กับชมพู่เพชรสุวรรณนั้น เห็นได้ชัดเจนคือ ชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้งก้นผลแคบ สีชมพูเข้ม เนื้อแข็งกรอบ เนื้อหนา มีสีเขียวอ่อนปนชมพู มีแถบสีชมพู (เส้นเอ็น) เป็นริ้ว มีเมล็ด 1-3 เมล็ด และมีรสชาติหวานกลมกล่อม มีเปอร์เซ็นต์ความหวาน 8-15 องศาบริกซ์ ขณะที่ชมพู่เพชรสุวรรณมีก้นผลกว้าง ขอบสีแดง เนื้อนิ่ม ไม่กรอบ ค่อนข้างบาง มีสีเขียวปนคล้ำ มีเส้นเอ็นสีแดงเห็นชัดเจน มีเมล็ด 1-3 เมล็ด มีรสจืด-หวาน และมีเปอร์เซ็นต์ความหวาน 6-11 องศาบริกซ์